xs
xsm
sm
md
lg

วงการสงฆ์แตก! “3 เงื่อนไข” ปิดฉากสมเด็จช่วงขึ้นสังฆราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วงการสงฆ์ป่วน แบ่งขั้วหนุนและต้านการสถาปนาสมเด็จช่วงเป็นสังฆราชองค์ที่ 20 พบหลังฉาก พระเมธีธรรมาจารย์ มีเครือข่ายธรรมกายและแกนนำนปช.ชัดเจน ด้าน ไพบูลย์ นิติตะวัน แจง 3 เงื่อนไข ทำให้สมเด็จช่วงหมดโอกาสได้เป็นสังฆราช ส่วนพระธัมมชโย เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย สอดคล้องกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ยัน ไม่ว่าสงฆ์หรือฆราวาสต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน!

การที่พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) หรือเจ้าคุณประสาร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้นำพระสงฆ์และฆราวาสร่วมชุมนุมที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 จนทำให้ภาพลักษณ์ของวงการสงฆ์เสียหายดังที่ปรากฏเป็นภาพพระสงฆ์เข้ารัดคอทหารที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบอยู่บริเวณนั้น พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย 2. ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามที่กระทำสืบกันมา คือการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ทางรัฐบาลจะต้องปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม (มส.) ก่อน

3. ขอให้นายกฯ ยึดถือดำเนินการตามมติ มส.ที่มีการเสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช 4. ขอให้ทางรัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพ เอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย 5. ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดีการที่ พระเมธีธรรมาจารย์ ได้นัดรวมพลยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลนั้น เพราะใกล้ถึงวันที่จะมีการสรุปคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ที่อยู่ระหว่างจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ต้องมีเรื่องมัวหมองเกิดขึ้น โดยเฉพาะการครอบครองรถเบนซ์เลี่ยงภาษี หรือกรณีสหกรณ์คลองจั่นฯ ที่เกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ถูกข้อครหาเชื่อมโยงมายังสมเด็จช่วงโดยตรงว่าหากได้ขึ้นเป็นพระสังฆราชจะทำให้ศาสนาพุทธเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่ลัทธิธรรมกาย

นอกจากนี้ยังมีความพยายามเร่งรัดให้คดีปลอมพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ให้พระธัมมชโยปาราชิก สิ้นสุดลง โดยใช้มติของมหาเถรสมาคมเป็นตัวชี้ขาด

“มส.มีมติเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชให้พระธัมมชโยปาราชิกนั้นสิ้นสุดไปแล้ว และด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เจ้าคณะจังหวัดไม่สามารถจะรื้อฟื้นขึ้นมาได้ และ มส.ไม่มีอำนาจ”

ดังนั้นเมื่อใกล้วันที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะต้องตอบคำถามต่อรัฐมนตรีสำนักนายกฯ เพื่อนำไปรายงานพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใน 2 ประเด็นหลัก คือ รถเบนซ์และความสัมพันธ์กับพระธัมมชโย จึงเป็นสาเหตุให้บรรดาศิษยานุศิษย์ของเครือข่ายเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวกดดัน เพราะหากสมเด็จช่วงวัดปากน้ำสามารถหลุดพ้นมลทินต่างๆ ได้แล้ว ก็จะนำไปสู่การสถาปนาสมเด็จช่วงขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ได้โดยไม่มีข้อติดขัดใดๆ
การส่งไลน์แจ้งข่าวภายในวัดพระธรรมกาย  เพื่อให้พระและฆราวาสเข้าร่วมชุมนุม
“ธรรมกาย-นปช.-พระเมธี” เครือข่ายเดียวกัน

อย่างไรก็ดีในการออกมาเคลื่อนไหวกดดันนั้นได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวางถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ ส่วนกลุ่มสงฆ์ที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้แต่งตั้งสมเด็จช่วงนั้น มีทั้งเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.)

ที่น่าสนใจ คือ การเดินทางไปยื่น 5 ข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า วัดพระธรรมกายเป็นรายใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมครั้งนี้ด้วย เพราะปรากฏว่ามีทนายความของพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย ยืนอยู่ข้างพระเมธีธรรมาจารย์ ซึ่งสอดคล้องกับการแจ้งข่าวภายในของวัดพระธรรมกาย ที่มีการส่งผ่านไลน์ เพื่อระดมให้พระและฆราวาสเข้าร่วมสัมมนา “สกัดแผนล้มการปกครองคณะสงฆ์ไทย”
พระเมธีธรรมาจารย์ และนายสัมพันธ์ เสริมชีพ(เสื้อขาว) ทนายความส่วนตัวพระธัมมชโย ร่วมแถลงข่าว
ขณะเดียวกัน อดีตแกนนำ นปช. อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ นายจักรภพ เพ็ญแข และนายแพทย์เหวง โตจิราการ ก็เปิดตัวสนับสนุนอย่างชัดเจน โดยหลังการชุมนุมของพระได้ออกมาให้ความเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายในการชุมนุม รวมทั้งเร่งรัดให้มีการสถาปนาสมเด็จช่วงขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่อีกด้วย

