ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงวันนี้ นับได้ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว หลังจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณารายมาตรา สรุปเบ็ดเสร็จมีทั้งหมด 285 มาตรา และได้ชี้แจงกับกลุ่มสมาชิกสภาปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้ง 8 กลุ่มที่เสนอคำขอแก้ไขไปแล้ว เมื่อวันที่ 19-20 ส.ค.ที่ผ่านมา
แทบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารราชการแผ่นดิน แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ สังคม การคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุข กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มเศรษฐกิจ เมื่อออกจากห้องประชุมมา ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกพอใจ ที่ข้อเสนอได้รับการบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และรับได้กับร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมา
ประเมินว่าใน การลงมติในชั้นสปช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายน ที่จะถึงนี้ ผ่านแน่นอน โดยเฉพาะการลงมติครั้งนี้ใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล มีการถ่ายทอดผ่านสื่อ แถมมีเก้าอี้ สภาขับเคลื่อนปฏิรูป รออยู่ข้างหน้าอีก 200 ที่นั่ง จึงเชื่อได้ว่า น้อยคนนักที่จะโหวตให้ไม่ผ่าน
จากนั้นค่อยไปลุ้นในการทำประชามติ ว่าประชาชนจะรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญนี้
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในช่วงสุดท้าย ก่อที่จะได้บทสรุปเป็นร่างตัวจริงนี้ แทบจะถูกปิดลับ ประชาชนทั่วไปไม่มีใครรู้เลยว่า มีเนื้อหาว่าอย่างไรบ้าง เนื่องจากกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการพิจารณา และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว ทางโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในรายละเอียด แม้กระทั่งช่วงที่กรรมาธิการยกร่างฯ นัดชี้แจงกับกลุ่มต่างๆที่เสนอคำขอแก้ไข ก็ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าฟังด้วย
เรื่องที่กรรมาธิการยกร่างฯ แถลงในช่วงสุดท้ายนี้เห็นจะมีเพียงแค่ 2 เรื่อง คือ 1 . เรื่องที่มาของ ส.ว. โดยให้มีส.ว. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และจากการสรรหา 123 คน ซึ่งในส่วนของ ส.ว.สรรหาชุดแรก จะมาจากการเลือกของครม. มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี ส่วนเรื่องที่ 2 คือให้มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม หลังจาก สปช.ได้หมดวาระลงแล้ว โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์นี้ มีอำนาจพิเศษ เหนือฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ในยามที่ประเทศชาติเกิดวิกฤติร้ายแรง หรือไม่มีทางออก
ตามกำหนดการที่วางไว้ กรรมาธิการยกร่างฯ จะนำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับสมบูรณ์ ส่งมอบให้ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ในวันที่ 22 สิงหาคม เวลา11.59 น. เพื่อให้สมาชิกสปช. ได้นำไปศึกษาในรายละเอียดประกอบการตัดสินใจว่า จะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการโหวตกันในวันที่ 6 กันยายน
ระหว่างนี้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะนัดหารืออย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในวันที่ 25 สิงหาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อชี้แจงข้อสงสัยให้กับสมาชิกสปช. ต่อประเด็นต่างๆในร่างรัฐธรรมนูญ
มีการ ยืนยันว่า การพบกันรอบนี้ เพื่อตอบข้อข้องใจ ไม่ใช่เพื่อโน้มน้าวให้สมาชิก สปช. ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนรอบสื่อมวลชนนั้น เป็นวันที่ 26 สิงหาคม กรรมาธิการยกร่างฯ จะเปิดโอกาสให้ซักถามถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ แต่ขอบอกว่า ณ เวลานั้นจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว
หากมองข้ามช็อตไปถึงขั้นการลงประชามติ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2559 เชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น ประชาชนจะได้รับรู้เนื้อหา รายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิมพ์แจก ประกอบกับการใช้สื่อของรัฐ จัดตั้งเวทีชี้แจง ทำความเข้าใจและโน้มน้าว ก็เชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านความเห็นชอบจากประชาชนไปได้ไม่ยาก
แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการเผยแพร่คลิป พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผ่านเว็บไซต์ยูทูบ หัวข้อ "คลิปล่าสุดอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พูดที่ประเทศฟินแลนด์"เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุตอนหนึ่งถึงร่างรัฐธรรมนูญว่า หากผ่านออกมา ถือว่าเลวร้ายที่สุด เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย
อีก 2-3 วันถัดมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สอนวิชาประชาธิปไตยให้กับกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ต้องยึดโยงกับประชาชน ต้องเปิดกระบวนการให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนสำคัญ ในการออกเสียงและตัดสินใจ ไม่ใช่เพียงเลือกตัวแทนที่ว่าคัดสรรมาแล้ว จากคณะบุคคลก็ถือไม่ได้ว่า เกิดจากวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง และถ้ากรรมาธิการยกร่างฯ คิดว่า รัฐธรรมนูญนี้ มีเนื้อหาสาระที่รับใช้ และยึดโยงกับประชาชนแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีคณะยุทธศาสตร์ฯ เพื่อมามีอำนาจเหนือรัฐบาล และเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ในการที่จะ
ตัดสินใจแทน แม้ในยามวิกฤติก็ตาม ก่อนจะตบท้ายด้วยการเร่งรัดให้มีการเลือกตั้ง เพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
หรือแม้ในฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในบางประเด็น แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นดุเดือด
เหมือนฝั่งไทยรักไทย
ถึงจะมีเสียงนักการเมืองจากพรรคต่างๆ บอกว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา แต่เชื่อเถอะหากต้องมีการชั่งน้ำหนักเพื่อตัดสินใจ ระหว่าง รับ ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ กับ จะได้เลือกตั้ง หรือไม่เลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองต้องเอาเลือกตั้ง มาก่อนแน่
ดั้งนั้น ในมุมของนักการเมืองแล้ว ไม่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาอย่างไร ก็จะมีการรับไว้ก่อน แล้วหลังเลือกตั้งค่อยไปหาทางแก้ไขกันในภายหลัง
จึงมั่นใจได้ว่า เมื่อถึงเวลานั้น ผลประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่าน
จากนั้นก็จะมีการร่างกฎหมายลูก ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกประมาณ 1 เดือน ดังนั้นการเลือกตั้ง จะน่าเกิดขึ้นใน เดือนกันยายน 2559
ส่วนเรื่องคำถามที่จะพ่วงไปกับการทำประชามติ ที่มีการชงขึ้นมาจาก สปช. กลุ่มนายไพบูลย์ นิติตะวัน คือ จะให้มีการปฏิรูปการเมือง 2 ปี ก่อนเลือกตั้งหรือไม่ ถึงเวลานี้ รู้สึกว่าจะแผ่วไป เมื่อมีข้อเสนอจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า จะให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หลังการเลือกตั้งหรือไม่
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าคำถามใดคำถามหนึ่ง จากสองคำถามดังกล่าว หากได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ก็จะเป็นคุณกับรัฐบาลคสช. ที่ถืออำนาจรัฐอยู่ปัจจุบันทั้งสิ้น
คำถามแรกไม่มีปัญหา เป็นการชงขึ้นมาเพื่อต่อท่ออำนาจให้คสช.ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนคำถามที่สอง การที่จะมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ยอมมีโอกาสสูงที่นายกรัฐมนตรีจะมาจากคนนอก หรือหาเป็นคนของพรรคหนึ่งพรรคใด ใน 2 พรรคใหญ่ ก็มีกลไกในการกำกับควบคุมรัฐบาลไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ โดยผ่านทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูป
เรื่องรัฐธรรมนูญไม้เป็นประชาธิปไตนนั้น แม่แต่กรรมาธิการยกร่างฯบางคนยังยอมรับว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามที่คณะรัฐศาสตร์ใช้เรียนกัน แต่เป็นรัฐธรรมนูญ ที่จะดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองไปอีก 3-4 ปี จากนั้นเมื่อบ้านเมืองกลับมาปกติ แล้วค่อยมาแก้ไขกัน
ถึงวันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อภารกิจการปฏิรูปประเทศได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว รัฐบาลคสช.ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรี ใหม่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องปล่อยให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำทิ้งไป