xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดถอน“สมศักดิ์ ตือ” รวย(ไม่)ผิดปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แถลงตอบโต้ข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช.กรณีแสดงบัญชีทรัพย์สินเท็จ และร่ำรวยผิดปกติ ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 29 ต.ค.
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นหนึ่งในนักการเมืองไม่กี่คนที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนักการเมืองในประเทศนี้ส่วนใหญ่ล้วนแต่กระทำการทุจริตผิดกฎหมาย ป.ป.ช. เพียงแต่ไม่ทิ้งหลักฐานให้โดนจับได้เท่านั้น

นายสมศักดิ์เอง ก็ไม่ได้ถูกจับได้จากกรณีการทุจริตโดยตรง แต่พลาดในขั้นตอนยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. โดยแจ้งรายการทรัพย์สินไม่ครบ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่านายสมศักดิ์จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ พร้อมได้เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย รวมทั้งได้ไต่สวนตามข้อหากล่าวหาว่านายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติ กรณีปลูกสร้างบ้านเนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา เลขที่ 5/5 ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้ว มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ว่านายสมศักดิ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ได้แก่บ้านพักอาศัยหลังดังกล่าว ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน

หลังจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาลงมติถอดถอนนายสมศักดิ์ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 56 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 จากกรณีร่ำรวยผิดปกติดังกล่าว

สนช.ได้กำหนดวันเปิดสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มาแถลงเปิดคดี สรุปได้ว่า ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหานายสมศักดิ์ไว้ 2 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ การยื่นบัญชีแสดงบัญชีทรัพย์สินเท็จ ได้ตรวจสอบความถูกต้องและมีอยู่จริงจากหลักฐานที่ยื่นไว้ สรุปได้ว่า นายสมศักดิ์ ได้ยื่นไว้ 8 ตำแหน่ง 21 กรณี ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2540 ถึง 2 ธันวาคม 2551 ปรากฏว่าไม่ได้แสดงบ้านพักอาศัย บ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ในทุกตำแหน่งและทุกกรณี และไม่เคยแสดงเงินสดด้วย ตลอดเวลาที่มีการไต่สวนนายสมศักดิ์ยืนยันตลอดว่าบ้านพักดังกล่าวไม่ใช่ของตนแต่เป็นบ้านของนายไพโรจน์ ฉัตรบริรักษ์ พี่ชายของ นางระวีวรรณ ปริศนานันทกุล คู่สมรส โดยใช้เงินที่ได้จากการประกอบโรงสีวิเศษชัยชาญเจริญกิจ มาก่อสร้าง

ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผลการไต่สวนฟังได้ว่าบ้านดังกล่าวเป็นของนายสมศักดิ์ มีมูลค่า 16 ล้านบาทเศษ รวมทั้งยังพบว่านายสมศักดิ์ไม่ได้แสดงรายการเงินฝากของตนและคู่สมรส ซึ่งฝากไว้ในชื่อคนอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติว่านายสมศักดิ์จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินเป็นเท็จ และไม่แสดงรายการเรื่องบ้านและเงินฝาก จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณามีคำพิพากษา

ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาว่าบ้านดังกล่าวเป็นของนายสมศักดิ์ และมีคำพิพากษาว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินอันเป็นเท็จ มีผลทำให้นายสมศักดิ์ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี ตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2551 และมีโทษทางอาญาจำคุก 6 เดือน ปรับ 6 หมื่นบาท โดยศาลให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหากรณีร่ำรวยผิดปกติ และให้โอกาสชี้แจงกรณีบ้านพัก โดยนายสมศักดิ์ได้ชี้แจง 3 เหตุผล ครั้งแรกแจ้งว่าการปลูกสร้างบ้านใช้เงินหมุนเวียนของโรงสี ต่อมาเปลี่ยนคำชี้แจงว่าการจัดซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินของตนที่ฝากไว้ในนามของโรงสี และอีกครั้งชี้แจงว่าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายปลูกสร้างบ้านทั้งหมด โดยมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนทั้งหมด

