“บุญส่ง” เตรียมเสนอ กรธ. คงร่าง รธน.ที่ให้อำนาจ กกต.ตั้ง จนท.ช่วยเลือกตั้ง โยกย้าย สอบวินัย และขอเพิ่มอำนาจสอบสวน ยึดสำนวน กกต.เป็นหลัก จี้มีมาตรการคุ้มครองพยาน กันกลับคำให้การเพราะกลัวอิทธิพล ยืดระยะกำหนดเวลาการทำผิด กม. แนะห้ามท้องถิ่นลาออกสมัครต่อ ชี้ค่าใช้จ่ายจัดเลือกตั้งใหม่ควรบังคับคดีได้ทันที ลั่นได้ตามที่ขอปราบโกงเลือกตั้งได้แน่
วันนี้ (12 ต.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า เตรียมที่จะเสนอประเด็นที่ได้จากการสัมมนาร่วมระหว่าง กกต.กับศาลยุติธรรมให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.) เพื่อนำไปเสนอกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 15 ต.ค. ที่กรรมการทั้ง 5 คนจะเดินทางไปด้วย โดยประเด็นของด้านสืบสวนสอบสวน ประกอบด้วย ขอให้คงอำนาจตามมาตรา 251 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ให้ กกต.มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐมาช่วยสนับสนุนการเลือกตั้ง และโยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง และมีอำนาจสืบสวนสอบสวนทางวินัย เพราะที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยเสนอย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้กำกับการสถานีตำรวจ ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวได้เลย เนื่องจากทางผู้บังคับบัญชาออกมาปกป้อง ขอให้ กกต.มีอำนาจในการออกหมายเรียก ยึดอายัดพยานหลักฐาน หมายค้น หมายจับกุม การพิจารณาคดีของศาลให้ยึดสำนวนของ กกต.เป็นหลัก และให้การพิจารณาคดีแพ่ง หรือคดีเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และคดีอาญาในการสั่งเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง ให้กระทำได้ในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้ ขอให้มีมาตรการในการคุ้มครองพยานระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาพยานมักจะกลับคำให้การในชั้นศาลส่งผลให้หลายคดีถูกยกคำร้อง ส่วนตัวเห็นว่าเกี่ยวข้องกับกรณีการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง (ใบแดง) หลังการประกาศรับรองผลที่ควรให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ร้องต่อศาลแทน กกต. เพราะภาระการพิสูจน์จะเป็นของผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากที่ผ่านมา กกต.เป็นผู้ร้อง กกต.ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเป็นผู้กระทำผิดทำให้ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยาน หรือกลับคำให้การเพราะเกรงกลัวต่ออิทธิพลของนักการเมือง รวมถึงเสนอให้มีการขยายระยะเวลาการรับรองผลการเลือกตั้ง จากเดิมที่กำหนดให้กกต.ประกาศรับรองผลภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้ง จะขอขยายให้เป็น 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยสามารถลดจำนวนการมี ส.ส.เพื่อเปิดประชุมสภาครั้งแรกให้เหลือร้อยละ 80 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด และให้มีการขยายระยะการกำหนดเวลาการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก่อนครบวาระ ที่เดิมระดับชาติห้ามมีการกระทำเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งก่อน 90 วัน มาเป็น 180 วัน ก่อนครบวาระ และเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งแต่เดิมมีโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี ให้มาเป็น 5 ปี เท่ากับผู้บริหารท้องถิ่นหรือ 10 ปี รวมถึงให้มีการแก้ไขปัญหาผู้บริหารท้องถิ่นลาออกก่อนครบวาระเพื่อให้ได้เปรียบในการลงสมัครการเลือกตั้ง ทำให้รัฐเสียงบประมาณจัดการเลือกตั้งใหม่ จึงควรมีการห้ามไม่ให้ผู้ที่ลาออกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่ด้วย
“ความจริงค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นโทษทางปกครอง เมื่อ กกต.วินิจฉัยแล้วควรจะบังคับคดีได้ทันที เหมือนกับกฎหมายสรรพากร หรือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค อย่างกฎหมายของสิงคโปร์ก็มีการบัญญัติว่า ผู้ที่ไม่จ่ายหรือชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งไม่ครบถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ก็อยากให้ไปไกลขนาดนั้น เพราะการบังคับคดีกับนักการเมืองต้องรวดเร็ว แต่ปัจจุบันบางคดีใช้เวลา 10 ปี และมีการยกฟ้องจำนวนมาก”
นายบุญส่งกล่าวอีกว่า ฝากไปถึง กรธ.ว่ามองหน้าที่ของ กกต.อย่างไรก็ให้ร่างออกมาอย่างนั้น กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ถ้าได้อำนาจตามนี้ตนก็มั่นใจว่าจะปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งได้ทั้งหมด