xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทำประชามติกันดีมั้ย เอา – ไม่เอา กม.ปิโตรเลียม ฉบับลักหลับ ปะผุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เดินทางไป ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (กพร) เพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรีให้ถอนพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับกระทรวงพลังงานออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และหลังจากนั้นเดินทางไปแสดงตนต่อที่รัฐสภา เพื่อเข้าชื่อร่วมกันเสนอ สนช.หยุดยั้งกฎหมายดังกล่าว ต่อไป ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เล่ห์เหลี่ยมในการเร่งผลักดัน “ร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ของกระทรวงพลังงาน” ในขณะนี้ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมผู้บริหารกระทรวงพลังงานถึงไม่เลิกพฤติกรรมโกหกเป็นกิจวัตร ลัดขั้นตอนหรือ “ลักหลับ” เป็นนิจศีล จะทำอะไรให้โปร่งใส ตรงไปตรงมา ถามประชาชนเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมตัวจริงเสียก่อนไม่ได้หรืออย่างไร?

หรือพากันคิดว่า ทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปีนั้น เป็นสมบัติของกระทรวงพลังงาน ที่จะนำไปจัดสรรอย่างไร จะให้ใครก็ได้ คนอื่นห้ามยุ่ง อย่างนั้นหรือ?

เวลานี้ ข่าวดารากินยาจะฆ่าตัวตาย ภัยแล้ง และประมงประท้วง กลบกระแสข่าวปฏิรูปพลังงานเสียหมดสิ้น ซึ่งนับเป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะมากในการลักหลับผลักดันกฎหมายสำคัญอย่างร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ฉบับกระทรวงพลังงาน ให้ผ่านฉลุย เหมือนเมื่อครั้งกระทรวงพลังงานต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมล่วงหน้าในยุครัฐบาลขิงแก่ ก็ช่วงชิงจังหวะชุลมุนในโค้งสุดท้ายก่อนลงจากอำนาจเช่นกัน

แต่คราวนี้ เรื่องอาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะกระทรวงพลังงาน เจอการตรวจสอบจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายพลังงาน เสียงข้างน้อย แบบชนิดกัดไม่ปล่อย แถมยังท้าทายด้วยการขอเสนอให้รัฐบาลทำประชามติร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับของกระทรวงพลังงานและฉบับของภาคประชาชน แบบวัดใจกันไปเลย

เรื่องการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่และแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุลงที่ยังคาคอกลุ่มทุนพลังงานและกระทรวงพลังงานชนิดอยากกลืนกินใจจะขาดแต่กลืนไม่ได้เพราะถูกแรงบีบจากภาคประชาชนให้คายออกมาจัดการกันใหม่ทำให้เรื่องค้างคามาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้ได้เดินมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ห้ามกระพริบตาเด็ดขาด

ทั้งนี้เพราะหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้กระทรวงพลังงาน ระงับยับยั้งการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ไว้ก่อนตามเสียงเรียกร้องของภาคประชาชน แล้วให้ทั้งสองฝ่ายไปร่วมร่างและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิม ทั้งสองฝ่ายก็ได้แยกย้ายกันไปทำฉบับของใครของมัน

ทางกระทรวงพลังงาน ซึ่งใช้เวลาตัดปะผุร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่แต่ฝ่ายเดียว ทำร่างออกมาแบบยอกย้อนซ่อนเงื่อนเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนพลังงานเหมือนเดิมและกะจะลักหลับทำคลอดทีเผลอ โดยนายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงพลังงานนำเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและผ่านการเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 แล้ว ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำเสนอ ครม.และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาหากผ่านการเห็นชอบจากสนช.ก็ประกาศใช้ต่อไป

รูปการณ์จึงคล้ายกับว่าร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ ฉบับภาคประชาชนที่ทำเสร็จแล้วเช่นกันจะถูกเขี่ยทิ้งไปเสียดื้อๆ ไม่ได้นำมาร่วมพิจารณาด้วยแต่อย่างใด

การตีมึนของกระทรวงพลังงาน ทำให้ภาคประชาชนนำโดย คปพ. ต้องออกรณรงค์เปิดแคมเปญคัดค้านร่างกฎหมายฯ ของกระทรวงพลังงาน และเสนอให้นายกรัฐมนตรี ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ/หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสียก่อน โดย คปพ. มองว่าเรื่องนี้มีปัญหาใน 2 ประเด็นสำคัญคือ หนึ่งเรื่องขั้นตอนการนำเสนอร่างกฎหมายที่งุบงิบเร่งรีบทำคลอด และสองเนื้อหาของร่างกฎหมายที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

