xs
xsm
sm
md
lg

สัมมนา กกต.เพิ่มอุปกรณ์-บุคลากรรับเลือกตั้ง จี้ กก.สืบสวนร่วมสอบฟ้อง แก้ล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง(แฟ้มภาพ)
“บุญส่ง” สัมมนาเลือกตั้งภูมิภาค คงย้ำจุดยืน กกต.ควรมีอำนาจเรียกพยาน ขอหมายจับ คุ้มครองพยานที่ดี ทำจริงแก้กันแยะ คดียึดสำนวน กกต.เป็นหลัก มุ่งเพิ่มอุปกรณ์-บุคลากรให้ทันเลือกตั้ง แนะปรับกฎหมายเอื้อกันคนขายเสียงเป็นพยาน ปธ.แผนกคดีเลือกตั้ง ชี้ความช้าสืบสวนปัญหาใหญ่ แนะปรับจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ ปรับปรุง คกก.สืบสวนต้องมีส่วนร่วมสอบจนทำสำนวนฟ้องเอง ลดกระบวนการลง แต่ต้องมีคุณธรรม

วันนี้ (5 ส.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการสืบสวนสอบสวน เป็นประธานการสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยการดำเนินคดีเลือกตั้งระดับภูมิภาค ที่ จ.กระบี่ มี กกต.จังหวัดและ ผอ. กกต. จังหวัดจาก 7 จังหวัด และเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจากส่วนกลางเข้าร่วมประมาณ 110 คน โดยนายบุญส่งบรรยายต่อผู้ร่วมสัมมนาว่า กกต.ควรต้องมีอำนาจออกหมายเรียกพยาน ขอออกหมายเรียกหมายจับจากศาล มีการคุ้มครองพยานที่ดี มีรางวัลนำจับให้แก่ผู้ชี้เบาะแสซึ่งต้องแก้ทั้งรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ส่วนการดำเนินคดีเลือกตั้งในชั้นศาลนั้นเห็นตรงกันว่า ควรใช้สำนวนของ กกต.เป็นหลักในการพิจารณาคดีเหมือนกับทาง ป.ป.ช. โดยศาลขอความร่วมมือมา 3 ประการ 1. การสอบสวนพยานในคดีเลือกตั้งทั้งหมดต้องครบองค์คณะของพนักงานสอบสวนทั้งสามคน 2. มีการค้นหาข้อเท็จจริงในสำนวนให้สมบูรณ์ 3. ให้บันทึกภาพและเสียงในขณะสอบสวน ส่งผลให้ต้องมีอัตรากำลังพนักงานสอบสวนระดับจังหวัดๆ ละ 5-8 คน และต้องมีห้องและอุปกรณ์พร้อมเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งแก้กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง โดยตนได้เสนอ กกต.เพื่ออนุมัติในหลักการเบื้องต้นแล้ว ซึ่งด้านสืบสวนวินิจฉัยก็ดำเนินการล่วงหน้าพอสมควร โดยใช้งบประมาณไม่มาก ภายใน ก.ย.นี้น่าจะจัดซื้ออุปกรณ์ทั้งหมดได้ ขอให้ กกต.จังหวัดเตรียมห้องสืบสวนไว้รองรับ ส่วนอัตรากำลังต้องขอปรับปรุงโครงสร้าง เบื้องต้นถ้าไม่พอต้องเอางานด้านอื่นมาทำหน้าที่ไปก่อน เราจะไม่เอาคนนอกมาทำ ต้องเสร็จให้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า

นายบุญส่งกล่าวอีกว่า มองในภาพรวมคดีเลือกตั้งที่ยื่นศาลฎีกา พบว่ากรณีผู้ขายเสียงส่วนใหญ่จะถูกจำคุกในฐานทำลายประชาธิปไตยของประเทศ เราต้องกลับมาคิดว่าการกันคนขายเป็นพยานเป็นเรื่องยาก เพราะยังไม่มีกฎหมายมารองรับ อาจทำให้พนักงานสอบสวนถูกฟ้องฐานละเว้นหากไม่ฟ้องผู้ขายเสียง

ด้านนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง ในศาลอุทธรณ์ภาค 4 บรรยายหัวข้อข้อสังเกตและข้อแนะนำในคดีเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมาคดีเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับศาลมีปัญหาใหญ่มาก คือ ความล่าช้าในกระบวนการสืบสวนสอบสวน แม้มีระเบียบการสืบสวนสอบสวนของ กกต.กำกับไว้ให้กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงในพื้นที่ต้องไม่ให้เกิน 60 วัน แต่ก็มีปัญหาคือกระบวนการต่อไปที่เป็นแนวดิ่งก่อนจะขึ้นมาถึง กกต. แต่ละขั้นตอนก็มีอำนาจสั่งสอบสวนเพิ่มเติม พอเข้ามาส่วนกลางก็ยังต้องมีคณะอนุกรรมการวินิจฉัยไปดูสำนวนอีกที แล้วยังมีคณะกรรมการตรวจสำนวนก่อนส่งไปยัง กกต. ทำให้เส้นทางมันยาวมาก ทั้งที่พนักงานสอบสวนในพื้นที่ทำคดีเสร็จไม่เกิน 50 วัน ทำให้ข้อกำหนดที่ให้ยื่นคำร้องต่อศาลใน 1 ปีหลังประกาศผล พบข้อเท็จจริงจากสถิติของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปี 2557 ซึ่งมีคดีทุจริตการเลือกตั้งมากที่สุด มีคดีเลือกตั้ง 26 คดี ไม่มีคดีไหนใช้เวลาต่ำกว่า 5 เดือนกว่า กกต.จะยื่นคำร้องต่อศาลได้ บางคดียื่นฟ้องเอาวันสุดท้ายก่อนครบกำหนด 1 ปี

