รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ เป็นเรื่องยาก ประชามติรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เปรียบบังคับจับคู่เพื่อไทยแต่งงานกัน ทั้งที่ไม่สมัครใจ ถามกลับถ้าขัดแย้งอีกทำอย่างไร ย้ำ ไม่ใช่ฝ่ายค้านขัดแย้งกับรัฐบาล แต่รัฐบาลทำผิดกฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ ลักหลับนิรโทษกรรม รับได้ถ้าตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปรองดอง แต่ต้องเป็นกลไกชั่วคราว ด้านทีมกฎหมาย ย้ำ ประชาธิปไตยปรองดองได้ แต่ไม่ใช่ซูเอี๋ย ไม่งั้นประเทศล่มจม
วันนี้ (12 ส.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมเสนอให้มีคำถามประชามติ กรณีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ โดยให้แต่ละพรรคการเมืองเข้าร่วม ว่า การทำเช่นนี้คล้ายต้องการบีบคับคับให้ประชาชน และพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ยอมรับให้เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เหมือนบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย แต่งงานกัน ทั้งที่ไม่ได้สมัครใจตั้งแต่ต้น แล้วถ้าเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน หลังจากนั้นจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงเรียกร้องให้ กมธ. ยกร่างฯ อย่าได้เสนอเรื่องนี้เป็นคำถามประชามติเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากปฏิเสธแนวทางดังกล่าว หลังเลือกตั้งถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก จะทำอย่างไร นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ต้องตีความคำว่าความขัดแย้งก่อนว่าไม่ใช่ฝ่ายค้านขัดแย้งกับรัฐบาล ตัวอย่างที่ผ่านมา คือ รัฐบาลไปทำผิดกฎหมาย ทั้งการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฝ่ายค้านจึงต้องออกมาตรวจสอบต่อสู้และเรียกร้อง ไม่ได้หมายความว่า ไปทะเลาะด้วยกับรัฐบาล เหมือนเวลาตำรวจจับโจร ไม่ใช่ตำรวจไปขัดแย้งกับโจร แต่เมื่อโจรทำผิดตำรวจก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ หรือหากถามง่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีจุดยืนเช่นนี้ แล้วทำตัวเหมือนบางพรรค เวลารัฐบาลต้องการแก้ไขอะไรก็ยกมือสนับสนุนไปทุกเรื่องประชาชนจะเอาด้วยหรือไม่
ส่วนการให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจใช้มาตรการจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ขัดแย้งที่รัฐบาลปกติไม่สามารถแก้ปัญหาได้นั้น นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เมื่อ กมธ. ยกร่างฯ ได้คิดกลไกนี้ออกมา ส่วนตัวก็พอยอมรับได้ และเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง คือ ป้องกันการยึดอำนาจ เนื่องจากในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย บุคคลหลายฝ่าย รวมถึงผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพด้วย จึงทำให้ความเห็นต่าง ๆ ถูกถ่วงดุล ความร้อนแรงในการรัฐประหารก็จะลดลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ตนอยากให้กลไกดังกล่าวใช้เพียงชั่วคราว หรือในวาระที่สถานการณ์พิเศษจริง ๆ เพราะว่าในสังคมระบอบประชาธิปไตย รูปแบบเช่นนี้ไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้ ถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวในโลก และควรให้มีกลไกป้องกันกรณีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุจริตคอร์รัปชัน หรือใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือแม้แต่การดำเนินนโยบายประชานิยมจนส่งผลเสียหายต่อประเทศด้วยเช่นเดียวกัน
ด้าน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีแนวคิดเสนอคำถามประชามติ ว่า อยากให้มีรัฐประดองแห่งชาติหรือไม่ เพื่อแก้วิกฤตการเมือง 10 ปีที่ผ่านมา ว่า วิกฤต ก็คือ วิกฤต แต่หลักของเราคือประชาธิปไตยปรองดองได้ แต่ไม่ใช่ซูเอี๋ย ถ้ามีรัฐบาลปรองดอง เพื่อหนีการตรวจสอบถ่วงดุลจะผิดหลัก การรวมเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ แม้จะใช้เสียง 4 ใน 5 ของรัฐสภา จะหลีกหนีคำว่ารู้เองเพื่อให้ได้อำนาจกันได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลที่ซูเอี๋ยกันหันมาทำโครงการจำนำข้าวอีก ใครจะตรวจสอบ ประเทศจะล่มจม ประชาชนจะเดือดร้อน ดังนั้น กฎหมายจึงต้องเป็นกฎหมายต่อไป ตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องทำงานอย่างจริงจัง