ในประเด็นขั้นตอนการออกกฎหมายที่เรียกว่า “ฉบับลักหลับ”นี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งในแกนนำ คปพ. โพสผ่านเฟชบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 กรกฎคมที่ผ่านมาว่า ร่างกฎหมายลักหลับของกระทรวงพลังงานทั้ง 2 ฉบับ (ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ) ที่กระทรวงพลังงาน จัดทำ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติว่า:

“๑. อนุมติหลักการร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่....) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... รวม ๒ ฉบับ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป”

ข้อสงสัยของนายปานเทพ ก็คือ แสดงว่า กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จะไม่ส่งกลับคืนมายังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบใดๆ อีก และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติ เป็นลำดับต่อไป อย่างนั้นใช่หรือไม่

คำตอบอยู่ที่วิวาทะระหว่างนายคุริจิต นาครทรรพ กับนางสาวรสนา โตสิตระกูล สปช.สายพลังงาน ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

นายคุรุจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในขั้นตอนการทำร่างกฎหมายนั้นได้มีการรับฟังความคิดเห็นจาก สปช. และเวทีเสวนาสาธารณะหลายครั้งในรอบปี 2558 ก่อนที่กระทรวงพลังงาน จะนำเสนอร่างกฎหมายฯ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเมื่อเห็นชอบแล้วก็ส่งไปคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นก็เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.หากเห็นชอบตามที่เสนอก็สามารถเตรียมประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ตามกรอบนโยบายของรัฐบาล ซึ่งร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ของกระทรวงพลังงานนั้น ไม่ได้มีการนำร่างอื่นมาประกบ และหลักการที่เขียนไว้ก็ไม่ได้มีการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีที่จะไปตัดสินใจยกแหล่งปิโตรเลียมให้ใคร เพราะที่สุดการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการให้สิทธิ์เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมคือคณะรัฐมนตรี (ครม.)

"ขั้นตอนมีอยู่จะต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาอย่างไรในการให้สิทธิ์เอกชนสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งหลักๆ จะต้องผ่านคณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ต้องเสนอครม.ขั้นสุดท้ายในการให้สิทธิ์ฯ ส่วนกรณีที่ระบุว่าระบบPSC ของกระทรวงพลังงาน มีการยกสิทธิ์สำรวจผลิตให้ถึง 39 ปีนั้น ข้อเท็จจริงไม่ว่าระบบใดก็ทำเช่นนั้นแม้แต่ระบบสัมปทานคือ ระยะเวลาสำรวจ 9 ปี ระยะเวลาผลิต 20 ปี และต่อสัญญาได้อีก 10 ปีสัมปทานปิโตรเลียมตลอด 40 ปีก็ทำมาเช่นนี้" นายคุรุจิต กล่าว

แบไต๋กันให้เห็นชัดๆ และตอบข้อสงสัยไปในตัวเสร็จสรรพว่าหากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของสนช.ก็ประกาศใช้ และเชิญเอกชนมาช้อปสมบัติแผ่นดินกันได้เลย

เมื่อกระทรวงพลังงานอ้างว่าได้เปิดรับฟังความเห็น สปช. และความเห็นสาธารณะแล้ว นางสาวรสนา จึงสวนกลับไปว่าไม่เคยมีเวทีรับฟังความเห็นประชาชนแต่อย่างใด แม้แต่กรรมาธิการพลังงานในสปช.เองก็ยังไม่มีใครเคยเห็นร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียมฯ และร่างภาษีปิโตรเลียมฯของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อย่างเป็นทางการจากกระทรวงพลังงาน ที่นายคุรุจิตพูดนั้นเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เพราะหากมีจริงก็สมควรนำรายงานนั้นมาเปิดเผย ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดข้อสงสัยว่าร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนั้นรับใช้ผลประโยชน์ของใคร

สำหรับประเด็นเนื้อหาของร่างกฎหมายฯ ฉบับกระทรวงพลังงานกับฉบับภาคประชาชนนั้น มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนว่ามีจุดยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของกลุ่มทุนหรือประชาชนคนไทยเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมตัวจริง ซึ่งเรื่องนี้ทางคปพ.ได้ทำกราฟฟิกเปรียบเทียบแต่ละหมวดแต่ละมาตราเอาไว้อย่างชัดเจน

นางสาวรสนา สปช. สายพลังงานจากภาคประชาชนเพียงหนึ่งเดียว ตั้งข้อสังเกตว่า ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ มีการแก้ไขเพียง 7 มาตรา ที่น่ากังวล คือ มีการแก้ไขเกี่ยวกับการให้สัมปทานแหล่งผลิตน้ำมัน จากเดิมที่เคยระบุให้เวลา 9 ปี ในการเจาะสำรวจ แบ่งเป็น 3 ช่วงๆ ละ 3 ปี เมื่อเจอแหล่งพลังงานแล้วให้สัมปทานขอได้ครั้งแรก 20 ปี และขยายครั้งต่อไปอีก 10 ปี แต่มีการแก้ไขให้ขอสัมปทานครั้งเดียวได้เลยรวมเวลา 39 ปี"

