อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
ในที่สุด คดี นปก.หรือชื่อใหม่ นปช. บุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เกิดขึ้นมากว่า 8 ปีแล้วก็เริ่มมีบทสรุป แม้จะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่การที่ศาลตัดสินจำคุกแกนนำ นปก. 4 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ถือว่าไม่ธรรมดา และน่าจะสะท้อนได้ระดับหนึ่งว่า พฤติการณ์ของแกนนำ นปก.สร้างความเสียหายเพียงใด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การนำผู้ชุมนุมบุกไปปราศรัยด่าทอกดดันให้ พล.อ.เปรม ลาออกจากประธานองคมนตรีเท่านั้น แต่ยังก่อจลาจลทำลายทรัพย์สิน และทำร้ายเจ้าหน้าที่อีกด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : ย้อนรอย นปก. บุกบ้าน “ป๋าเปรม” ... กรรมเริ่มตามทันแกนนำแล้ว!!
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากท้องสนามหลวงบุกไปหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และปักหลักปราศรัยโจมตีด่าทอ พล.อ.เปรม ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคาย กล่าวหาว่า พล.อ.เปรมอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 พร้อมกดดันให้ พล.อ.เปรมลาออกจากประธานองคมนตรีฯ ตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงดึกวันดังกล่าว โดยระหว่างการเคลื่อนขบวนของกลุ่ม นปก.ได้มีการฝ่าจุดสกัดของเจ้าหน้าที่หลายจุด พร้อมทำลายแผงเหล็กกั้นและทุ่มทิ้งลงคลอง นอกจากนี้ยังมีการยึดรถขยะของ กทม.ที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าว พร้อมทำร้ายร่างกายคนขับรถขยะ ไม่เท่านั้นยังมีการยึดรถเมล์และเจาะลมยางเพื่อปิดถนนบริเวณแยกสี่เสาฯ ด้วย
หลังยึดหน้าบ้านสี่เสาฯ และปราศรัยด่าทอ พล.อ.เปรม ตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ แกนนำได้ประกาศว่าจะปักหลักโจมตีจนกว่า พล.อ.เปรมจะลาออก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจสลายการชุมนุม เพราะเกรงว่าหากการชุมนุมยืดเยื้อถึงวันรุ่งขึ้นจะกระทบต่อการจราจรและคนทำงาน เจ้าหน้าที่จึงได้พยายามยุติการชุมนุมด้วยการปีนรถปราศรัยเพื่อควบคุมตัวแกนนำ นปก. แต่กลับถูกแกนนำ นปก.บนรถถีบลงมา ขณะที่ม็อบแนวร่วม นปก.ก็ฮือเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่มีเพียงโล่ป้องกันตัว จึงเกิดความชุลมุน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องถอยร่นกลับที่ตั้ง
ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามสรรหาทุกอย่างเป็นอาวุธเพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายทรัพย์สินราชการบริเวณนั้น โดยอาวุธของม็อบดังกล่าว มีทั้งไม้หน้าสาม, เก้าอี้, ด้ามธงชาติ, ด้ามร่ม, กระถางต้นไม้ ขนาดอิฐตัวหนอนปูพื้นยังถูกม็อบดังกล่าวงัดขึ้นมาใช้เป็นอาวุธ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความพยายามถึง 4 ครั้งกว่าจะทำให้การชุมนุมยุติได้ โดยแกนนำ นปก.และแนวร่วมต่างถอยร่นกลับไปปราศรัยต่อที่สนามหลวงในเวลาเกือบเที่ยงคืน แต่ก่อนจาก แนวร่วม นปก.บางคนยังได้ขับรถกระบะพุ่งเข้าชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บขาหัก 2 นาย แต่สุดท้ายคนขับรถกระบะดังกล่าวก็ถูกควบคุมตัว คือ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 และเป็น 1 ในแกนนำคนสำคัญของ นปก. โดยถูกควบคุมตัวพร้อมกับแนวร่วมที่ก่อความวุ่นวายอีก 5 คน
สำหรับเหตุจลาจลที่เกิดจากม็อบ นปก.ครั้งนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 200 นาย ขณะที่ฝ่ายม็อบบาดเจ็บประมาณ 30 คน โดยหลังเกิดเหตุ 1 วัน แกนนำ นปก.รีบออกมาแถลงข่าวปฏิเสธว่าฝ่ายตนไม่ได้ก่อความรุนแรง แต่เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ที่ยั่วยุก่อนและใช้กำลังสลายการชุมนุม รวมทั้งมีมือที่สามร่วมก่อกวน
ด้าน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้เข้าขอโทษ พล.อ.เปรม (23 ก.ค. 2550) ที่ให้การดูแล พล.อ.เปรมไม่ดี โดยมีรายงานว่าในคืนเกิดเหตุ พล.อ.เปรมก็พักอยู่ในบ้านสี่เสาฯ และต้องทนฟังม็อบ นปก.ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายเป็นเวลานานถึง 6 ชม. อย่างไรก็ตาม พล.อ.เปรมได้บอกกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ ที่นำ ครม.เข้าให้กำลังใจ (24 ก.ค. 2550) ว่า ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เครียด แต่ไม่คิดว่าผู้ชุมนุมจะใช้คำพูดที่หยาบคาย ยั่วยุ และกล่าวหาซ้ำซากและเป็นเท็จ พล.อ.เปรม ยังได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในวันต่อมา (25 ก.ค. 2550) ด้วยว่า ไม่หวั่นไหวและไม่ท้อถอย ตนทำงานให้ชาติบ้านเมืองมาเยอะแล้ว และจะทำตลอดไปจนตาย
สำหรับการดำเนินคดีผู้ก่อความวุ่นวายครั้งนี้ พล.ต.ต.เจตน์ มงคลหัตถี รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ได้ขอศาลอาญาเพื่อออกหมายจับแกนนำ นปก.9 คน ประกอบด้วย นายวีระ (วีระกานต์) มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ,นพ.เหวง โตจิราการ ,นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ, นายอภิวันท์ วิริยะชัย และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ในความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งหมดได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะขอศาลฝากขัง ซึ่งทั้งหมดได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ก่อนทยอยขอประกันตัวในเวลาต่อมา โดยศาลตั้งเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาประพฤติตนในลักษณะที่จะนำไปสู่การกระทำผิดแบบเดิมอีก และห้ามให้สัมภาษณ์ในลักษณะยั่วยุให้ประชาชนเข้าใจผิดหรือเกิดความแตกแยก มิฉะนั้นจะถอนประกันทันที
