ในรายการ “เดินหน้าปฏิรูป” ฝ่ายหนุน 3 ราย ยืนกรานจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่เพราะมีโรงไฟฟ้าเก่าอยู่แล้ว และถ่านหินต้นทุนต่ำหากไม่ใช้ค่าไฟจะแพง ยันเทคโนโลยีทันสมัยไร้ปัญหามลพิษ ด้าน “ปานเทพ” เปิดหลักฐานกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่มาก หากไม่ใช้ถ่านหิน-นิวเคลียร์ก็ยังพอ พร้อมย้ำต้องปฏิรูปกฎหมายพลังงานก่อนเปิดสัมปทานรอบใหม่ เผยช่วงหมดอายุสัมปทานแหล่งบงกช-เอราวัณ กำลังผลิตไฟฟ้าลดแต่ก็ยังเกินสำรอง
วานนี้ (10 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ในรายการ “เดินหน้าปฏิรูป” ได้เชิญนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายวิบูลย์ คูหิรัญ ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ร่วมสนทนาในหัวข้อ “ปฏิรูปพลังงาน...ประชาชนได้อะไร” ออกอากาศทางช่อง 11 ช่อง 5 และนิวส์วัน
โดยนายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ที่เคยเกิดขึ้น กำลังการที่ผลิตที่ขนอมกับจะนะมีเพียงพอต่อความต้องการ แต่สายส่งบางส่วนไม่พอ ต้องส่งจากกรุงเทพฯ บางคนบอกว่าภาคใต้ไม่ต้องผลิตเพิ่มแค่ส่งจากกรุงเทพฯ ก็ได้ แต่อย่าลืมว่าการส่งไประยะไกลเกิดการสูญเสียเยอะ เมื่อกระแสไฟวิ่งตามท่อไม่เต็ม วิ่งมากก็ร้อน เกิดปัญหาไฟขาด เลยต้องการทำโรงไฟฟ้าที่กระบี่ เพื่อให้เป็นสามขาคือที่จะนะ ขนอม และกระบี่ แล้วที่เลือกกระบี่เพราะมีโรงไฟฟ้าเก่าอยู่แล้ว แต่ของเก่ากระแสไฟฟ้าต่ำ แล้วที่ต้องเป็นถ่านหินเนื่องจากให้ความมั่นคงทางไฟฟ้ามากกว่า เพราะการสต๊อกถ่านหินเก็บได้ที 6 เดือน รีรันได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากใช้แก๊สต้องทำถังเก็บมากมายมหาศาล ซึ่งถ่านหินราคาถูกสุด ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องทำที่กระบี่ แต่คนต่อต้านมากเพราะจากกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่อย่าลืมเมื่อก่อนเทคโนโลยีไม่ทันสมัย แต่ ปัจจุบันทำระบบเก็บกักซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มลพิษลดน้อยลงมาก ฝุ่นที่เกิดจากการเผาหญ้าที่ภาคเหนือยังมีผลกระทบมากกว่า แล้วที่จะทำที่กระบี่ได้นำเอาเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมา ซัลเฟอร์ไดออกไซต์มีน้อยมาก
นายปานเทพกล่าวแย้งว่า เทคโนโลยีลดมลพิษได้ คือ ลดให้น้อยสุดเท่าที่ทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่อันตราย เมื่อสะสมมากขึ้นตามกาลเวลา โรงงานนั้นผ่านแต่รวมทั้งประเทศอาจไม่ผ่านก็ได้ รัฐบาลกลัวว่าเราจะขาดพลังงาน กลัวไฟดับ จากกรณีที่แหล่งบงกชกับเอราวัณกำลังจะหมดสัมปทาน เลยต้องหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม แต่เป็นไปได้ไหรือไม่ว่า หากปฏิรูปพลังงานด้วยการหยุดใช้พลังงานถ่านหินเพิ่มเติม ปฏิเสธพลังงานนิวเคลียร์ ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนก๊าซ ถ้าทำได้ก็ลดความเสี่ยงเรื่องความไม่มั่นคงประเทศ และลดความไม่ไว้ใจของประชาชนได้
ทั้งนี้ ตนได้หนังสือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 ของกระทรวงพลังงาน พบว่ากำลังการผลิตสูงขึ้นเกินสำรองเยอะถึง 42-63 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตามเกณฑ์เกินสำรองแค่ 15 เปอรเซ็นต์ก็พอ ผลคือต้องมีโรงไฟฟ้ามากเกินจำเป็น มลพิษมากขึ้น ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟมากขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินจำเป็น
