xs
xsm
sm
md
lg

“คนเพื่อไทย” ไม่สนอง “รัฐบาลปรองดอง” - สูตร “พท.- ปชป.” เกิดยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
“คนเพื่อไทย” ไม่สนอง “รัฐบาลปรองดอง” เชื่อเกิดยาก ย้ำแนวคิด “บวรศักดิ์” แค่เกมหวังให้ รธน. ผ่านประชามติโดยสะดวก “ณัฐวุฒิ” ยันสูตร “พท.- ปชป.” จับมือเกิดยาก “อุเทน” เชื่อสุดท้าย สปช. โหวตรับร่าง รธน.

วันนี้ (13 ส.ค.) มีรายงานว่า หลังจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้มีคำถามประชามติตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในชาติ โดยจะมีการลงมติรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 7 ก.ย. นี้

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดรัฐบาลปรองดอง คือ การกำหนดคณิตศาสตร์การเมืองให้รัฐบาลต้องมีเสียงในสภา ไม่น้อยกว่า 360 เสียงจากทั้งหมด 450 เสียง ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ พรรคเพื่อไทยต้องร่วมรัฐบาล กับพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดเรื่องอุดมการณ์ หรือแนวทางการเมืองที่แตกต่างกันแบบคนละขั้ว เพราะแค่มองซื่อ ๆ ตามข้อเสนอของนายบวรศักดิ์ก็จะเห็นภาพว่า สูตรนี้ง่ายอย่างยิ่งที่จะติดล็อก เพราะตกลงกันไม่ได้ เรื่องตัวนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าเสียงไม่ถึง 360 เสียง ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่พอรวมเสียงกันได้ หากพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง หรืออาจมีพรรคเล็กร่วมด้วยเล่นแง่ พื้นที่ของนายกฯ คนนอกจะปรากฏขึ้นทันที และสถานการณ์ขัดแย้งจะเกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า อยากให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายเข้าใจให้ชัดว่า การสร้างความปรองดองไม่ได้หมายถึงการเอาอำนาจมาแจกให้พรรคการเมืองทุกฝ่าย แต่หลักการพื้นฐาน คือ ต้องเอาอำนาจอธิปไตยคืนมาให้ประชาชน แล้วทำให้ประเทศมีกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตยบังคับใช้ให้เป็นธรรมเท่าเทียมกัน ถ้าตั้งคำถามผิด คำตอบที่ได้ก็จะไม่ถูก วันนี้คำถามไม่ได้อยู่ที่ใครจะเป็นรัฐบาล แต่คำถามที่แท้จริง คือ ใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ระหว่างประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค หรือคนบางกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นคนดีเหนือใคร แล้วใช้อำนาจบังคับให้คนส่วนใหญ่เดินตาม

นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การถามคำถามในประชามติ ว่า ประชาชนจะเห็นด้วยกับรัฐบาลปรองดองแห่งชาติในระยะเริ่มต้นหรือไม่ ตนมองว่าเป็นความต้องการส่วนบุคคลของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเอง ถ้าจะต้องการเช่นนั้นจริง ๆ ก็ไปเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเลยว่าให้มีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะประชาชนต้องลงประชามติในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ความคิดเรื่องนี้น่าจะมาจากความอยากให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เป็นความคิดเลอะเทอะของผู้เสนอ ซึ่งเป็นกรอบความคิดหนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ให้ ครม. สรรหาวุฒิสมาชิก ให้มีซูเปอร์บอร์ดคณะกรรมการยุทธศาสตร์และปรองดองแห่งชาติ ล้วนแล้วแต่สวนทางกับวิถีทางประชาธิปไตยทั้งสิ้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถือเป็นความพยายามที่จะดับเบิลล็อกอำนาจให้แน่นหนาที่สุดในทุกวิถีทาง พอเห็นแนวทางปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปไม่ได้ ก็หันมาใช้แนวทางใหม่ จะใช้เป็นเครื่องมือที่เด็ดขาด ถอดแบบคิดมาจากมาตรา 44 ที่ต่อไปอาจไม่มีความจำเป็นต้องยึดอำนาจรัฐประหารให้เสียเครดิตกับต่างชาติอีก การมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ในลักษณะนี้ น่าจะเป็นความพยายามสร้างอำนาจซ้อนอำนาจ และที่สุดอาจจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งขึ้นมาเสียเอง

ส่วนข้อเสนอคำถามประชามติว่าจะควรให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่นั้น เกรงว่า ในสถานการณ์ที่ประชาชนอยากเลือกตั้ง ถึงนาทีนั้นอาจจะรู้สึกว่าอะไรก็ได้แล้ว อาจจะไม่ได้คำตอบที่แท้จริง ประกอบกับความพยายามที่จะยัดคำถามที่ไม่ชัดเจนเข้าไปมากเกินไปในคำถามประชามติ เป็นเจตนาที่จะทำให้ประชาชนสับสนหรือไม่ เพราะรายละเอียด วิธีการเป็นอย่างไร ไม่มีความชัดเจน ไม่มีใครรู้ แม้กระทั่งคนเสนอก็อาจอธิบายไม่ตรงกัน ซึ่งจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ ที่ไม่ปรองดองแต่จะเป็นปองร้ายฝ่ายประชาธิปไตย คำว่า ปฏิรูป กับ ปรองดอง ถือเป็นคำที่ดี ซึ่งที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจพยายามจะฉกฉวยเอามาสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งเอาเข้าจริง ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่าปฏิรูปอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง หรือปรองดองเรื่องอะไรนอกกลุ่มอำนาจหรือไม่ เห็นแต่วุ่นวายกับการไล่ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะเป็นการกระทำที่สวนทางกับการปรองดอง

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า แม้จะมีกระแสข่าวว่า สปช. บางส่วนจะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็เชื่อว่าสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบ ไม่ว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขเนื้อหาตามที่ฝ่ายต่าง ๆ เสนอไปมากน้อยเพียงใด เพราะมองว่าขณะนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของโรดแมป ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางไว้ หาก สปช. ลงมติไม่รับร่าง ก็จะสร้างความซับซ้อนในการทำงานของ คสช. มากขึ้น และอาจสร้างกระแสไม่ยอมรับ คสช. เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นแผนการให้ คสช. อยู่ในอำนาจนานขึ้น

“กมธ. ยกร่างฯ และ สปช. ควรคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ควรนำร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม หรือเห็นว่าจะสร้างปัญหาในอนาคต แต่ถูกใจแค่ใครบางคนไปให้ประชาชนลงมติ มีตัวอย่างให้เห็นแล้วจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้าง แม้จะผ่านการลงประชามติ คสช. กมธ. ยกร่างฯ หรือ สปช. ต้องมีหน้าที่กลั่นกรองสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อส่วนรวม ไม่ใช่นำสิ่งไม่ดีไปให้ประชาชนลงมติ หรือใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน แล้วมาอ้างว่าได้ผ่านประชามติแล้ว”

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการทำงานของ คสช. และแม่น้ำสายต่าง ๆ แม้จะพยายามอ้างว่าต้องการวางมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ในความเป็นจริงดูเหมือนจะยังพุ่งเป้าไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และวางกลไกเพื่อกำจัด หรือปิดกั้นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ โดยเฉพาะในเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีความซับซ้อน กระบวนการเข้าสู่อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ ถ้า คสช. เอาจริงต้องหาทางต่อต้านทุกคนที่โกงกินชาติ ไม่ใช่จ้องจะต่อต้านแค่ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว หรือพยายามวางกลไกเงื่อนไขกับเครือข่ายที่มองว่าเป็นพวกของ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น