“ทำให้ต้องมองสุขภาพขององค์กรว่าทำไมคดีมาถึงศาลร้อยละ 50 ถูกยกคำร้อง เพราะเวลาผ่านไปเกือบ 1 ปีเกิดปัญหาพยานสูญหาย พยานทนการรบกวนไม่ไหวกลับคำให้การ โดยพนักงานในพื้นที่ไม่ทราบ และคนที่สอบสวนกับคนที่ยื่นฟ้องก็ไม่ได้เป็นองค์คณะหรือคนคนเดียวกัน ขาดความสมบูรณ์ในกระบวนการฟ้อง เพราะผู้ฟ้องไม่ได้ซึมทราบในคดีเท่าคนสืบสวน ผมเห็นว่าการจัดระบบแบบนี้ไม่ถูกต้อง”

นายสืบพงษ์กล่าวว่า กระบวนการที่ถูกต้องต้องเป็นแนวราบ คณะกรรมการสืบสวนของแต่ละจังหวัดต้องถือตนเสมือนเจ้าพนักงานกึ่งตุลาการ ไม่ใช่ทำตัวเหมือนพนักงานสอบสวนในคดีอาญาทั่วไป ยังไม่พัฒนาระบบการแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นอิสระเหมือนผู้พิพากษา ยังไม่มีประมวลจริยธรรม ขาดการจัดอบรมการไต่สวน สืบสวนสอบสวนให้สมบูรณ์แบบและเป็นกลางอย่างที่ผ่านๆ มา

ประธานแผนกคดีเลือกตั้งยังกล่าวว่า กระบวนการสืบสวนขององค์คณะในคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่ต้องปรับปรุง คือ 1. ต้องร่วมกันค้นหาความจริง 2. ร่วมกันปรึกษา 3. ร่วมกันตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ใช่มุ่งเอาผิดเพราะเชื่อว่าเป็นผู้ทำผิด หรือสอบเฉพาะผู้ถูกอ้างเป็นพยาน แต่ต้องไปหาพยานอื่นๆ ทั่วไป ต้องพัฒนาเจ้าพนักงานให้มองภาพใหญ่ของการทุจริตให้ออก มองอย่างคนที่เป็นกลาง ขณะที่ระเบียบของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต.เองที่กำหนดไว้เป็นองค์คณะร่วมกัน 3 คน แต่กลับมีข้อยกเว้นให้มอบอำนาจให้คนใดคนหนึ่งได้ ทำให้การปฏิบัติจริงเกิดขึ้นได้ยากเพราะคดีเข้ามามาก

นายสืบพงษ์กล่าวว่า เราพบว่านับตั้งแต่มี กกต.มาตั้งแต่ปี 2540 ที่ต้องการให้เป็นองค์กรอิสระที่มีความกะทัดรัด ทำงานเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในตัวเอง จนเวลานี้น่าเสียดายที่ถูกลดทอนอำนาจ และไม่อาจเรียกร้องให้กลับคืนมา เพราะข้อคาดหวังของพนักงานสืบสวนสอบสวนให้มีการพัฒนายังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งตัวองค์กรก็ใหญ่โตเทอะทะ มี กกต.จังหวัด กกต.ภาคขึ้น ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือต่อให้พนักงานสืบสวนทำคดีเสร็จใน 50 วัน กว่าจะยื่นฟ้องได้ก็เกือบ 1 ปี จึงต้องปรับปรุงให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนต้องเข้าไปมีส่วนในการสืบสวนสอบสวน จนทำสำนวนยื่นฟ้องให้เสร็จสิ้นในกระบวนการเดียวกัน เหมือนที่เรียกร้องในการปฏิรูปตำรวจที่ขอให้อัยการเข้าไปร่วมในการสืบสวนสอบสวนกับเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่ง 18 ปีที่ผ่านมายังไม่เกิดขึ้น

“จึงขอเรียกร้องให้บริหารการสืบสวนวินิจฉัยชี้ขาดเป็นแนวราบ ให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนยื่นฟ้องได้เอง พยายามทำกระบวนการให้ลดลงจาก 12 เดือนเป็นไม่เกิน 80 วัน ซึ่งต้องมีการฝึกอบรม มีค่าตอบแทนที่ทำให้เกิดความเป็นอิสระ มีความภาคภูมิใจไม่ถูกวิ่งเต้น เป็นที่เชื่อถือจากบุคคลภายนอกว่ามีคุณธรรมจริยธรรม”


กำลังโหลดความคิดเห็น