ส่วนประเด็นนายสมศักดิ์นำเงินจากไหนมาปลูกสร้าง จากการไต่สวน ป.ป.ช.ตรวจสอบบัญชีการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินที่แสดงไว้ 8 ตำแหน่ง พบว่า นายสมศักดิ์และภรรยาไม่ได้แสดงรายการเงินสดไว้มาตลอด เมื่อ ป.ป.ช. มีคำสั่งให้แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 19 ซึ่งเป็นกระบวนการพิเศษที่จะชี้ว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ นายสมศักดิ์ ก็ไม่แสดง และช่วงปี 2538 และปี 2539 ที่นายสมศักดิ์เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองใหม่ ๆ จากคำให้การของนายธีระพันธ์ อรุณรัศมีโชติ และนายสุรเชษฐ์ นิ่มกุล คนใกล้ชิด ก็ยืนยันว่า ช่วงนั้นยังไม่มีเงินทองเพียงพอมาหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งการปลูกสร้างบ้านดังกล่าวก็ยังมีการผ่อนซื้อมาตลอด และคำเบิกความของนายสมศักดิ์ต่อศาลฎีกาฯ ว่า บ้านหลังดังกล่าวไม่ใช่ของตน แต่หลังจากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาแล้วกลับคำให้การ ยืนยันว่า บ้านปลูกสร้างด้วยเงินสด และเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาติไทยในขณะนั้น

ส่วนที่อ้างเรื่องเงินสนับสนุนจากพรรคการเมือง ดูจากคำให้การของ นางพวงรัตน์ ชัยบุตร อดีตเหรัญญิกพรรคชาติไทย ที่เบิกความต่อศาลว่าช่วงปลายปี 2539 นายสมศักดิ์ รับเงินสนับสนุนจากพรรคการเมืองและบุคคลที่ไม่ทราบชื่อรวม 29 ล้านบาทเศษ แต่ไม่มีรายละเอียดการใช้จ่าย เป็นเหตุให้นายสมศักดิ์เปลี่ยนคำให้การว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง แต่เมื่อตรวจสอบภาษีเงินได้พบว่า นายสมศักดิ์ มีรายได้ช่วงปี 2541 จำนวน 2,438,700 บาท และ ปี 2543 มีรายได้รวม 2,854,000 บาท รวมแล้ว 5.3 ล้านบาทเศษ ไม่สอดคล้องกับทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ทาง ป.ป.ช. จึงมีมติว่านายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติ และส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยล่าสุด ศาลฎีกาฯ ได้รับคำร้องแล้ว

หลังจากนายณรงค์แถลงเปิดคดีต่อที่ประชุม สนช.แล้ว นายสมศักดิ์ได้แถลงโต้ข้อกล่าวหาว่า ช่วงได้รับตำแหน่งเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งประเทศเข้าสู่ยุคไอเอ็มเอฟ รัฐบาลไม่ได้ทำโครงการขนาดใหญ่ ตนจึงไม่เคยไปใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์

