xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แฉร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม สร้างกลลวงเอื้อระบบสัมปทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ของนายธีระชัย ภูมนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลังแฉ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับ “พลังงาน” เปิดให้เอกชนเลือกเสนอผลประโยชน์แก่รัฐในระบบสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิตก็ได้ โดยรัฐจะเลือกรูปแบบที่ให้ประโยชน์สูงสุด ชี้เป็นการเล่นกลเพื่อต่อสัมปทานให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมหรือไม่ เพราะทั้งสองระบบเอามาเปรียบเทียบผลประโยชน์กันไมได้ ยันถ้ายังใช้ระบบนี้ นำประชาชนยื่นร้องศาลปกครอง สตง.และผู้ตรวจการแน่ “ปานเทพ” ระบุเป็นวิธีการอำพรางรายได้เพื่อเป็นข้องอ้างเลือกระบบสัมปทาน

วันนี้ เมื่อเวลา 06.35 น. ในเฟซบุ๊กThirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูมนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความว่า เมื่อวานนี้มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลคนหนึ่งให้ข้อมูลผมว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานกำลังจะเปลี่ยนเป็นเปิดให้เอกชนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอสำหรับแต่ละแปลง โดยเอกชนแต่ละรายจะเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐเท่าไรก็ได้ โดยสามารถเสนอแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ ระหว่างสัญญาสัมปทาน กับสัญญาแบ่งปันผลผลิต แล้วผู้ใหญ่คนนั้นอ้างว่า กระทรวงพลังงานจะสามารถกำหนดสูตร เพื่อจะเปรียบเทียบระหว่างข้อเสนอรูปแบบต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด เป็นการอ้างว่าวิธีนี้ คือการประมูลแข่งขันกันแบบหนึ่ง

แนวคิดนี้แปลกมาก และไม่มีประเทศใดในโลกใช้มาก่อน แต่ไม่ถูกหลักวิชาการ เพราะเหตุใด ระบบสัมปทาน ปิโตรเลียมอยู่ในความควบคุมของเอกชน รัฐได้ค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ส่วนเพิ่มเป็นตัวเงิน เอกชนเป็นผู้ตัดสิน ว่าจะใช้ปิโตรเลียมทำอย่างไร จะขายให้ใคร เพียงแต่จ่ายเงินให้แก่รัฐตามอัตราที่กำหนด

ระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐได้ส่วนแบ่งเป็นปิโตรเลียม และส่วนแบ่งนี้ อยู่ในความควบคุมของรัฐ รัฐเป็นผู้ตัดสินว่าจะใช้ปิโตรเลียมทำอย่างไร (ก) อาจจะมอบให้หน่วยราชการบางส่วน หรือ (ข) อาจจะใช้เป็นยุทธปัจจัยบางส่วน หรือ (ค) อาจจะขายในตลาดทันที (spot) บางส่วน หรือ (ง) อาจจะทำสัญญาขายระยะยาวบางส่วน

ตัวเลขของทั้งสองระบบจะเปรียบเทียบกันล่วงหน้าไม่ได้ แต่จะสามารถเปรียบเทียบกันได้ เฉพาะย้อนหลัง ในระบบสัมปทาน จะรู้ว่ารัฐได้เงินจริงเท่าใดก็ต่อเมื่อเอกชนมีการขายปิโตรเลียมออกไปเรียบร้อยแล้วเท่านั้น จึงจะทราบว่าขายได้ในราคาขณะนั้นเท่าใด

ในระบบแบ่งปันผลผลิตก็เช่นกัน เนื่องจากทางเลือกของรัฐ (ก) ถึง (ง) นั้น ได้ตัวเลขราคาขายที่แตกต่างกัน ดังนั้น กว่าจะรู้ตัวเลขผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่รัฐ ก็ต้องมีการจำหน่ายจ่ายแจกเสร็จแล้วเช่นกัน และสมมติว่า ตัวเลขจากระบบแบ่งปันผผลิต เกิดต่ำกว่าตัวเลขจากระบบสัมปทาน ก็ไม่ได้หมายความอัตโนมัติว่าสัญญาแบ่งปันผลผลิตจะด้อยกว่าสัมปทาน เพราะวิธีการขาย (ก)-(ง) อาจทำให้ตัวเลขต่ำกว่า ทั้งที่ประเทศอาจจะได้ประโยชน์โดยรวมสูงกว่า

