xs
xsm
sm
md
lg

2 สปช.เผยสมาชิกแบ่งความเห็นโหวต รธน.6 กลุ่ม พวกให้ผ่านมีมากกว่าคว่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“สปช.บุญเลิศ-นิมิต” อ้างมีสื่อถามความเห็นเลยแถลงข่าว บอกยังตอบไม่ได้คว่ำหรือผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เผยท่าทีขณะนี้มี 6 กลุ่ม แต่เสียงให้ผ่านมีเยอะกว่า

วันนี้ (9 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช.จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกันแถลงว่า ได้รับการสอบถามจากสื่อมวลชนจำนวนมากถึงจุดยืนว่าในวันที่ 7 กันยายน ตนทั้งสองจะลงมติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร จะให้ผ่านหรือจะคว่ำ รวมไปถึงการสอบถามว่าแนวโน้มการลงมติของ สปช.จะเป็นอย่างไร ตนทั้งสองได้แจ้งว่ายังตอบไม่ได้เพราะยังไม่ถึงเวลา ขอพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนรอบคอบเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ตนประเมินท่าทีหรือจุดยืนของ สปช.249 คน แบ่งได้ 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สปช.20 คนที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ตัดสินใจนานแล้วจะให้ผ่านแน่นอน กลุ่มที่ 2 สปช.ที่ตัดสินใจแล้วจะลงมติให้ผ่านอย่างแน่นอน โดยมีเหตุผลว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญดีทั้งหมด หรือดีเป็นส่วนใหญ่ มีไม่ดีไม่ถูกใจอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย สปช.กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกรรมาธิการยกร่างฯ บางส่วนเข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกลุ่มที่ไม่ชอบความขัดแย้ง ถือว่าร่วมงานปฏิรูปและการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยกันกันมาแต่ต้น จะให้คว่ำจึงเป็นไปไม่ได้

กลุ่มที่ 3 กลุ่ม 22 สปช.ที่เสนอญัตติให้ตั้งประเด็นสอบถามการออกเสียงประชามติประเด็นให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี กลุ่มนี้จะลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากผู้นำกลุ่มเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ตัดสินใจแล้วจะลงไม่ไม่ให้ผ่านอย่างแน่นอน มีเหตุผลว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนแม้จะเป็นส่วนน้อยแต่จะเกิดปัญหาในวันข้างหน้า การที่ คสช.และรัฐบาลจับแยก สปช.กับกรรมาธิการยกร่างฯ ออกจากกัน นอกจากนี้ยังประเมินว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ของประเทศยังวางใจไม่ได้ว่า เมื่อ สปช.ให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ หรือแม้กระทั่ง ผ่านประชามติก็ตาม แต่ก็จะเกิดปัญหาในอนาคต จึงต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการคว่ำในขั้นตอนลงมติของ สปช. กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ แต่จะขอดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อน และกลุ่มที่ 6 กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและบรรยากาศทางการเมือง โดยเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญอาจมีไม่ดีไม่ถูกใจอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องหลักการสำคัญและจะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมประท้วงกดดันขับไล่ มีคนบาดเจ็บล้มตายกันอีก สุดท้ายรัฐธรรมนูญอาจถูกฉีกอีกครั้ง

นายบุญเลิศกล่าวว่า ตนและนายนิมิตเห็นตรงกันว่า จริงอยู่ที่ร่างรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ แต่ความอยู่รอดและสันติสุขของบ้านเมือง การสามัคคีปรองดองของคนไทยต้องมาก่อน รัฐธรรมต้องไม่เป็นต้นเหตุหรือตัวปัญหา ถ้าไม่มีคำตอบในส่วนนี้ก็ไม่มีประโยชน์สำหรับการปฏิรูปประเทศที่อยู่ในขั้นตอนของการเริ่มต้น การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงอีก 1 คำถามถ้าจะมีหลัง สปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่เป็นเงื่อนไขที่สร้างความขัดแย้งให้ยืดเยื้อเรื้อรังฉุดรั้งการพัฒนาบ้านเมืองเหมือนกับที่เคยเกิดมาแล้วกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นายบุญเลิศกล่าวว่า หากประเมินเสียง สปช.ตอนนี้คิดว่า สปช.ที่จะให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญมีมากกว่า ประกอบด้วยกลุ่ม 1 กลุ่ม 3 กลุ่ม 4 เป็นหลัก ส่วนกลุ่ม 5 เป็นกลุ่มผันแปร ดังนั้นจึงยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ผลการลงมติของ สปช.จะออกมาอย่างไร

ด้านนายนิมิตกล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต้องเอาบ้านเมืองและเหตุผลเป็นตัวตั้ง การลงมติจะต้องเข้าใจเนื้อหาต้องรอบคอบและคำนึงถึงทุกมิติ ที่สำคัญต้องไม่ลืมสาเหตุหลักว่าทำไมถึงต้องปฏิรูปประเทศและทำไมจึงต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้ารัฐธรรมนูญดีจริง ตอบโจทย์ได้ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ผ่าน ถึงแม้ไม่ผ่านก็ไม่ใช่ทางตัน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้เขียนทางออกไว้แล้ว

“เรื่องการลงมติไม่น่าจะถือเป็นความขัดแย้ง เพราะ สปช.ทั้งหมดกำลังพิจารณา อนาคตของประเทศชาติไม่ใช่เรื่องความแพ้ชนะ ประเทศต้องมีสันติสุข เดินหน้าได้ ปฏิรูปสำเร็จ ความขัดแย้งต้องไม่หวนคืนกลับมาอีก” นายนิมิตกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น