xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ศอตช. ประชุมตรวจสอบ สสส.

เผยแพร่:   โดย: พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุขสนช.
ประธานสหพันธืผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทสไทย
ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง


จากข่าวที่ปรากฎนี้ “เรียกศอตช. ตรวจสอบงบฯ สสส. 19 ต.ค.นี้” ใน
www.bangkokbiznews.com/news/detail/670385 โดยพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะได้เรียกหน่วยงานทั้งหมดของศอตช. ได้แก่ ป.ป.ช. ปปท. คตร. และ สตง.เข้าประชุม เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าแต่ละหน่วยงานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการใช้งบประมาณของ สสส. ว่าแต่ละหน่วยงานตรวจพบอะไรบ้าง มีการใช้งบประมาณไม่ถูกต้องหรือไม่ แล้วก็จะเรียก สสส.มาชี้แจงเพื่อให้สามารถหาข้อยุติในการตรวจสอบ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป

ตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 นายกรัฐมนตรีมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ สสส. มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน์เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 (คนนี้เป็นมาครบ 1 วาระ 4ปี มาแล้วและกำลังดำรงตำแหน่งเดิมในวาระที่ 2) มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากการสรรหา และมีประธานที่ปรึกษาที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานคือ นพ.ประเวศ วะสี มีผู้จัดการกองทุนชื่อ ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัตน์ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่า เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานของ สสส.ได้

การตรวจสอบ สสส.

ก่อนจะตรวจสอบ สสส.ก็ต้องทราบว่า งบประมาณ สสส.นั้นมีที่มาจาก 2% ของภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เรียกว่า “กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” ซึ่งการตั้งกองทุนนี้เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 โดยมีวัตถุประสงค์ ในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทุกวัย พัฒนาความสามารถของชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนการรณรงค์ให้ลดบริโภคสุรา ยาสูบหรือสารสิ่งอื่นที่ทำลายสุขภาพ สนับสนุนการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพผ่านกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะที่เป็นสื่อ เพื่อให้ประชาชนสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และลดบริโภคสุรา ยาสูบ และสารสิ่งอื่นที่ทำลายสุขภาพ

ผลงานของ สสส.ที่เห็นอย่างชัดเจน ก็คือการใช้สื่อในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชนใดๆ แทบทุกแขนงล้วนได้รับ "การจ้างงาน" จากสสส. ในการทำการ "สื่อสารประชาสัมพันธ์" ในกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เรียกว่าสื่อมวลชนแทบทุกสำนัก ต่างก็ได้รับผลประโยชน์จากเงินงบประมาณของ สสส. ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ จนไม่มีสื่อไหนอยากตรวจสอบ สสส. เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะกลายเป็นการ "ทุบหม้อข้าวตัวเอง" เพราะ สสส. เลิกจ้างประชาสัมพันธ์ไปเลยก็อาจเป็นได้

จากข่าวที่อ้างถึงข้างต้นนั้นยังมีข่าวว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตข้าราชการ สตง. จะไปยื่นเรื่องให้สตง.ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สสส.ในกรณีที่ให้เงินสนับสนุนสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยอีกด้วย

นอกจาก สสส.จะมีการ "จ้างสื่อสารมวลชน" ในการประชาสัมพันธ์แล้ว สสส.ยังจ้างบริษัทที่สร้าง "สื่อ" เพื่อเอา"สื่อสำเร็จรูปนั้น" ไปดำเนินการในการประชาสัมพันธ์อีกต่อหนึ่ง ซึ่ง ศอตช. น่าจะไปตรวจสอบได้ว่าบริษัทนั้นชื่ออะไร และเส้นทางการเงินระหว่างบริษัทกับ สสส.และกรรมการหรือผู้บริหาร สสส.ได้รับประโยชน์จากบริษัทนี้เท่าไร/อย่างไร?

และยังมีข่าวว่า สสส.มีการจ่ายเงินให้แก่โครงการต่างๆ หลายพันโครงการอย่างที่ผู้จัดการ สสส.กล่าวไว้ โดยที่หลายๆโครงการไม่ได้เกี่ยวข้องกับ "การสร้างเสริมสุขพาพ"ตามวัตถุประสงค์ใน พ.ร.บ.สสส.แต่อย่างใด เช่น โครงการเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) ได้รับเงินสนับสนุนเป็นประเดิมในปีแรกเป็นจำนวนเงิน 27,930,000 บาท โดยมีผู้ขอรับเงินคือ นพ.วิรุณ ลิ้มสวาท แต่มีผู้ดำเนินการในโครงการนี้คือ นพ.ประเวศ วะสี นพ.วิจารณ์ พานิช นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ นพ.สิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ฯลฯ โดยคศน. มีเป้าหมายจะเปลี่ยนประเทศไทยในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ตามที่นพ.ประเวศ วะสี พูดไว้เสมอในหลายๆ ที่ต่างกรรมต่างวาระกัน

