xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ยื่นนายกฯ ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉะ “พลังงาน” ให้ข้อมูลเท็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ (แฟ้มภาพ)
คปพ.ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ทบทวนมติ ครม. 4 สิงหาฯ 58 ที่เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ระบุกระทรวงพลังงานอ้างข้อมูลเท็จ ไม่ฟังเสียงคัดค้านที่มีเหตุผลของภาคประชาชน ไม่ฟังผลการศึกษาของกรรมาธิการ สนช. และไม่รับฟังผลการรับความความเห็นจากประชาชนโดยกรรมาธิการของ สปช. ทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดในข้อมูล



เช้าวันนี้ (19 ส.ค.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้เป็นตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ที่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงานที่ผ่านการแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ คปพ.เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานข้อมูลของกระทรวงพลังงานที่เป็นเท็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือกระทรวงพลังงาน เลขที่ พน 0307/444 ลวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ที่อ้างข้อความตอนหนึ่งว่า ประเด็นข้อร้องเรียนเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้เห็นต่างหรือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยนั้น กระทรวงพลังงานได้เคยชี้แจงจนได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นการปฏิบัติที่มิชอบด้วยหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หลงเชื่อและนำไปสู่การมีมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

หนังสือ คปพ.ระบุว่า คำชี้แจงของกระทรวงพลังงานที่กล่าวอ้างว่าได้ชี้แจง คปพ.จนได้ข้อยุติแล้วนั้น ขอเรียนว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เคยทำคำชี้แจงถึง คปพ.ตามหนังสือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ด่วนที่สุด เลขที่ พน 0302/3353 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นเพียงการส่งหนังสือให้ทราบถึงข้อความการแถลงข่าวของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 โดยไม่มีข้อความใดๆ ที่ชี้แจงประเด็นอันเป็นสาระสำคัญของ คปพ. ที่ได้ตั้งคำถามและตั้งข้อสังเกตไว้จำนวนมาก แต่กลับเป็นการถามอย่างและตอบอย่างซึ่งไม่ตรงประเด็น

ยิ่งไปกว่านั้น คปพ.ได้ทำการคัดค้านการแก้ไขร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานทั้งสองฉบับมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ไม่เคยยอมรับการชี้แจงของกระทรวงพลังงานแต่ประการใด นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานก็ไม่เคยตอบคำถามที่ คปพ.ได้ตั้งคำถามและประเด็นต่างๆ ไว้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 เลย และไม่เคยตอบหรือโต้แย้งอย่างมีเหตุผลต่อร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับโดย

ประเด็นต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า ที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและ คสช.ได้มีการหารือถึงปัญหาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยได้ข้อยุติว่าควรแก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งต่อมาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ดำเนินการตามความเห็นดังกล่าว โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ในการประชุม สนช.วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ทำการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจนแล้วเสร็จ และมีข้อสรุปถึงข้อบกพร่องและข้อที่ควรแก้ไข ในกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นจำนวนมากกว่า 25 ประเด็น แต่ปรากฏว่าร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับของกระทรวงพลังงานได้ทำการเสนอเป็นวาระจรชิงตัดหน้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ก่อนผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าวจะแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนาและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเชิงประเด็น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2558 ที่โรงแรมเอเชีย ในหัวข้อเรื่องปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งผู้แทน คปพ.ได้ขึ้นเวทีสัมมนาดังกล่าว และได้ชี้แจงเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม กับร่างแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงาน พบว่าร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานยังมีข้อบกพร่องที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขไม่น้อยกว่า 40 ประเด็น ยิ่งแสดงให้เห็นว่า คปพ.ไม่ได้มีข้อยุติและไม่เคยเห็นชอบกับร่างแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานเลย

จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีมติเห็นชอบแผนโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ทำให้ได้รับทราบข้อมูลว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าดังกล่าวมีกำลังการผลิตเกินกว่าที่พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดและเกินกว่ากำลังผลิตสำรองมาตรฐานสากลไปอย่างมาก ทั้งๆ ที่กำลังผลิตสำรองมาตรฐานสากลควรจะมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกินร้อยละ 18 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ โดยใช้ข้ออ้างว่า ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติพลังงานเพราะขาดไฟฟ้าอีกต่อไป

พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า กระทรวงพลังงานกระทำการขัดต่อหลักจริยธรรมทางการบริหาร ลุแก่อำนาจ เพราะไม่ฟังเสียงคัดค้านอย่างมีหลักฐานและมีเหตุผลของภาคประชาชน ไม่เคารพและไม่จริงใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่รับฟังผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ของ สนช. ไม่ฟังเสียงผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แอบอ้างข้อมูลเท็จในการเสนอกฎหมายเพื่อขอความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนคำสั่งของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ส่งผลทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดในข้อมูล หรืออาจตกเป็นจำเลยร่วมกับกระทรวงพลังงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในครั้งนี้ได้

จึงขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ที่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงานที่ผ่านการแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อมาจัดทำใหม่ ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

รายละเอียด หนังสือ คปพ.ถึงนายกรัฐมนตรี

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
๑๐๒/๑ บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์
แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร
กรุงเทพ ๑๐๒๐๐

ที่ คปพ. ๐๒๖/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

เรื่อง ขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ที่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ของกระทรวงพลังงานที่ผ่านการแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา

กราบเรียนฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ผ่านหม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อ้างถึง หนังสือนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล) เรียน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เรื่องขอให้ถอนร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ที่ นร ๐๔๐๕(ลต.๑)/๖๐๕ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

สิ่งที่ส่งมาด้วย๑. หนังสือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ถึง เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ด่วนที่สุด เลขที่ พน ๐๓๐๒/๓๓๕๓ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

๒. แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ฉบับที่ ๔/๒๕๕๘ เรื่องหยุดยั้งร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
๓. ผลสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนาและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเชิงประเด็น เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่โรงแรมเอเชีย ในหัวข้อ เรื่องปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๕/ว ๒๓๘ ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ความว่า

“ให้กระทรวงพลังงานจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมของต่างประเทศ ตลอดจนพิจารณาแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ และแนวทางการบริหารจัดการสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ นั้น เพื่อมิให้การดำเนินการเกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยเกิดข้อขัดแย้งและสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม และประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป ให้รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร เทวกุล) และกระทรวงพลังงานทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้เชิญคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกลุ่มผู้มีความเห็นต่าง ร่วมรับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ตลอดจนให้ศึกษาประเด็นข้อร้องเรียนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยด้วย

ต่อมา นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล) ได้มีหนังสือถึง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ (ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย) เรื่องขอให้ถอนร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม(ฉบับที่..)พ.ศ.... ที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ที่ นร ๐๔๐๕(ลต.๑)/๖๐๕ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามอ้างถึงนั้น ได้แจ้งว่า

“สำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำเรื่องดังกล่าวเรียนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดา ดิศกุล) พิจารณาแล้ว เห็นควรส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดยลงมติให้ทุกกระทรวงรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาร่างกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบที่อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี หรือการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยังมีประเด็นข้อขัดแย้งหรือข้อถกเถียงในสังคมที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เช่น กฎหมายพลังงาน กฎหมายยาสูบ กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายประมง เป็นต้น โดยให้พิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในการตรากฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และ Road Map ของ คสช. ตลอดจนช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งคณะทำงานรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว”

ภายหลังจากที่สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือแจ้งตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ให้ทราบตามความข้างต้นแล้วเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่อีก ๑ วันต่อมา ในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะรัฐมนตรีกลับมีการประชุมและลงมติว่า

เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... รวม ๒ ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยให้รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว รวมทั้งคำอธิบายและคำชี้แจงของกระทรวงพลังงานไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ได้ข้อสรุปก่อนเสนอคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้น ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลของกระทรวงพลังงานที่เป็นเท็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือกระทรวงพลังงาน เลขที่ พน ๐๓๐๗/๔๔๔ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ โดยอ้างความตอนหนึ่งว่า

“...อนึ่งประเด็นข้อร้องเรียนเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้เห็นต่างหรือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยนั้น กระทรวงพลังงานได้เคยชี้แจงจนได้ข้อยุติแล้ว ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร เทวกุล) ได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งด้วยแล้วเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ถึงความจำเป็นและเร่งด่วนของพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ เพื่อรองรับการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย...”

