ประชุมแจงแนวทางตามโรดแมป คสช. ย้ำแผน 3 ระยะ ก่อนมีเลือกตั้งต้น ต.ค. 58 รับจับปลุกระดมการเมืองยาก พัฒนาวิธีจัดการต่อ มอบ มท. จับมือหน่วยราชการ ตั้งศูนย์ดำรงธรรม ช่วย ปชช. เบ็ดเสร็จ เลขาฯ กกต. ย้ำ สรรหา สปช. ไร้บล็อกโหวต อธิบดีกรมกร๊วก รับ พบคลื่นใต้น้ำสร้างแตกแยก แนะ ยึดคำสั่ง คสช. เคร่งครัด นักการเมืองงดออกทีวี ไม่โจมตี คสช.
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ห้องบอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค มีการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตาม Road Map ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก่บุคคลากรกรมประชาสัมพันธ์ โดยมี นายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วย พ.อ.สุทัศน์ นาคพันธ์ รองผู้อำนวยการยุทธการ กองทัพภาคที่ 1 และรองหัวหน้าฝ่ายยุทธการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ในฐานะผู้แทนเลขาธิการ คสช. นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง และ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าร่วม
โดย พ.อ.สุทัศน์ กล่าวชี้แจงถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานของ คสช. ว่า คสช. กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานไว้ 3 ระยะ คือ ตั้งแต่เดือน พ.ค.- มิ.ย. 2557 จะเป็นช่วงการเตรียมการ เช่น การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อยุติความแตกแยก การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวนา การคลี่คลายเหตุด่วนเหตุร้ายต่างๆ รวมถึงการเตรียมการเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไขในช่วงแรก โดยอาศัยอำนาจ คสช. ส่วนระยะที่ 2 คือ ช่วงเดือน ก.ค. 2557 เป็นต้นไป ถือเป็นระยะปัจจุบัน ที่จะต้องจัดให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้กระบวนการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยสมบูรณ์ มีการเลือกนายกรัฐมนตรี มีคณะรัฐมนตรี จนมาถึงการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยการเปิดรับการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็น สปช. เพื่อเข้าไปดำเนินการสรุปปัญหาทั้ง 11 ด้าน และขับเคลื่อนกลไกการปฏิรูป ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลตามปกติต่อไป และในระยะที่ 3 ซึ่งถือเป็นระยะสุดท้ายตั้งแต่เดือน ส.ค. 2558 เป็นต้นไป หลังจากมีการดำเนินการตามระยะที่ 2 เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการเลือกตั้งและรัฐบาลตามปกติในการบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงเดือน ต.ค. 2558 ต่อไป
ส่วนปัญหาการใช้สื่อปลุกระดมทางการเมือง ทำให้ประชาชนแตกแยก แม้จะมีกฎหมาย แต่การดำเนินการพวกนี้ค่อนข้างจะจับยาก เจ้าหน้าที่คงต้องพัฒนากรรมวิธีดำเนินการต่อไป การปลุกระดมทางการเมืองโดยใช้สื่อนั้น อย่าไปหลงเชื่อ ให้ใช้วิจารณญาณแยกแยะ นอกจากนี้ การจัดการคลื่นใต้น้ำให้สงบนิ่งหรือหายไปได้นั้น เรื่องนี้คงแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง มีการพูดคุยสร้างความเข้า ใครทำผิดก็ดำเนินการตามกฎหมาย
ด้าน นายกฤษฎา กล่าวว่า กลไกกระทรวงมหาดไทย มีทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ซึ่งคนของกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ 2 หน้าที่ นอกจากจะทำหน้าที่ในงานของกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่นำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาของประชาชน ซึ่ง คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 96 ที่กำหนดให้จังหวัดต่างๆ ตั้งศูนย์ดำรงธรรม โดยหลักการของ คสช. ในช่วงที่ 2 ที่ให้ข้าราชการทุกหน่วยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ การที่ คสช. ให้ทุกหน่วยร่วมกันทำนั้น ไม่ใช่งานของกระทรวงมหาดไทยอย่างเดียว เช่น การปล่อยน้ำเสียลงคลอง หน้าที่รับผิดชอบโดยตรงแล้วน่าจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เมื่อมีศูนย์ดำรงธรรมแล้ว เราก็สามารถเข้าไปสนับสนุนได้ เพื่อไปเติมเต็มส่วนราชการที่ไม่อยู่จังหวัดและอำเภอในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