นอกจากนั้น สสส.ยังให้เงินแก่มูลนิธิต่างๆ ที่เอาไปทำงานหลายอย่างทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมูลนิธิเหล่านั้น มักจะมีคนในกลุ่ม "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" เป็นประธานหรือกรรมการบริหาร เช่นมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (นพ.ประเวศ วะสี ประธาน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการ) มูลนิธินวัตกรรมสังคม มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และมูลนิธิอื่นๆ อีกมากมาย มูลนิธิหรือกิจกรรมที่ได้รับเงินจากสสส.เป็นประจำก็มีมาก ซึ่งหน่วยตรวจสอบของรัฐบาล คงสามารถไปติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงินขององค์กรเหล่านี้ได้ในไม่ช้า

จะเห็นได้ว่า กรรมการ(บอร์ด) ของ สสส.มีที่มาจากทั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการที่ได้มาจากการสรรหา ซึ่งกรรมการเหล่านี้ ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระๆ ละ 4 ปี

แต่จะเห็นได้ว่ามีบุคคลคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของ สสส.อยู่อย่างยาวนาน และเป็นกรรมการในหลายๆ โครงการที่รับเงินสนับสนุนจาก สสส. คือนพ.ประเวศ วะสี

และ นพ.ประเวศ วะสี ยังรับเงินจากกองทุน สสส.ในนามมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติอีกด้วย

ดังที่มีคนใน สสส. ซึ่งรักความถูกต้องได้ส่งตารางสรุปการรับเงินของ มสช. จาก สสส. ในรอบ 10 ปีมาให้ ซึ่งน่าจะเป็นเบาะแสสำคัญ ที่ศอตช ควรนำไปใช้ในการตรวจสอบ เนื่องจาก นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน มสช และเป็นกรรมการที่ปรึกษา สสส. ในขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นเลขาธิการ มสช.

ฉะนั้นจึงเห็นว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเข้มงวดกับการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ การใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ การมีผลประโยชน์ทับซ้อนและแผนการณ์เปลี่ยนสังคมจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ ตามที่มีข่าวในmanager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9580000116234

ซึ่งในข่าวนี้ พลเอกชาติอุดม ติตถะสิริ ประธานคตร. ได้รายงานผลการตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรีว่า สสส. มีการใช้จ่ายงบประมาณส่วนหนึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สสส. และนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ รมว.สธ. คือ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ตั้งคณะกรรมการเข้าไปกำกับดูแลกำหนดทิศทางการทำงานของ สสส.ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

ความจริงแล้ว สสส.ทำงานตามมติบอร์ด เหมือนองค์กรตระกูลส.อื่นๆ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานบอร์ด ควรต้องไปสอบสวนว่า ผู้จัดการ สสส.ได้ทำงานตามมติบอร์ดหรือไม่/อย่างไร? และบอร์ด สสส.นั่นเองที่ต้องทำหน้าที่กำหนดทิศทางและกำกับการทำงานของ สสส.ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544

แต่อย่างไรก็ตาม รมว.สธ. ก็ได้แต่งตั้ง นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารมว.สธ.เป็นประธานกรรมการกำกับทิศทางการทำงาน ของ สสส. โดยกำหนดระยะเวลาการทำงาน 3 เดือน

พร้อมกันนั้นมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเมื่อมีข่าวการตรวจสอบ สสส.และ สปสช.จนมีการย้ายเลขาธิการ สปสช.และมีข่าวว่าจะย้ายผู้จัดการ สสส.นั้น บรรดาผู้บริหารหรือบรรดากลุ่มคนในขบวนการ "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ต่างก็ออกมา "อธิบาย"ว่าทั้งสององค์กรนั้นสามารถใช้งบประมาณได้ตามที่ สสส.หรือ สปสช.ทำไปแล้ว โดยอ้างว่า คตร. "ตีความกฎหมายไม่เหมือนกัน" เช่น สสส.บอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพ (ที่เปลี่ยนเรียกใหม่ว่า "สุขภาวะ" ) ไม่ว่าจะเป็นกายจิต อารมณ์ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง และบางคนก็ออกมาโจมตีนายกรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการตรวจสอบต่างๆ นาๆ ตามที่มีปรากฎเป็นข่าวว่า "เป็นขบวนการทำร้ายคนดี"

จึงเห็นได้ว่า สปสช.และ สสส.ต่างก็ "อธิบาย" เรื่องการตีความกฎหมายเป็นพิเศษแตกต่างจากคนทั่วไป ในขณะที่งบประมาณที่ สสส.แจกจ่ายให้แก่โครงการที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพนั้น ส่วนใหญ่แล้วมักจะตกไปถึงมือสื่อมวลชน (ทำให้สื่อมวลชนไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสสส.) หรือตกไปถึงมือพวกพ้องในกลุ่มสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา หรือองค์กรเอกชนต่างๆ เหมือนกับเงินที่ สปสช. "แจก" ให้แก่หน่วยงานที่ไม่ใช่ "หน่วยบริการ"ตามวัตถุประสงค์ของสปสช.