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่าการอ้างข้อความว่า กระทรวงพลังงานได้เคยชี้แจงจนได้ข้อยุติแล้ว นั้น เป็นข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นการปฏิบัติที่มิชอบด้วยหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หลงเชื่อและนำไปสู่การมีมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงขอเรียนชี้แจงถึงข้อเท็จจริง ดังนี้

คำชี้แจงของกระทรวงพลังงานที่กล่าวอ้างว่าได้ชี้แจงเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) จนได้ข้อยุติแล้วนั้น ขอเรียนว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เคยทำคำชี้แจงถึงเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ตามหนังสือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ด่วนที่สุด เลขที่ พน ๐๓๐๒/๓๓๕๓ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ (ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑) เมื่อตรวจสอบเนื้อหาแล้วปรากฏความจริงว่า เป็นคำชี้แจงเดียวกับการแถลงข่าวของนางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และเผยแพร่ในเวปไซต์ของกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ อันมีเนื้อหาซ้ำกัน ซึ่งเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้แถลงข่าวไม่เห็นด้วยไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ โดยคัดค้านและขอให้หยุดยั้งร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน เป็นที่รับรู้ปรากฏในสาธารณะอย่างชัดเจน เพราะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม NEWS1 และสื่อมวลชนอื่นๆ ก็ได้ร่วมทำข่าวเป็นจำนวนมาก ที่โรงแรมเอเชีย (ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒)

ดังนั้นการทำหนังสือของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ จึงเป็นเพียงการส่งหนังสือให้ทราบถึงข้อความการแถลงข่าวของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เท่านั้น โดยไม่มีข้อความใดๆ ที่ชี้แจงประเด็นอันเป็นสาระสำคัญของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่ได้ตั้งคำถามและตั้งข้อสังเกตไว้จำนวนมาก แต่กลับเป็นการถามอย่างและตอบอย่างซึ่งไม่ตรงประเด็น ยิ่งไปกว่านั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ทำการคัดค้านการแก้ไขร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานทั้งสองฉบับมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ไม่เคยยอมรับการชี้แจงของกระทรวงพลังงานแต่ประการใด นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานก็ไม่เคยตอบคำถามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ตั้งคำถามและประเด็นต่างๆ ไว้ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เลย และไม่เคยตอบหรือโต้แย้งอย่างมีเหตุผลต่อร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับโดย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) กรณีจึงไม่เป็นที่ยุติตามข้อความที่กระทรวงพลังงานกล่าวอ้างต่อนายกรัฐมนตรีว่า กระทรวงพลังงานได้เคยชี้แจงจนได้ข้อยุติแล้ว แต่อย่างใด ดังนั้นการกล่าวอ้างของกระทรวงพลังงานจึงเป็นการรายงานเท็จต่อนายกรัฐมนตรี

ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘ ว่า “ที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการหารือถึงปัญหาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ ๒๑ โดยได้ข้อยุติว่าควรแก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อน…” ซึ่งต่อมาที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ดำเนินการตามความเห็นดังกล่าว โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ ได้ทำการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจนแล้วเสร็จ และมีข้อสรุปถึงข้อบกพร่องและข้อที่ควรแก้ไข ในกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นจำนวนมากกว่า ๒๕ ประเด็น แต่ปรากฏว่าร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับของกระทรวงพลังงานได้ทำการเสนอเป็นวาระจรชิงตัดหน้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ก่อนผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าวจะแล้วเสร็จ ซึ่งกระทรวงพลังงานย่อมทราบอยู่แล้วว่าต้องรอผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าวเสียก่อนจึงจะจัดทำร่างกฎหมายได้ แต่กลับเร่งรีบทำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากลและไม่สุจริตจริงใจในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชน แม้จะผ่านการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็มีการแก้ไขร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเพียงแค่ประเด็นเดียว คือการเพิ่มทางเลือกในการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งนอกจากยังไม่ได้แก้ไขครบทุกประเด็นแล้ว ประเด็นที่มีการแก้ไขก็ไม่เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าวอยู่ดี

กระทรวงพลังงานจึงควรนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าวทุกประเด็นไปศึกษาและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ครบประเด็น และให้เป็นไปตามผลการศึกษาดังกล่าวเสียก่อน จึงจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนในการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้การเสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับของกระทรวงพลังงานจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการขัดคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้มีการถอนร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับออกไปจนกว่าจะมีการนำประเด็นและผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มาบรรจุในร่างกฎหมายใหม่ให้ครบถ้วนเสียก่อน

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนาและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเชิงประเด็น เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ที่โรงแรมเอเชีย ในหัวข้อเรื่องปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน (ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๓) ซึ่งผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ขึ้นเวทีสัมมนาดังกล่าว และได้ชี้แจงเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม กับร่างแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงาน พบว่าร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานยังมีข้อบกพร่องที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขไม่น้อยกว่า ๔๐ ประเด็น ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไม่ได้มีข้อยุติและไม่เคยเห็นชอบกับร่างแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานเลย

อีกทั้งในกิจกรรมนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เชิญตัวแทนกระทรวงพลังงานมาชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ และให้มารับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้แทนจากกระทรวงพลังงานมาขึ้นเวทีแม้แต่คนเดียว แสดงให้เห็นว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ที่กำหนดให้ “ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ” และสะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงพลังงานไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปพลังงาน และไม่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนรวมทั้งมุ่งเน้นแต่การชี้แจงฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน

ผลสรุปของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ปรากฏเป็นตัวอย่างในประเด็นสำคัญดังนี้

- การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ประชาชนเห็นด้วยกับการให้ยกเลิกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ โดยให้จัดทำกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ มากถึงร้อยละ ๙๓.๙๑

- การจัดตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ ประชาชนเห็นด้วยในประเด็นนี้ถึงร้อยละ ๘๘.๕๐

- วิธีการยุติข้อพิพาท ประชาชนเห็นด้วยให้ใช้ศาลยุติธรรมไทยแทนการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการถึงร้อยละ ๙๒.๗๐

- การคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ประชาชนเห็นด้วยว่าต้องมีการกำหนดเขตพื้นที่แปลงประกอบกิจการปิโตรเลียมต้องมีระยะห่างจากพื้นที่ห่างจากขอบชายฝั่ง พื้นที่ทำกิน พื้นที่สงวนเพื่ออนุรักษ์สัตว์ทะเล และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ร้อยละ ๘๙.๐๐

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวของกระทรวงพลังงานไม่มีข้อความใดเลยที่สอดคล้องกับความเห็นของประชาชนตามที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้สรุปดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า กระทรวงพลังงานไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่อย่างใด

จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘- ๒๕๗๙ (PDP2015) โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีมติเห็นชอบแผนโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ทำให้ได้รับทราบข้อมูลว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าดังกล่าวมีกำลังการผลิตเกินกว่าที่พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดและเกินกว่ากำลังผลิตสำรองมาตรฐานสากลไปอย่างมาก ทั้งๆ ที่กำลังผลิตสำรองมาตรฐานสากลควรจะมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกินร้อยละ ๑๕ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากสมมุติว่าประเทศไทยไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมและไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเติม ประเทศไทยก็ยังมีกำลังสำรองผลิตไฟฟ้าเกินกว่าร้อยละ ๑๕ อยู่ดี หากรัฐบาลมีนโยบายการปรับปรุงและพัฒนาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันได้แก่ การเพิ่มสายส่งไฟฟ้าเส้นใหม่ภาคใต้ซึ่งลงทุนประมาณ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรการการปฏิบัติตามแผนอนุรักษ์พลังงาน การลดการปันส่วนก๊าซในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีมาผลิตเป็นไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมเพิ่มพลังงาหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมตามยุทธศาสตร์ที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยได้นำเสนอไปแล้ว รวมถึงแหล่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ที่จะทำการเปิดประมูลแข่งขันการให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.... ที่จัดทำขึ้นใหม่โดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้นำเสนอไปแล้ว นั่นหมายความว่าหากดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยจะไม่ขาดไฟฟ้าอย่างที่กระทรวงพลังงานมักกล่าวอ้างซ้ำๆ อยู่เสมอให้นายกรัฐมนตรีตลอดจนประชาชนหลงเข้าใจผิด มีความตื่นตระหนกวิตกกังวลเกินกว่าเหตุอยู่เป็นประจำ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ โดยใช้ข้ออ้างว่า ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติพลังงานเพราะขาดไฟฟ้าอีกต่อไป และมีเวลาที่จะสามารถดำเนินการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ฉบับใหม่ ให้รัดกุม ให้รอบคอบ อุดช่องโหว่ และแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต รวมถึงสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง

พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า กระทรวงพลังงานกระทำการขัดต่อหลักจริยธรรมทางการบริหาร ลุแก่อำนาจ เพราะไม่ฟังเสียงคัดค้านอย่างมีหลักฐานและมีเหตุผลของภาคประชาชน ไม่เคารพและไม่จริงใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่รับฟังผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ฟังเสียงผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนรวมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ แอบอ้างข้อมูลเท็จในการเสนอกฎหมายเพื่อขอความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนคำสั่งของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ส่งผลทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดในข้อมูล หรืออาจตกเป็นจำเลยร่วมกับกระทรวงพลังงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในครั้งนี้ได้

จึงกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ และให้ถอนร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ.....ที่จัดทำโดยกระทรวงพลังงาน และผ่านการพิจารณาความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อมาจัดทำใหม่ ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)








กำลังโหลดความคิดเห็น