นายปานเทพกล่าวต่ออีกว่า ตนได้เอาข้อมูลจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน มาลบเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ ที่วางแผนเอาไว้ตลอด 20 ปี กำลังการผลิตสำรองก็ยังเกิน 26-59 เปอร์เซ็นต์ และลองลบไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศบ้าง ปรากฏว่าตลอด 19 ปีเราไม่ขาดก๊าซเลย สูงกว่าปริมาณสำรองขั้นต่ำ 15 เปอร์เซ็นต์ด้วย ยกเว้น 2 ปีสุดท้าย คือปีที่ 20-21 ที่ขาดนิดหน่อย คือมีสำรองสูงไม่มากพอตามเกณฑ์ 15 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะเพิ่มพลังงานทางเลือกให้พอ 2 ปีสุดท้าย เพิ่มเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง และที่รัฐบาลกลัวสุด คือ แหล่งบงกช และเอราวัณ ช่วงหมดสัมปทานคือปี 2565-2566 ซึ่งถ้าเราเอาปิโตรเลียม 2 แหล่งนี้มาให้รัฐทำเอง พลังงานก็จะขาดช่วงหนึ่งเพราะต้องใช้เวลากว่าจะผลิตจริงได้ ตนให้เวลา 4 ปี คือ 2565-2568 ปรากฏว่าแม้กำลังผลิตไฟฟ้าลดลงแต่ก็ยังเกินสำรองขั้นต่ำ 15 เปอร์เซ็นต์
ส่วนกรณีภาคใต้ ดูข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ โรงไฟฟ้าถ่านหินเราสามารถมีกำลังทดแทนได้ สมมติว่าปิดโรงไฟฟ้าที่ใหญ่สุดของภาคใต้ที่จะนะ ก็ยังเหลือกำลังสำรอง 31.9 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งการศึกษาของอนุกรรมการวุฒิสภาพบว่าเหตุการณ์ไฟดับทั้งภาคใต้ที่เคยเกิดขึ้น เกิดจากฟ้าผ่าสายส่ง 500 กิโลโวลต์ วงจรที่ 1 ที่บ้านลาดเพชรบุรี ขณะที่สายส่งวงจร 2 ปิดซ่อม ซึ่งโอกาสอย่างนี้ไม่ใช้เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นอีก
ดร.ทองฉัตรกล่าวแย้งว่า ที่ข้อมูลการผลิตไฟฟ้าที่นายปานเทพเอามา เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น เป็นเรื่องอนาคต 20 ปี ไม่มีใครการันตีได้ว่าจะเป็นไปตามนี้ เพราะหากเศรษฐกิจดีขึ้นความต้องการไฟฟ้าก็จะขึ้นสูงกว่านี้ การที่มีพลังงานไฟฟ้าสำรองจึงสำคัญ เราเคยมีประสบการณ์ไฟฟ้าเกือบไม่พอใช้มาแล้ว เพราะการใช้เพิ่มขึ้นมาก แล้วก็ไม่เป็นธรรมที่เอาข้อมูลเดิมมาพูดในฐานะปัจจุบัน
นายวิบูลย์กล่าวเสริมว่า ที่นายปานเทพพูดถึงเป็นแผนรวมทั้งประเทศ กำลังสำรองพอ แต่ปัญหาอยู่ที่ภาคใต้ ถ้ามีปัญหาก็จะดับหมดเลย โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงจำเป็น และถ้าไม่ใช้ถ่านหินค่าไฟจะสูง ส่วนเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมไม่มีปัญหา ตอนนี้คุมได้หมดแล้ว ห่วงเรื่องแก๊ซเรือนกระจกมากกว่า แต่เราก็ควบคุมได้ต่ำกว่ามาตรฐานโลกด้วยซ้ำ
ส่วนกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นายทองฉัตรกล่าวว่า สามารถใช้ได้ทั้ง 3 ระบบ ทั้งสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต และรับจ้างผลิต ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับผู้ประกอบการ ทุกระบบมีได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน
นายปานเทพกล่าวว่า นายกฯ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผลการศึกษาออกมาได้เอกสารหนามาก ว่าต้องให้แก้กฎหมายอะไรบ้าง ซึ่งดีมาก ปรากฏว่าเสนอไปที่รัฐบาล กระทรวงพลังงานร่าง พ.ร.บ.ตัวเองไม่สอดคล้องข้อเสนอของคณะกรรมการเลย แล้วเราจะหาความจริงใจได้อย่างไร
ภาคประชาชนไม่ใช่ไม่สนใจการผลิตไฟฟ้า รู้ว่าต้องเพิ่มขึ้น แต่จากข้อมูลเปอร์เซ็นต์การจัดหาก๊าซของประเทศไทย การผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 58.8 เปอร์เซ็นต์ ปิโตรเคมี 20.2 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าสร้างความมั่นคงได้โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานถ่านหิน และหากจะแก้ปัญหาปิโตรเลียม ไม่ใช่แก้ที่ต้นทาง แต่ต้องแก้ทั้งระบบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อรัฐ และประชาชนสูงสุด