xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ฉะพลังงานโกหก ยื่นทบทวน2กม.ปิโตรเลียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คปพ. ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ทบทวนมติ ครม. 4 สิงหาฯ 58 ที่เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ แล้วให้นำมาจัดทำใหม่ ชี้กระทรวงพลังงานอ้างข้อมูลเท็จ ไม่ฟังเสียงคัดค้านที่มีเหตุผลของภาคประชาชน ไม่ฟังผลการศึกษาของกรรมาธิการ สนช. และไม่รับฟังผลการรับความความเห็นจากประชาชนโดยกรรมาธิการของ สปช. ทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดในข้อมูล จนนำไปสู่การลงมติเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวานนี้ (19 ส.ค.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้เป็นตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2558 ที่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านการแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายปานเทพกล่าวว่า คปพ. ขอให้นายกฯ สั่งการให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2558 ที่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ของกระทรวงพลังงานที่ผ่านการแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อมาจัดทำใหม่ ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมติ ครม.ดังกล่าว ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลของกระทรวงพลังงานอันเป็นเท็จ เพราะนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการครม. ลงวันที่ 3 ส.ค. ว่า ประเด็นข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือเครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทยนั้น กระทรวงพลังงานได้เคยชี้แจงจนได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นการปฏิบัติที่มิชอบด้วยหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หลงเชื่อและนำไปสู่การมีมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ คำชี้แจงของกระทรวงพลังงานที่กล่าวอ้างว่าได้ชี้แจง คปพ.จนได้ข้อยุติแล้วนั้น คปพ. ขอเรียนว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เคยทำคำชี้แจงถึง คปพ.ตามหนังสือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ด่วนที่สุด เลขที่ พน 0302/3353 ลงวันที่ 20 ก.ค.2558 ซึ่งเป็นเพียงการส่งหนังสือให้ทราบถึงข้อความการแถลงข่าวของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2558 โดยไม่มีข้อความใดๆ ที่ชี้แจงประเด็นอันเป็นสาระสำคัญของ คปพ. ที่ได้ตั้งคำถามและตั้งข้อสังเกตไว้จำนวนมาก แต่กลับเป็นการถามอย่างและตอบอย่างซึ่งไม่ตรงประเด็น ยิ่งไปกว่านั้น คปพ. ได้ทำการคัดค้านการแก้ไขร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานทั้งสองฉบับมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ไม่เคยยอมรับการชี้แจงของกระทรวงพลังงานแต่ประการใด และกระทรวงพลังงานก็ไม่เคยตอบคำถามที่ คปพ.ได้ตั้งคำถามและประเด็นต่างๆ ไว้ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2558 เลย และไม่เคยตอบหรือโต้แย้งอย่างมีเหตุผลต่อร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

ประเด็นต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2558 ว่า ที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี และ คสช. ได้มีการหารือถึงปัญหาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยได้ข้อยุติว่าควรแก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งต่อมาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ดำเนินการตามความเห็นดังกล่าว โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ในการประชุม สนช.วันที่ 12 ก.พ.2558 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ทำการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจนแล้วเสร็จ และมีข้อสรุปถึงข้อบกพร่องและข้อที่ควรแก้ไข ในกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นจำนวนมากกว่า 25 ประเด็น แต่ปรากฏว่าร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับของกระทรวงพลังงานได้ทำการเสนอเป็นวาระจรชิงตัดหน้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2558 ก่อนผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าวจะแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนาและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเชิงประเด็น เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2558 ที่โรงแรมเอเชีย ในหัวข้อเรื่องปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งผู้แทน คปพ. ได้ขึ้นเวทีสัมมนาดังกล่าว และได้ชี้แจงเปรียบเทียบร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการปิโตรเลียม กับร่างแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงาน พบว่าร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานยังมีข้อบกพร่องที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขไม่น้อยกว่า 40 ประเด็น ยิ่งแสดงให้เห็นว่า คปพ.ไม่ได้มีข้อยุติและไม่เคยเห็นชอบกับร่างแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานเลย

จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีมติเห็นชอบแผนโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2558 ทำให้ได้รับทราบข้อมูลว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าดังกล่าว มีกำลังการผลิตเกินกว่าที่พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดและเกินกว่ากำลังผลิตสำรองมาตรฐานสากลไปอย่างมาก ทั้งๆ ที่กำลังผลิตสำรองมาตรฐานสากลควรจะมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกินร้อยละ 18 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ โดยใช้ข้ออ้างว่า ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติพลังงานเพราะขาดไฟฟ้าอีกต่อไป

พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า กระทรวงพลังงานกระทำการขัดต่อหลักจริยธรรมทางการบริหาร ลุแก่อำนาจ เพราะไม่ฟังเสียงคัดค้านอย่างมีหลักฐานและมีเหตุผลของภาคประชาชน ไม่เคารพและไม่จริงใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่รับฟังผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ของ สนช. ไม่ฟังเสียงผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แอบอ้างข้อมูลเท็จในการเสนอกฎหมายเพื่อขอความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนคำสั่งของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ส่งผลทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดในข้อมูล หรืออาจตกเป็นจำเลยร่วมกับกระทรวงพลังงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในครั้งนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น