xs
xsm
sm
md
lg

ตีข่าว “ฆ่าตัวตาย” ละเอียด พบคนฆ่าตัวตายตาม 2-3 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต พบหลังตีข่าว “ฆ่าตัวตาย” แจงรายละเอียด วิธีการ มักพบคนฆ่าตัวตายตาม 2 - 3 คน เหตุมีปัญหาสุขภาพจิตเป็นทุนเดิม อ่อนไหวต่อข่าว ความเห็นเร้าอารมณ์ แนะลดความถี่การนำเสนอ งดส่งต่อภาพ - คลิปฆ่าตัวตาย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการฆ่าตัวตาย ว่า จากการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องพบว่า เมื่อมีกรณีการฆ่าตัวตายปรากฏในสื่อและมีการลงรายละเอียด วิธีการว่าลักษณะการฆ่าตัวตายเป็นไปอย่างไร มักพบว่าจะมีการฆ่าตัวตายในลักษณะเดียวกันตามมาหลังจากนั้นอย่างน้อย 2 - 3 คน ซึ่งการนำเสนอรายละเอียดของการฆ่าตัวตายนั้น ถือเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่เป็นทุนเดิม มีปัญหาของโรคซึมเศร้า มีความเครียดหรือมีปัญหาหนักในชีวิตที่หาทางออกในชีวิตไม่ได้ จะมีความอ่อนไหวต่อข่าว และความคิดเห็นทั้งในสื่อออนไลน์ หรือจากบุคคลรอบ ๆ ตัว ซึ่งการแสดงความเห็นโดยไม่ได้คิดก่อนว่าจะกระทบกับใคร แต่ผู้ที่มีปัญหาอยู่เดิมจะรู้สึกมากและอาจยิ่งคิดว่าอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์และตัดสินใจฆ่าตัวตายในลักษณะเดียวกัน ซึ่งในการนำเสนอภาพของการฆ่าตัวตายควรลดความถี่ในการนำเสนอลง เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ อย่าฉายภาพซ้ำ ๆ

ส่วนการนำเสนอภาพ หรือ คลิปวิดีโอ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่ยากจะควบคุม และปัจจุบันยังไม่มีกฎกติกาในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ชัดเจน แต่คนที่ใช้งานสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันดูแลการใช้งาน ด้วยการไม่ส่งออก ไม่ส่งต่อ หยุดการเผยแพร่สื่อ เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำความรุนแรง และไม่จัดทำข้อความประกอบภาพที่เสริมความรู้สึกเร้าอารมณ์ เช่น ใช้ข้อความว่า “ตายไปได้ก็ดี” จะกระทบกับกลุ่มคนที่อ่อนไหว ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ใช่ เราเป็นแบบนั้น และสมควรไปอีกคน รวมทั้งไม่นำเสนอวิธีการโดยละเอียด เพราะจะเป็นการสร้างทางเลือกที่ผิดให้กับกลุ่มคนที่อ่อนไหว และไม่เล่าเรื่องจนเหมือนเป็นบทละคร สิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำในการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะล้วนเป็นสิ่งที่เร้าอารมณ์ความรู้สึกทั้งสิ้น อย่าคิดว่าไม่กระทบกับคนอื่น แต่ความจริงเป็นเรื่องที่กระทบมากกับกลุ่มที่เปราะบาง” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จากสถิติพบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จะเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนอย่างน้อย 3 - 4 ครั้ง โดยพบว่าครั้งแรกมักจะทำไม่สำเร็จ หากไม่มีการช่วยเหลือหลังจากนั้น ก็จะมีความพยายามลงมือฆ่าตัวตายอีกจนเมื่อถึงครั้งที่ 3 - 4 ก็จะทำสำเร็จ โดยกลุ่มเป้าหมายที่กรมต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายสำเร็จ ประกอบด้วย 1. กลุ่มคนที่มีความตึงเครียดและกดดันจากสถานการณ์ในชีวิตจนหาทางออกไม่ได้ 2. กลุ่มผู้ป่วยที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งแพทย์ที่ให้การรักษาจะทราบอาการดีอยู่แล้ว จึงต้องหาวิธีการป้องกัน และ 3. ผู้ป่วยจากโรคทางกาย ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหดหู่ หมดกำลังใจ ท้อแท้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เสี่ยงจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว เมื่อมีปัญหาสุขภาพกายมาประกอบก็จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น