“มนูญ” ค้านผุด “บรรษัทพลังงาน” หวั่นผูกขาด การบริหารด้อยประสิทธิภาพ ชี้ไม่เชื่อใจภาคประชาชนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการว่าดีพอ เสนอไปแก้ที่ระบบการตรวจสอบดีกว่า ด้าน “ปานเทพ” ยันจะทำให้เกิดการแข่งขันเสรี - โปร่งใสยิ่งกว่าเดิม ย้ำรัฐถือหุ้น 100% พลังงานจะถูก - แพง ผลประโยชน์ก็ยังเข้ารัฐ ดีกว่าให้เอกชนทำแน่นอน
วันนี้ (9 ก.ค.) เมื่อเวลา 20.30 น. รายการ “เถียงให้รู้เรื่อง” ตอน “บรรษัทพลังงาน” เพื่อชาติ หรือ เพื่อใคร ? ออกอากาศทางไทยพีบีเอส ได้เชิญ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย นายมนูญ ศิริวรรณ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน มาถกเถียงในประเด็นดังกล่าว พร้อมเชิญ ศ.พรายพล คุ้มทรัพย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศษสตร์ นักวิชาการ 2 ท่านมาให้ความเห็นในประเด็นนี้
โดย นายมนูญ กล่าวว่า ปิโตรเลียมเป็นของรัฐตลอดเวลาอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทาน หรือแบ่งปันผลผลิต ถ้าใช้ระบบสัมปทานไม่จำเป็นต้องมีบรรษัทพลังงาน แต่ถ้าเป็นแบ่งปันผลลิตจำเป็นต้องมีบรรษัทพลังงาน ถ้าข้อเสนอของ คปพ. ให้บรรษัทพลังงานเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง หรือเป็นตัวแทนรัฐบาลร่วมกับเอกชนในการบริหารพลังงานอันนี้ปกติ แต่ถ้ารับสิทธิผูกขาด 100% อันนี้สงสัยเป็นการผูกขาดหรือเปล่า ซึ่งตนไม่เห็นด้วย อีกทั้งการตั้งองค์กรให้เป็นหน่วยงานรัฐ การบริหารจะมีประสิทธืภาพมากน้อยแค่ไหน ที่ตนห่วงมากที่สุดคือการผูกขาด ประสิทธิภาพในการบริหาร การตรวจสอบ ถ้ารัฐถือหุ้น 100% การแทรกแซงจากภาครัฐทำให้การบริหารขาดประสิทธิภาพหรือเปล่า
นายปานเทพ กล่าวแย้งว่า ปิโตรเลียมมีระบบท่อซึ่งเป็นการผูกขาดโดยปริยายอยู่แล้ว แต่เราจำเป็นต้องมีองค์กรเข้าไปจัดสรรให้เกิดความเป็นธรรม ถ้าปล่อยเอกชนดำเนินการ รัฐกับประชาชนจะเสียเปรียบ ส่วนที่ห่วงเรื่องความไม่โปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพ เราจึงแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนของรัฐ ไม่โปร่งใสยังไงก็ยังมีการตรวจสอบ ทั้งทางสภา ป.ป.ช. สตง. ฯลฯ ไม่ต่างจากองค์กรรัฐทั่วไป และส่วนของภาคประชาชน ที่จะร่วมทำให้เกิดการตรวจสอบอีกขั้น และ คปพ.ยังเสนอให้มีการตรวจสอบตลอดเวลา ประชาชนรับรู้ได้ตลอด และกำหนดว่าคนมานั่งเป็นคณะกรรมการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
นายมนูญ กล่าวโต้ว่า ก๊าซผูกขาดในเรื่องการจัดส่งเพราะส่งทางท่อ แต่น้ำมันไม่ผูกขาดเพราะไม่ได้ส่งทางท่อ และการสำรวจไม่มีการผูกขาด รัฐเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาได้ โดยรัฐถือกรรมสิทธิ์เจ้าของอยู่แล้ว แต่นี่เราจะยกให้บรรษัทถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐบาล มีอำนาจผูกขาดเจ้าเดียว แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าภาคประชาชนที่เลือกเข้ามา 10 คน จะมีความรู้ ความเข้าใจ และไว้ใจได้ทั้ง 10 คนหรือเปล่า ในเมื่อไม่ไว้ใจราชการตนก็มีสิทธิไม่ไว้ใจภาคประชาชนได้เช่นกัน ตนเชื่อว่าการตรวจสอบที่ดีไม่ว่าจะภาคประชาชน หรือราชการ ระบบการตรวจสอบสำคัญที่สุด แก้ตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพจะดีกว่า แล้วที่บอกว่าราคาพลังงานจะถูกลง ทุกวันนี้รัฐจะขายให้ถูกก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องมีบรรษัทหรือเป็นแบบแบ่งปันผลผลิตเลย แค่เอาค่าภาคหลวงที่เปิดสัมปทานมาลดให้ประชาชน อีกทั้งการตั้งบรรษัทพลังงานต้องมีการลงทุนถึงหมื่นล้านบาท
นายปานเทพ กล่าวเสริมว่า การตั้งบรรษัทพลังงานไม่ใช่การผูกขาด เพราะเราเสนอให้ทุกแปลงต้องมีการประมูลแข่งขัน ทำให้เกิดการแข่งขันเสรียิ่งกว่าเดิมเสียอีก แล้วที่ว่าต้องใช้งบหมื่นล้าน ไม่มีปัญหาเพราะกองทุนน้ำมันทุกวันนี้มีกำไร 4 - 5 หมื่นล้านอยู่แล้ว เรื่องประสิทธิภาพ คปพ. ก็เป็นห่วงเช่นกัน จึงเสนอว่าต้องตรากฎหมายป้องกันไว้เลยว่าอะไรให้ทำ อะไรไม่ให้ทำ นอกจากคณะกรรมการปิโตรเลียม ยังมีคณะกรรมการอีกชั้นหนึ่ง โดยจะสรรหาจากมืออาชีพ