อีกประเด็นคือ แหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุกรรมสิทธิ์สัมปทานคือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ควรจะมีองค์กรรัฐอย่างบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เข้ามาบริหารจัดการ แทนที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่ไม่คล่องตัว จึงมักให้สัมปทานกับเอกชนโดยไม่ติดตามควบคุมเท่าที่ควร ซึ่งมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วคือ ปิโตรนาส ของประเทศมาเลเซียที่จะมีคอนโทลรูม ตรวจสอบปริมาณการผลิตของเอกชนว่าตรงตามที่รายงานเป็นตัวเลขมาหรือไม่อย่างไร เพื่อที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ได้ตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น แต่ในร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงพลังงาน ไม่มีการเอ่ยถึงเรื่องเหล่านี้เลย

“มูลค่าทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ไม่ใช่สมบัติของกระทรวงพลังงานที่คิดจะกำหนดจัดการอย่างไรก็ได้ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสมบัติของประชาชนไทยทั้งประเทศ ที่ไม่ได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรมจากทรัพยากรนั้น แต่กลับต้องแบกรับราคาพลังงานอันสูงลิ่วตลอดจนภาษีพลังงานรวมทั้งกองทุนน้ำมันมาโดยตลอด

“ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นเรื่องใหญ่พอๆกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเพื่อให้ปิโตรเลียมเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ดิฉันขอเสนอให้รัฐบาลทำประชามติว่าประชาชนจะเห็นชอบในร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใดระหว่างร่างกฎหมายปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน หรือ ฉบับร่างของภาคประชาชน ทั้งนี้เพื่อยุติความขัดแย้งและนำไปสู่การปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง” สปช.สายพลังงาน เรียกร้องต่อกระทรวงพลังงานและรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา โพสข้อความว่า เมื่อวานนี้มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลคนหนึ่งให้ข้อมูลผมว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานกำลังจะเปลี่ยนเป็นเปิดให้เอกชนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอสำหรับแต่ละแปลง โดยเอกชนแต่ละรายจะเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐเท่าไรก็ได้ โดยสามารถเสนอแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ ระหว่างสัญญาสัมปทานกับสัญญาแบ่งปันผลผลิต แล้วผู้ใหญ่คนนั้นอ้างว่า กระทรวงพลังงาน จะสามารถกำหนดสูตร เพื่อจะเปรียบเทียบระหว่างข้อเสนอรูปแบบต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด เป็นการอ้างว่าวิธีนี้ คือการประมูลแข่งขันกันแบบหนึ่ง

แนวคิดนี้แปลกมาก และไม่มีประเทศใดในโลกใช้มาก่อน แต่ไม่ถูกหลักวิชาการ เพราะเหตุใด ระบบสัมปทานปิโตรเลียมอยู่ในความควบคุมของเอกชน รัฐได้ค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ส่วนเพิ่มเป็นตัวเงิน เอกชนเป็นผู้ตัดสิน ว่าจะใช้ปิโตรเลียมทำอย่างไร จะขายให้ใคร เพียงแต่จ่ายเงินให้แก่รัฐตามอัตราที่กำหนด

ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐได้ส่วนแบ่งเป็นปิโตรเลียม และส่วนแบ่งนี้ อยู่ในความควบคุมของรัฐ รัฐเป็นผู้ตัดสินว่าจะใช้ปิโตรเลียมทำอย่างไร (ก) อาจจะมอบให้หน่วยราชการบางส่วน หรือ (ข) อาจจะใช้เป็นยุทธปัจจัยบางส่วน หรือ (ค) อาจจะขายในตลาดทันที (spot) บางส่วน หรือ (ง) อาจจะทำสัญญาขายระยะยาวบางส่วน

ตัวเลขของทั้งสองระบบจะเปรียบเทียบกันล่วงหน้าไม่ได้ แต่จะสามารถเปรียบเทียบกันได้เฉพาะย้อนหลัง ในระบบสัมปทาน จะรู้ว่ารัฐได้เงินจริงเท่าใดก็ต่อเมื่อเอกชนมีการขายปิโตรเลียมออกไปเรียบร้อยแล้วเท่านั้น จึงจะทราบว่าขายได้ในราคาขณะนั้นเท่าใด