ต่อมา วันที่ 30 ส.ค. 2550 พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสั่งฟ้อง 15 นปก.ที่ก่อจลาจลบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ พร้อมส่งสำนวนและพยานหลักฐานให้อัยการ โดยยื่นพยานเอกสารจำนวน 15 แฟ้ม กว่า 4,500 หน้า ขณะที่พยานบุคคลมีกว่า 300 ปาก แผ่นวีซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์ 67 แผ่น และบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำ นปก.บนเวทีอีกกว่า 400 แผ่น ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง 15 นปก.โดยแยกออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก 10 คน ประกอบด้วย นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล, นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, นพ.เหวง โตจิราการ, พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ...เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกกระทำการดังกล่าวแล้วไม่เลิก ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นต้น โดยมีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี
ส่วนแนวร่วม นปก.ชุดที่ 2 ที่พนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง ประกอบด้วย นายบรรธง สมคำ, ม.ล.วีระยุทธ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา หรือนายพิชิต เพียโคตร, นายศราวุธ หลงเส็ง, นายวีระศักดิ์ เหมธุริน และนายวันชัย นาพุทธา โดยมีความผิดในทำนองเดียวกับแกนนำ นปก.ชุดแรก ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปีเช่นกัน ด้านอัยการ (นายเสริมเกียรติ วรดิษฐ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา) ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาสั่งคดีเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
เกือบ 2 ปีต่อมา (27 มี.ค. 2552) นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เผยความคืบหน้าของคดีนี้ว่า อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเกือบทั้งหมด (13 ราย จาก 15 ราย) โดยให้เหตุผลว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ดังกล่าวเป็นไปอย่างเปิดเผย ไม่มีอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ มีผู้ต้องหาเพียง 2 รายที่อัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ฐานทำร้ายร่างกายบุคคลอื่นในการชุมนุม เป็นที่น่าสังเกตว่า อัยการได้สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้ตั้งแต่ 2 เดือนก่อนหน้าแล้ว แต่ไม่ยอมเปิดเผยต่อสื่อมวลชน กระทั่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำ นปช.ออกมาให้ข่าวในภายหลังว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ไปกว่า 2 เดือนแล้ว ส่งผลให้อัยการต้องยอมเปิดปากถึงความคืบหน้าคดีนี้ว่ามีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้วจริง
อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาเผยด้วยว่า หลังมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้ว ได้ส่งความเห็นพร้อมสำนวนกลับไปให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พิจารณา ว่าจะมีความเห็นแย้งกับทางอัยการหรือไม่ หาก ผบ.ตร.เห็นแย้งก็ต้องให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่
ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท ได้มีความเห็นแย้ง โดยเห็นควรสั่งฟ้องแกนนำในทุกข้อหา จากนั้นอัยการจึงเสนอให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้ขาดอีกครั้ง ซึ่งอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่นตามความเห็นแย้งของ ผบ.ตร.
สำหรับคดีนี้ แบ่งออกเป็น 2 สำนวน สำนวนแรก จำเลยมี 7 คน ประกอบด้วย 1. นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 206 2. นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน 3. นายวันชัย นาพุทธา 4. นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 5. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 6. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ 7. นพ.เหวง โตจิราการ สำนวนที่ 2 มีผู้ต้องหา 8 คน ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย, นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ, นายบรรธง สมคำ, ม.ล.วีระยุทธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หรือนายวิชิต เพียโคตร, นายศราวุธ หลงเส็ง, พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เสียชีวิตแล้ว และนายจักรภพ เพ็ญแข หลบหนีอยู่ต่างประเทศ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ศาลอาญาได้พิพากษาสำนวนแรกแล้ว โดยจำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ 4-7 คือ นายวีระกานต์-นายณัฐวุฒิ-นายวิภูแถลง-นพ.เหวง มีความผิด 3 ฐาน คือฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ โดยกระทำความผิดเป็นหัวหน้า ให้จำคุกคนละ 3 ปี , ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน สั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก จำคุกคนละ 2 ปี และฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน รวมเป็น 6 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4-7 เป็นเวลา 4 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2-3 ยกฟ้อง
ขณะที่สำนวนที่ 2 ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 แต่จำเลยเดินทางมาศาลไม่ครบ มีเพียงนายจตุพร และนายศราวุธที่เดินทางมา อัยการโจทก์และฝ่ายจำเลยจึงได้แถลงต่อศาล ขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไป ซึ่งอัยการได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ติดตามตัวผู้ต้องหาที่เหลือมาศาล โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 21 ต.ค. 2558 เวลา 09.00 น.