นายมนูญ กล่าวย้ำว่า ตนไม่ขัดแย้งในการตั้งบรรษัทพลังงาน แต่ให้ระวังเรื่องสิทธิผูกขาด ซึ่งสุ่มเสี่ยงและอาจมีปัญหาได้ในอนาคต เราอาจเห็นการตั้งหน่วยงานใหม่เพราะไม่เชื่อใจหน่วยงานที่ทำอยู่ ทำให้ต้องตั้งใหม่อยู่เรื่อยหรือเปล่า ไปแก้ที่ระบบการตรวจสอบให้ดีขึ้นดีกว่า
นายปานเทพ กล่าวปิดท้ายว่า ตนไม่ได้ต้องการให้รัฐขายพลังงานในราคาถูกที่สุด แต่เมื่อรัฐถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ หากลดราคา ประชาชนก็ได้ประโยชน์ หรือหากขึ้นราคาก็มั่นใจได้ว่ากำไรจะเข้ารัฐ ดีกว่าให้เอกชนทำ
“กรณีที่เกิดขึ้นในการอุ้มราคาน้ำมันที่มาเลเซีย คือ ปิโตรนาสลดกำไรตัวเอง แต่เชื่อหรือไม่ ผลประกอบการดีกว่า ปตท. ไว้ใจข้าราชการหรือเปล่า ผมเชื่อว่า ข้าราชการมีจิตสำนึกของความเป็นมืออาชีพ แต่ระบบที่มีอยู่ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจ ข้าราชการที่มีอำนาจกำกับดูแลราคาพลังงานกลับไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่ได้ผลตอบแทนจากราคาที่สูงขึ้น เป็นไปได้ไงที่เราบอกว่าไว้ใจข้าราชการจากระบบเดิม ถ้าบอกว่ารัฐถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ รัฐจะแทรก เราก็มีวิธีจัดการโครงสร้างผู้บริหารว่าเป็นใคร เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีมืออาชีพส่วนนึง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องรู้เรื่องเพื่อนำไปสู่การแสวงหากำไรสูงสุด เพราะปิโตรเลียมเมื่อเป็นของปวงชนชาวไทย มีอีกหลายมิติที่ต้องคิด ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สุขภาวะประชาชน ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะทำให้เกิดความสมดุล สุดท้ายผมไม่ปรารถนาว่าราคาต้องถูกสุด แต่เชื่อว่าถ้ารัฐถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ มันตอบโจทย์ได้ ถ้ารัฐอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดราคา ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ถ้าอยากขึ้นราคา เราก็มั่นใจได้ว่าผลที่ได้มาตกสู่แก่รัฐ ได้งบมาพัฒนาประเทศ ไม่ว่าทางไหนการที่รัฐถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าให้เอกชนถือหุ้นเพื่อไปแสวงหากำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้” นายปานเทพ กล่าวสรุปปิดท้าย
ด้าน ศ.พรายพล ให้ความเห็นว่า ต้องระวัง ถ้าให้อำนาจการผูกขาดบรรษัทพลังงานนาน ๆ หรือถาวร จะไม่เกิดการแข่งขัน และจะไม่มีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเพราะไม่มีการพัฒนา การกีดกันเอกชนซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐออกไป จะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ด้อยลง แต่การมีบรรษัทพลังงานเพิ่มส่วนแบ่งให้รัฐได้แน่นอน แต่ก็ต้องระวังพอกำไรเยอะๆ นักการเมืองก็แทรกแซง เป็นบ่อเกิดการทุจริต อีกทั้งต้องระวังเรื่องการอุดหนุนราคาแก๊ซและน้ำมันมากเกินไป อย่างเช่นที่มาเลเซีย ตอนนี้รัฐบาลและบรรษัทน้ำมันของมาเลเซียเกิดภาวะกรอบ
ขณะที่ อาจารย์เดชรัตน์ กล่าวว่า ข้อดีที่ที่ถกเถียงกันมาตลอด ทำให้ตอนนี้ตกผลึกแล้วว่าประเทศไทยใช้ได้ทั้ง 3 แบบ คือแบ่งปันผลผลิต สัมปทาน และจ้างผลิต โดยดูความเหมาะสมในแต่ละกรณี และเมื่อใช้แบ่งปันผลผลิตก็ต้องมีองค์กรหนึ่งขึ้นมาจัดการ แต่พอดีใช้ชื่อว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติ คนเลยกังวลเรื่องการผูกขาด แต่จริง ๆ แค่ทำหน้าที่แทนรัฐ จัดการการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่อง 3 ระบบ ตนก็อยากเห็นบรรษัทฯทำหน้าที่ให้เห็นว่าการใช้แบบไหนให้ประโยชน์มากสุด สิ่งเหล่านี้อาจต้องระบุไว้ก่อนตั้งบรรษัทฯ นอกจากนี้ ตนอยากให้ทำในสิ่งที่ดำเนินการเลย เช่น กรณีข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแลราคาพลังงาน กลับไปเป็นกรรมการในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่นเดียวกับเรื่องสัมปทาน บางกรณีก็รับเป็นผลผลิตมาจะดีกว่า ก็ลองทำได้เลย จะได้รู้ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้