ขณะที่ นายภุชงค์ กล่าวว่า โรดแมปส่วนที่ 2 สิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ได้พูดถึงแนวทางดูแล ปฏิรูปบ้านเมือง มี 48 มาตรา แต่ครอบคลุมสิ่งที่ต้องแก้ไขพัฒนา สถาบันที่เป็นหลักคือคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสถาบันควบคู่ 2 สถาบัน คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดย สปช. มีหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่สะสมมานาน ที่สำคัญที่สุดจะเป็นช่องทางรับปัญหาต่างๆ จากข้อเสนอประชาชน ทั้งนี้ เมื่อ สปช. มีสมาชิกครบทั้ง 250 คนแล้ว จะต้องมีการจัดตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อีก 36 คน โดยรับข้อมูลจากทุกด้าน เพื่อนำไปยกร่างรัฐธรรมนูญ และนำมาเสนอให้ปรับปรุงแก้ไข และสุดท้าย สปช. จะเป็นผู้ยอมให้รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ
สำหรับการสรรหา สปช. ที่คณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้าน จะเริ่มประชุมเร็วขึ้นหนึ่งวัน ในวันที่ 12 ก.ย. นี้ ซึ่งสถานที่ยังไม่ระบุ แต่ทั้งนี้ในส่วนคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด เมื่อคณะกรรมการสรรหา 11 ด้าน ได้เริ่มประชุม คณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดสามารถประชุมคู่ขนานและอาจคัดเลือกบุคคลจังหวัดละ 5 คน ได้แล้วเสร็จภายในการประชุม 1-2 ครั้ง ซึ่งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกจากทั้ง 2 ส่วน จะต้องเป็นความลับ จนกว่าจะมีการประกาศจาก คสช. ในวันที่ 2 ต.ค. นี้
“ขอยืนยันว่า คณะกรรมการสรรหาทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด ไม่มีการบล็อกโหวต แน่นอน เพราะดำเนินการตามนโยบายของ คสช. ต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องโปร่ใส ใช้ดุลพินิจที่โปร่งใส เชื่อว่า ภายในวันที่ 2 ต.ค. นี้ จะต้องได้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 250 คน แบ่งเป็นส่วนกลาง 173 คน ระดับจังหวัด 77 คน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปของประเทศต่อไป” นายภุชงค์ กล่าว
ด้าน นายอภินันท์ กล่าวว่า สำหรับการทำงานของกรมประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติการข่าวสารยังต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง แม้ว่าจะมีรัฐบาล มีคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่จบ มีการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มมีแนวโน้ม ทำให้บ้านเมืองแตกแยก ดังนั้น จึงต้องยึดคำสั่งและประกาศ คสช. โดยเฉพาะ 3 ฉบับ คือ 79, 97 และ 103 ต้องยึดหลักปฏิบัติตาม 3 ประการ คือ 1. ห้ามนำบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองมาออกรายการ 2. เนื้อหาการดำเนินการรายการ ต้องไม่โจมตี คสช. รัฐบาล วันนี้ขอไว้ก่อน เพราะอาจทำให้เข้าใจผิดซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือผู้นำต่างๆ และ 3. รายการที่จัดต้องเป็นการบันทึกเทป เพื่อจะได้ตรวจสอบเนื้อหาได้ว่าล่อแหลมหรือไม่ ขอให้ระวังทำตามประกาศเคร่งครัด ห้ามโฟนอินแม้กระทั่งรายการเพลง เพราะอาจจะมีการแสดงความคิดเห็น เรามีคลื่นวิทยุ 147 คลื่น มีคณะกรรมการติดตามข่าวการทำงานตลอดเวลา ติดตามหนังสือพิมพ์ทุกฉบับว่าสร้างความขัดแย้งหรือไม่ แม้กระทั่งไลน์ เฟชบุ๊ก มีการติดตามตลอด ช่องไหน คลื่นไหน ต้องมีการตักเตือน เราต้องรักษางานเราให้ได้ ใจเย็นๆ นิดนึง เราจะมีความสุขเหมือนเดิม เหมือนบ้านเมืองติดโรคร้าย ต้องมีการผ่าตัด เมื่อโรคหายก็จะมีความสุขอย่างแท้จริง ขอเน้นย้ำถึงการทำงานของพวกเรา ต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการประชาชนหลายคลื่นได้ทำงานอย่างดี
นายอภินันท์ กล่าวว่า การกำกับดูแลสื่อเรายังต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ ถ้าปล่อยสู่สถานะเดิม สิ่งที่ทำมาแต่ต้นไม่เกิดประโยชน์ บ้านเมืองกำลังเข้าสู่ตามโรดแมป โดยให้เปิดวิทยุชุมชน ดาวเทียม แต่ยังห่วงใยอยู่ ไม่อยากให้ดำเนินการเหมือนเดิม เพราะจะไปสู่ความหายนะ แม้กระทั่งวิทยุชุมชน ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบ กสทช. ขณะนี้มีวิทยุไม่เข้าระบบตามหลักเกณฑ์ มีบางแห่งขายยาผีบอก ขัดต่อกฎหมายอาหารและยา สิ่งเหล่านี้มันต้องควบคุมไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