xs
xsm
sm
md
lg

ส่งทีมเยียวยาจิตใจเหยื่อเหตุบึ้ม วอนสื่อ-คนไปเยี่ยม เลี่ยงคำถามกระเทือนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ส่งทีมสุขภาพจิตเยี่ยมผู้รับผลกระทบเหตุบึ้ม ป้องกันเกิดปัญหาจิตใจ ซึมเศร้า โทษตัวเอง ขอผู้ไปเยี่ยม สื่อมวลชน เลือกให้กำลังใจ ไม่ย้อนถามถึงเหตุการณ์ หวั่นกระทบกระเทือนจิตใจ แนะ 4 อย่า ช่วยผ่านพ้นวิกฤตหลังเผชิญเหตุร้าย

วันนี้ (21 ส.ค.) นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข (วอร์รูม) กรณีเหตุระเบิดราชประสงค์ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ว่า สธ. ได้ดูแลผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ทั้งด้านการรักษาพยาบาล และการดูแลสุขภาพจิต ซึ่งขณะนี้ได้ส่งทีมสุขภาพจิตเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายแล้ว ผู้บาดเจ็บและญาติ พบว่ายังมีความเครียด จะติดตามอย่างต่อเนื่องทุกรายจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อเฝ้าระวังการเกิดบาดแผลทางใจ หรือที่เรียกว่า พีทีเอสดี

ขอความร่วมมือสื่อมวลชน ญาติ และเพื่อนที่ไปเยี่ยม หลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์หรือสอบถามรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจะกระตุ้นให้คิดถึงภาพเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ ทำให้เกิดความเครียดซ้ำเติม วิธีที่ดีที่สุดคือ การพูดการแสดงออกที่ให้กำลังใจ เพื่อให้ปรับตัวและก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤต กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้” นพ.พิทักษ์พล กล่าว

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมฯ ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย หรือทีม MCATT ลงพื้นที่ดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดแล้ว ทั้งนี้ หากพบมีความเครียดสูง มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจะรีบเข้าไปช่วยเหลือ พูดคุย ให้กำลังใจ ช่วยลดความเครียดลง สำหรับรายที่มีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง ท้อแท้ หรือเครียดมาก ๆ ถึงขั้นกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ อาจต้องให้ยาคลายความเศร้า หรือยาคลายความเครียด โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สะเทือนจิตใจ อาการร้องไห้ฟูมฟาย เศร้าโศกเสียใจ ที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ผิดปกติแต่อย่างใด แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ อาการที่อาจพบ เช่น โทษหรือตำหนิตัวเองอย่างมาก มีความรู้สึกผิดเกินจริง เสียความเชื่อมั่นในตัวเอง โทษหรือตำหนิตัวเองว่าเป็นสาเหตุให้บุคคลนั้นเสียชีวิต มีความคิดหรือความตั้งใจจะฆ่าตัวตาย เคลื่อนไหวเชื่องช้า หรือกระวนกระวายใจเป็นอย่างมาก และมีความผิดปกติทางจิต เช่น มีอาการประสาทหลอน ได้ยินคนที่เสียชีวิตไปแล้วมาพูดคุยด้วยอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมีอาการหลงผิด เช่น หลงผิดว่าตัวเองทำบาปกรรมในอดีต จึงถูกลงโทษ เป็นต้น

ในการดูแลจิตใจผู้สูญเสียให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นไปได้นั้น ขอแนะนำ 4 อย่า คือ 1. อย่าจมอยู่กับชีวิตตนเองคนเดียว ยอมรับความสูญเสียและอยู่กับความจริงในปัจจุบันให้ได้ แม้จะเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา 2. อย่าเก็บความรู้สึกเจ็บปวดไว้คนเดียว อาจร้องไห้ และพูดระบายความทุกข์ให้คนใกล้ชิดที่ไว้ใจรับฟังบ้าง เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย 3. อย่าโทษตนเองหรือคนอื่น เพราะไม่ได้ช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น และ 4. อย่าดื่มเหล้า หรือเสพสารเสพติดเพื่อช่วยลืมความเจ็บปวด” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า นอกจากนี้ ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง เข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ ในชุมชน ซึ่งจะช่วยดูแลจิตใจและลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวต่อไปได้ แต่หากไม่สามารถจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ หรือมีอาการซึมเศร้ารุนแรง ควรรีบพบจิตแพทย์โดยทันทีเพื่อรับการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ญาติ และครอบครัว ถือเป็นบุคคลที่จะช่วยสังเกต ดูแล เยียวยา และประคับประคองจิตใจผู้ที่ต้องประสบกับความสูญเสียให้ผ่านพ้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ โดยการรับฟัง ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ และไม่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้ความร่วมมือในการดูแลรักษา เช่นเดียวกับ สื่อมวลชนที่สามารถมีส่วนร่วมในการเยียวยาจิตใจครอบครัวที่ต้องประสบกับความสูญเสียได้ โดยเลือกใช้คำถามในการสัมภาษณ์ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึก มากกว่า การใช้คำถามแบบปลายปิดหรือชี้นำ เช่น ถามว่าโกรธหรือเกลียดคนที่ทำหรือไม่ เป็นต้น เพราะจะยิ่งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกให้แย่ลงไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น