หลวงปู่พุทธอิสระจี้เอาผิดพระเมธีฯ

หลังเหตุการณ์ม็อบพระเกิดขึ้น ฝ่ายตรงข้ามซึ่งในโลกโซเชียลตั้งฉายากันว่าสองมือปราบอลัชชี ได้ออกมาเคลื่อนไหว ตั้งแต่ “หลวงปู่พุทธอิสระ” แห่งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้นำเอกสารเข้าแจ้งความดำเนินคดี “พระเมธีธรรมาจารย์” และสมาคมนักวิชาการเพื่อพุทธศาสนา รวมทั้งตัวแทนวัดพระธรรมกาย ที่ร่วมกันบุกรุกพุทธมณฑล และชุมนุมโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากละเมิดพ.ร.บ.การชุมนุม ตามข้อบังคับของ คสช. และไม่ได้ขออนุญาตจากทาง คสช. หรือผู้แทนของจังหวัดนครปฐมแต่อย่างใด

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ตั้งข้อสังเกตถึงสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างสมเด็จช่วง กับธรรมกาย นำไปสู่การฝ่าฝืนพระลิขิตของพระสังฆราชจนต้องอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย รวมทั้งการกระทำที่ผิดพระธรรมวินัย และผิดกฎหมาย กรณีครอบครองรถหรูเลี่ยงภาษี ที่ได้สรุปผลจาก DSI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เหตุการณ์นี้ถือเป็นการเปิดหน้าตักอย่างชัดเจนว่าผู้สนับสนุนแต่ละฝั่งมีที่มาที่ไปและความเกี่ยวข้องกันอย่างไร แม้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างใช้เหตุผลการกระทำเพื่อทำนุบำรุง และปกป้องพระพุทธศาสนาก็ตาม

3 ปมสำคัญชี้ขาดตั้งสังฆราชองค์ใหม่

นายไพบูลย์ ย้ำว่า ข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการสถาปนาสมเด็จช่วงขึ้นเป็นพระสังฆราช ได้หรือไม่นั้น อยู่ที่เงื่อนไข 3 ประการคือ

ประการที่ 1 คือการเสนอชื่อของมหาเถรสมาคม และรออยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น หากว่าผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า ไม่เป็นไปตามมาตรา 7 ผิดขั้นตอนของกฎหมายก็ต้องถือเป็นโมฆะ

ประการที่ 2 หากดีเอสไอวินิจฉัยว่า รถเบนซ์ที่อยู่ในครอบครองของสมเด็จช่วง มีการหนีภาษีและมีการแจ้งส่วนประกอบที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้สมเด็จช่วงขาดคุณสมบัติตามประเพณี ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ตามมาตรา 7 วรรคสองของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

ประการที่ 3 หากดีเอสไอได้ส่งฟ้องพระธัมมชโย แล้วตรวจพบว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสมเด็จช่วงและพระธัมมชโย ไม่ว่าจะทางด้านการเงินหรืออื่นๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะเป็นปัญหาเรื่องคดีความเกิดขั้น
การชุมนุมที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
จากสถานการณ์ที่ผ่านมาในการแต่งตั้งของมหาเถรสมาคม จึงดูเสมือนว่า “การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช” เป็น “การตั้งแบบนักการเมือง” คือใช้เสียงเรียกร้องจากมวลชน มาสนับสนุน หรือมาเป็นเครื่องมือต่อรอง และยังมีการออกมากดดันเรียกร้องไม่ให้อำนาจรัฐเข้ามาก้าวก่ายในคณะสงฆ์ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการเป็นรัฐอิสระปกครองตัวเองแบบวาติกัน ซึ่งในรูปแบบนี้ต่างจากพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง

ในการออกมาเรียกร้องของเครือข่ายพระเมธีธรรมาจารย์ ไม่ให้ใครเข้าไปแทรกแซงการปกครองคณะสงฆ์ได้นั้น อาจเกิดจากพระสงฆ์กลุ่มนี้ไม่ทันคิดว่า ที่จริง มหาเถรสมาคมมีอำนาจขึ้นมาได้นั้น เพราะกฎหมายที่ฆราวาสบัญญัติ ซึ่งถ้ายกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์แล้วยกร่างขึ้นใหม่โดยให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่แทนพระศาสดา ให้เป็น พ.ร.บ.ทั้งศาสนาที่ครอบคลุมพุทธบริษัททั้ง 4 ให้มาร่วมกันดูแลพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เกิดความล้มเหลวในแบบเดิม

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปสงฆ์ ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ เพื่อกลับไปสู่พระธรรมวินัยให้ได้ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยมีแต่พระภิกษุสงฆ์ที่มีคุณภาพและคุณธรรม รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกาจะเข้มแข็งและช่วยกันทำนุบำรุงศาสนาไว้ได้เป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่ต้องจับตาจากนี้ไปก็คือ หากผลการสอบสวนของดีเอสไอ และผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาส่งผลให้สมเด็จช่วงไม่สามารถได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ และพระธัมมชโยต้องปาราชิกพร้อมถูกดำเนินคดี จะเกิดอะไรขึ้นในวงการสงฆ์

เนื่องเพราะคำกล่าวของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ว่า ข้อเรียกร้องของคณะสงฆ์ห้ามไม่ให้รัฐบาลไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการสงฆ์ ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดี เพราะไม่ว่าสงฆ์หรือฆราวาสต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน!

กำลังโหลดความคิดเห็น