ส่วนเรื่องที่มาของบ้าน นายสมศักดิ์อ้างว่า ได้ซื้อที่ดินปี 2539 ถมที่ดิน ปี 2540 และก่อสร้างเสร็จ 2541 ช่วงที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อยได้มีความเห็นว่าตนได้วางแผนการก่อสร้างตั้งแต่ซื้อที่ดินปี 2539 ไม่ใช่หาเงินไปก่อสร้างไป โดยอาศัยหน้าที่แสวงหาประโยชน์เพื่อสร้างบ้านดังกล่าว ส่วนที่กล่าวหาว่าตนกลับคำให้การนั้น ไม่ใช่เพราะจำนนต่อหลักฐานแต่เป็นเพราะรัฐธรรมนูญประกาศใช้ใหม่ในปี 40 และมีกฎหมาย ป.ป.ช. ในปี 2542 ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ยอมรับว่าสำคัญผิดว่าทรัพย์สินที่ไม่ใช่ชื่อตนเองไม่ต้องแจ้ง ตนจึงไม่ได้แจ้งในกรณีเงินสด และแปรมาเป็นทรัพย์สินบางประการ โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งนำไปมอบให้โรงสีวิเศษชัยชาญเพื่อหมุนทำธุรกรรม เพราะสำนึกกตัญญูที่ยกลูกสาวให้ เมื่อโอนไปแล้วจึงไม่ได้แจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ ซึ่งต่อมาเงินส่วนนี้ ทางโรงสีได้นำกลับมาซื้อที่ดินในการสร้างบ้าน

ส่วนที่ว่า เงินมาจากไหน นายสมศักดิ์ยอมรับว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งได้รับเงินสนับสนุนจากพรรคกว่า 20 ล้านบาท เพราะพรรคการเมืองมีนายทุน ก็จะดูว่าคนไหนมีแววได้รับเลือกสูง ตนเป็นคนบ้านนอกและผูกพันกับชาวบ้านจึงได้รับการสนับสนุนและได้รับการเลือกตั้งมาทุกครั้งตั้งแต่ปี 2539 เวลาเลือกตั้งเขาใช้เงินกัน ตนก็ไช้ แต่ตีตั๋วเด็ก แต่ละครั้งจึงเหลือมาตลอด และยังมีมุ้งต่าง ๆ คือ ผู้ใหญ่ภายในพรรคเขาอยากมีเสียงสนับสนุนให้เป็นรัฐมนตรี หรือจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะดูแลสมาชิกที่ไม่ได้เป็นนายทุนพรรค เวลาเลือกตั้งก็ช่วยเหลือกัน

กระบวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ ยังต้องผ่านขั้นตอนให้สมาชิก สนช.ยื่นญัตติตั้งคำถาม ก่อนที่จะนัดวันลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่อีกครั้ง ซึ่งหากจะดูจากข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. คำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ กรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ เปรียบเทียบกับการตอบโต้ของนายสมศักดิ์ในวันแถลงเปิดคดีแล้ว นายสมศักดิ์คงรอดยาก เพราะคำโต้ตอบยังมีช่องโหว่อยู่หลายจุด

นายสมศักดิ์อ้างว่า เข้าใจผิด เพราะเพิ่งมีรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ จึงไม่ได้แจ้งกรณีเงินสดและบ้านหลังดังกล่าว แต่นายสมศักดิ์ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ถึง 8 ครั้งกรณีดำรงตำแหน่งทางการเมือง 8 ตำแหน่ง ระหว่างปี 2540 - 2551 กลับไม่แจ้งรายการทรัพย์สินเหล่านี้เลยสักครั้ง

ส่วนเงินที่นำมาสร้างบ้านที่อ้างว่าได้รับมาจากนายทุนพรรคการเมืองนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่ดูจะเลื่อนลอย เพราะการจ่ายเงินเพื่อให้ตัวเองได้ชัยชนะทางการเมืองนั้น ไม่มีใครทำหลักฐานให้ตัวเองต้องโดนจับผิด และยิ่งจะเพิ่มความน่าสงสัยว่าเป็นการร่ำรวยผิดปกติมากขึ้น หากมีการสืบสาวย้อนกลับไปว่านายทุนพรรคได้เงินดังกล่าวมาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ยังไม่ใช่นักการเมืองตัวเป้งที่มีศักยภาพการโกงกินเงินแผ่นดินจากโครงการขนาดใหญ่ เป็นแค่ระดับตัวกลางที่ทำงานให้ระดับบิ๊กที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังเท่านั้น และในขณะนี้ กระบวนการทำงานของ ป.ป.ช.ยังสาวไปไม่ถึงระดับบิ๊กที่ว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น