ผ่าประเด็นร้อน
มีการประกาศอย่างชัดเจนออกมาจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุม คสช.ครั้งที่ 13 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมายืนยันว่ายังไม่มีการยกเลิกประกาศ “กฎอัยการศึก” แต่ได้มอบหมายให้ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบไปพิจารณาสรุปสถานการณ์ในภาพรวมของประเทศ เพื่อหาทางผ่อนคลาย ปรับลดในอนาคตต่อไป แต่ยืนยันว่า “ไม่ใช่ในช่วงนี้”
แน่นอนว่ายังไม่มีความคิดในการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกในช่วงเวลานี้หรือช่วงเวลาอันใกล้นี้ แต่ที่เป็นไปได้ที่สุดก็คือ แค่การ “ผ่อนคลาย” นั่นคืออาจยกเลิกในบางพื้นที่จากการประกาศบังคับทั่วประเทศ หลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นมา
สำหรับพื้นที่ที่อาจมีการผ่อนคลายในอนาคต น่าจะเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว หรือเขตเศรษฐกิจบางแห่งที่ไม่มีความอ่อนไหว ซึ่งเชื่อว่าหากมีการประกาศ “ผ่อนคลาย” ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นหลังรัฐบาลเข้าบริหารบ้านเมืองไปสักระยะหนึ่งแล้วจนเกิดความมั่นใจ
การออกมาแสดงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีขึ้นเพื่อความชัดเจน หลังจากก่อนหน้านี้มีเสียงเรียกร้องโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่แม้ว่าจะไม่ได้ยืนยันหนักแน่นนัก แต่เชื่อว่าต้องการให้มีการยกเลิก เนื่องจากเห็นว่าการคงไว้ซึ่งประกาศใช้กฎอัยการศึกแบบนี้มีผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยว
แน่นอนว่าในความเป็นจริงอาจไม่ได้กระทบกับบรรดาประเทศในแถบเอเชีย และอาเซียน ที่เคยชิน รับรู้กับการรัฐประหารยึดอำนาจ รวมทั้งการประกาศใช้ “กฎอัยการศึกแบบไทยๆ” ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันจนเกินไป แต่สำหรับประเทศในแถบยุโรปและตะวันตกส่วนใหญ่ล้วนมองเป็นภาพลบ มีผลต่อเนื่องทั้งเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างหลังทำให้แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวยังไม่ค่อยได้ผล แม้ว่าสาเหตุที่จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดกันไว้ส่วนหนึ่งมาจากสภาพความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในแถบยุโรปเอง แต่อีกด้านหนึ่งในความเป็นจริงการคงกฎอัยการศึกเอาไว้ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจาก “ประกันภัยการท่องเที่ยว” นักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องเบนเข็มไปทางประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทำให้เสียโอกาสไปไม่น้อย
ขณะเดียวกัน เงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจก็สร้างปัญหานั่นคือ จากสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางในแถบยุโรปส่งผลกระทบมาถึงการส่งออกของไทยด้วย โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมล่าสุดการส่งออกของเรากลับมาติดลบ ราคาสินค้าการเกษตรหลักๆ ยังตกต่ำ ปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดการประท้วง จนมีการผสมโรงกันได้ง่าย ที่สำคัญยังมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบคลื่นใต้น้ำอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยเท่าที่เห็นก็มี “กลุ่มเสรีไทยฯ” ที่นำโดย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และจักรภพ เพ็ญแข ที่มีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงเครือข่ายคนเสื้อแดงบางกลุ่มก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการแจกใบปลิวโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าในภาพรวมถือว่าไม่ใช่เป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ แต่หากปล่อยไปก็อาจขยายบานปลายออกไปได้ เนื่องจากยังมีเงื่อนไขที่อ่อนไหวรองรับอยู่
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช.แม้เวลานี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมทั้งรัฐบาลก็ตาม แต่ถึงอย่างไรในบรรยากาศแบบนี้ก็ต้องการให้ “นิ่งนานที่สุด” ด้วยเหตุผลที่ว่า “อีกไม่นาน” เท่านั้น อีกทั้งมีการใช้อำนาจจริงอย่างจำกัดเท่านั้น แต่ก็นั่นแหละอีกด้านหนึ่งการมีกฎอัยการศึกมันก็ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าต้องเลือกหนทางให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด นั่นคือการ “ผ่อนคลาย” แต่แน่นอนว่าไม่ยกเลิกแน่นอน
เชื่อว่านับจากนี้ไปสิ่งที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะต้องเร่งทำก็คือการชี้แจงถึงความจำเป็นในการเข้ามายึดอำนาจ และการปฏิรูปทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งจะเดินไปตามโรดแมปที่วางเอาไว้
คำถามก็คือจะได้ผลแค่ไหน ขณะเดียวกัน สิ่งที่เห็นก็คือแม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่สถานการณ์ความมั่นคงยังไม่เต็มร้อย จึงปล่อยมือไม่ได้!