ดังนั้นจึงไม่เคยมีประเทศใดที่คัดเลือกเพื่อให้ธุรกิจแก่เอกชน โดยเปรียบเทียบข้ามสายพันธุ์อย่างนี้ ทำแบบนี้จะเป็นการเปรียบเทียบการนับจำนวนผลแอปเปิลกับการนับจำนวนผลกล้วย แล้วถามว่าอะไรจะให้ประโยชน์มากกว่ากัน

ถ้าหากรัฐบาลพยายามนำแนวคิดนี้มาใช้ ภาคประชาชนจะยื่นเรื่องไปที่ศาลปกครอง และจะต้องร้องเรียนให้ สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดินช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย จะมีการต่อสู้ในทุกเวที เพราะการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกหลักวิชาการ นอกจากจะไม่เป็นธรรมแก่เอกชนบางรายแล้ว ยังอาจทำให้การคัดเลือก มีการเปรียบเทียบปัจจัยที่ไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

“และแนวคิดนี้ ผมอ่านเลยไปด้วยว่า เป็นวิธีการที่จะแทรกขบวนการเพื่อให้สัมปทานแก่แปลงที่กำลังจะหมดอายุ โดยเฉพาะแปลงเอราวัณ/บงกช ซึ่งเดิมกฎหมายปิดช่อง ไม่สามารถต่อสัมปทานได้อีก แต่คราวนี้จะสามารถแทรกเข้ามา ด้วยการใช้ระบบเล่นกล อ้างว่ามีการประมูลหรือไม่ และแท้จริงเป็นการใช้หมอกควันและกระจกเงา ในการสร้างภาพลวงตาแก่ประชาชนหรือไม่”

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “คุณธีระชัยได้โพสต์เบาะแสล่าสุดจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล ว่าการผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่จะให้เอกชนยื่นข้อเสนออะไรก็ได้ระหว่างแบ่งปันผลผลิต กับสัมปทาน ทั้งๆ ที่มันไม่เหมือนกันตั้งแต่กรรมสิทธิ์ วิธีการอำพรางรายได้เพื่อหลบเลี่ยงค่าภาคหลวงในอนาคตเมื่อมีการผลิตจริง ฯลฯ การไม่แก้ไขสิ่งเหล่านี้จึงมีความโน้มเอียงเพื่อเป็นข้ออ้างในการเลือกระบบสัมปทาน จึงเป็นเทคนิคพลิกแพลงเพื่อใช้วิธีการ “เลียนแบบการประมูล” เพื่ออำพรางการใช้ดุลพินิจส่วนตัวภายหลังจากการยื่นเงื่อนไขของเอกชน ว่าจะเลือกใครก็ได้ อ้างเหตุผลไหนก็ได้ เพราะมันไม่ใช่การประมูลแข่งขันราคบนฐานเดียวกัน ต่างจากการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตรวมที่ภาคประชาชนเสนอ เปิดซองมา ใครให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดก็ได้รับสิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมไป

ที่จริงปัญหาสำคัญของการคิดค่าภาคหลวง เอกชนจะจ่ายให้รัฐจาก “รายได้ที่ขายได้” ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับ “ราคาที่จะขายในอนาคต” ด้วย ต่างจากระบบแบ่งปันผลผลิตที่คิดผลตอบแทนแก่รัฐจากปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ จึงไม่มีปัจจัยราคามาบิดเบือนผลตอบแทนแก่รัฐ เช่น ถ้าเอกชนที่ชนะการเปรียบเทียบเงื่อนไขด้วยระบบสัมปทานในตอนแรกด้วยการเพิ่มค่าภาคหลวงให้ แต่ต่อมาขายน้ำมันหรือก๊าซให้บริษัทลูกในราคาต่ำกว่าตลาดโลกมากๆ แม้ต่อให้ตอนแข่งขันราคาเสนอค่าผลตอบแทนรัฐสูงกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต แต่เวลาจริงผลตอบแทนแก่รัฐกลับต่ำกว่าความเป็นจริง และจะต่ำกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตด้วย วิธีนี้ผมจึงเชื่อว่าเขาตั้งธงเดินเกมจะเลือกสัมปทาน โดยเอาระบบแบ่งปันผลผลิตมาอำพรางเท่านั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น