ในระบบแบ่งปันผลผลิตก็เช่นกัน เนื่องจากทางเลือกของรัฐ (ก) ถึง (ง) นั้น ได้ตัวเลขราคาขายที่แตกต่างกัน ดังนั้น กว่าจะรู้ตัวเลขผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่รัฐ ก็ต้องมีการจำหน่ายจ่ายแจกเสร็จแล้วเช่นกัน และสมมติว่า ตัวเลขจากระบบแบ่งปันผลิต เกิดต่ำกว่าตัวเลขจากระบบสัมปทาน ก็ไม่ได้หมายความอัตโนมัติว่าสัญญาแบ่งปันผลผลิตจะด้อยกว่าสัมปทาน เพราะวิธีการขาย (ก)-(ง) อาจทำให้ตัวเลขต่ำกว่า ทั้งที่ประเทศอาจจะได้ประโยชน์โดยรวมสูงกว่า

ดังนั้น จึงไม่เคยมีประเทศใดที่คัดเลือกเพื่อให้ธุรกิจแก่เอกชน โดยเปรียบเทียบข้ามสายพันธุ์อย่างนี้ ทำแบบนี้จะเป็นการเปรียบเทียบการนับจำนวนผลแอปเปิลกับการนับจำนวนผลกล้วย แล้วถามว่าอะไรจะให้ประโยชน์มากกว่ากัน

ถ้าหากรัฐบาลพยายามนำแนวคิดนี้มาใช้ ภาคประชาชนจะยื่นเรื่องไปที่ศาลปกครอง และจะต้องร้องเรียนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย จะมีการต่อสู้ในทุกเวที เพราะการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกหลักวิชาการ นอกจากจะไม่เป็นธรรมแก่เอกชนบางรายแล้ว ยังอาจทำให้การคัดเลือก มีการเปรียบเทียบปัจจัยที่ไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

“แนวคิดนี้ ผมอ่านเลยไปด้วยว่า เป็นวิธีการที่จะแทรกขบวนการเพื่อให้สัมปทานแก่แปลงที่กำลังจะหมดอายุ โดยเฉพาะแปลงเอราวัณ/บงกช ซึ่งเดิมกฎหมายปิดช่อง ไม่สามารถต่อสัมปทานได้อีก แต่คราวนี้จะสามารถแทรกเข้ามา ด้วยการใช้ระบบเล่นกล อ้างว่ามีการประมูลหรือไม่ และแท้จริงเป็นการใช้หมอกควันและกระจกเงา ในการสร้างภาพลวงตาแก่ประชาชนหรือไม่”

การปฏิรูปพลังงานที่ประชาชนเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมที่แท้จริงควรมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการด้วยนั้น กลับกลายมาเป็นมหาศึกยืดเยื้อที่จบไม่ลง เพราะกระทรวงพลังงาน ยังหวงอำนาจ ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีไปเสียทั้งหมด และทุนพลังงานซึ่งอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจข้าราชการระดับสูงที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ไม่ต้องการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ติดตาม ตรวจสอบ

ขณะที่ภาคประชาชนนำโดยคปพ.ก็ประกาศสู้ยิบตา ด้วยการออกแคมเปญเชิญชวนประชาชนลงชื่อเพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ถอนร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ฉบับกระทรวงพลังงาน ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สนช. และขอให้สนช.หยุดยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายวีระ สมความคิด พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิต ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

นายพรเพชร ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอร่างมาที่สนช. แต่การทำงานของสนช.ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ต่างๆ จะต้องคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยจะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และมาร่วมเป็นกรรมาธิการ เพื่อทำร่างกฎหมายให้ดีที่สุด โดยพวกตนจะดำเนินการตามหลักการ เมื่อมีการเสนอร่างเข้ามาก็ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม โดยจะประสานงานกับเจ้าของร่างเพื่อให้เปลี่ยนแปลงหลักการบางอย่างเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

ต้องติดตามกันต่อไปว่าการรณรงค์เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนของคปพ.จะถูกรวบเหมือนกับกลุ่มนักศึกษา “ดาวดิน” หรือไม่ และหากมีการจับกุม รัฐบาลคสช.จะต้องปลดปล่อย คปพ.ให้เป็นอิสระเหมือนกลุ่มดาวดินโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการชุมนุมเคลื่อนไหว หาไม่ก็ต้องถูกข้อหาสองมาตรฐาน

หรือจะลงประชามติ เอา-ไม่เอา ร่างกฎหมายฯ ฉบับลักหลับ กันไปเลยดีมั๊ย




ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายวีระ สมความคิด และคณะ ร่วมยื่นหนังสือต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิต ปธ.กมธ.การพลังงาน สนช. ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อขอให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับที่ พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น