ฉะนั้น คสช. ต้องคิดวิเคราะห์แล้วว่า ทำไมองค์กรตระกูลส. จึงมีการตีความกฎหมายไม่เหมือนคนอื่น แต่ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนแก่กลุ่มพรรคพวกของตนเองและองค์กรเอกชนต่างๆ ซึ่งอย่างน้อยก็พบเบาะแสบ้างแล้วในสองส.คือ สปสช. และ สสส.

แต่ได้ทราบมาว่า คสช.และท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ตั้งกรรมการตรวจสอบ สวรส. แล้วเช่นกัน จึงน่าจะต้องตรวจสอบกระบวนการของคนที่ทำงานเชื่อมโยงกันทุก ส.ว่าเป้าหมายหมายสุดท้ายของ "กลุ่มสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" นั้นคืออะไรกันแน่

ยังมีอีก ส.หนึ่งที่ดูเหมือนไม่มีข่าวคราวการทุจริตประพฤติมิชอบหรือใช้จ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ คือสำนักงานสุขภาพแห่งชาติคือ สช. ที่มีหน้าที่จัดประชุม "สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ เฉพาะเรื่องและสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ"

ทั้งนี้ สช.เองนั้น มีหน้าที่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องนโยบายสุขภาพแล้วนำมาจัดทำเป็นธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ แล้วเอาไปมอบให้รัฐบาลยึดถือเป็นนโยบายที่จะต้องทำตาม

การทำงานในรูปแบบจัดประชุมสมัชชาเหล่านี้ ทำให้สช. โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ในฐานะเลขาธิการสช. ได้ใช้เวทีเหล่านี้สร้างฐานมวลชนทั่วทุกตำบล ทั้งเป็นการประชุมเกี่ยวกับสุขภาพหรือไม่เกี่ยวกับสุขภาพก็ทำมาแล้ว

ทั้งนี้การสร้างฐานมวลชนนี้ทำได้ โดยใช้การประชุม ที่เรียกว่าสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ มีหมออำพล จินดาวัฒนะเลขาธิการสช. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ได้จัดประชุม สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย "การปฏิรูปประเทศไทย"เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งในการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นครั้งนี้ นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวเรื่องสังคมแนวดิ่งทำให้เกิดปัญหาอำนาจรัฐรวมศูนย์ ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ก่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มีการทุจริตคอรัปชั่นมากมาย จึงต้องการให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นพลังอำนาจที่ 3 โดยการ "ติดอาวุธทางปัญญา" สร้างสันติวิธี มีความชอบธรรมและเชื่อมโยงการสื่อสารทางสังคมให้ครอบคลุม ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศต่อไป

และหลังจากหมดยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ โดยนพ.อำพล จินดาวัฒนะเลขาธิการสช.นั้นยังดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศต่อจากการทำงานสมัชชาปฏิรูปประเทศของนพ.ประเวศ วะสี (ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ )โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสสส.และสช.

จึงเห็นได้อีกเหมือนกันว่าสช.(สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ) ก็ใช้เงินงบประมาณไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานสุขภาพแห่งชาติอีกองค์กรหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน สปสช.รับผิดชอบในการ "สร้างบุญคุณแก่ชาวบ้าน" ในการรักษาฟรี (จะเพิ่มสิทธิให้ยาหรือการรักษาอะไร ก็ไปโฆษณาว่า สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้รักษาโน่นนี่นั่นเพิ่มเติม ทั้งๆ ที่งบประมาณก็มาจากภาษีประชาชนทั้งนั้น) เป็นการ "หาเสียงหรือหาคะแนนนิยม" ให้กลุ่มตระกูลส. ทั้งนี้หมอวิชัย โชควิวัฒน์เป็นประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ของสปสช. (ควบคุมกำกับการดำเนินงานของเลขาสปสช.) ในขณะเดียวกันก็ควบคุมกำกับทิศทางบอร์ด สสส. (นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานเมื่อนายกฯ และ รมต.สธ.ไม่เข้าประชุม)

สสส.มีที่ปรึกษาชื่อ นพ.ประเวศ วะสี ผู้ซึ่งขอรับเงินสนับสนุนจาก สสส.เอง และ สสส.แจกเงินวิจัยไปมากมาย (สร้างเครือข่ายจากเงินสสส.) ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ และ สสส.จึงสามารถขยายเครือข่ายไปสู่ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ผ่านการให้งบประมาณทำทุกงานวิจัย ยกตัวอย่างเช่นโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำของหัวหน้ากลุ่มสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา นพ.ประเวศ วะสี จัดการประชุม"สร้างผู้นำ"หลายรุ่น เพื่อขยายกลุ่มมวลชนให้ได้จำนวนมากหลาย ทั้งที่เป็นบุคลากรสาธารณสุข ผู้นำชุมขน สื่อมวลชนทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อ "เปลี่ยนสังคมจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ" ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนประเทศไทยในปี 2563 (ค.ศ. 2020)
กำลังโหลดความคิดเห็น