ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คดีจำนำข้าวใกล้งวดเข้ามาทุกขณะ เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ดำเนินโครงการดังกล่าวและปล่อยให้มีการทุจริตสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติหลายแสนล้านบาท
การรับจำนำข้าว ถือเป็นโครงการของนักการเมืองที่สร้างความเสียหายอย่างชัดเจนและเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นมากกว่า 5 แสนล้านบาท จากการใช้งบประมาณของรัฐบาลไปซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าท้องตลาด แล้วไม่สามารถระบายข้าวออกได้ทันเวลา ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ เสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บรักษาจำนวนมหาศาล รวมทั้งเกิดการทุจริตในกระบวนการระบายข้าวอย่างมโหฬาร
ความผิดตำตาแบบนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ 2 อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ จึงไม่รอดจากคดีถอดถอน และต้องถูกห้ามใช้สิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ส่วนคดีอาญา ก็ทำท่าว่าจะรอดยากเช่นกัน
หลังจากถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 และศาล ฯ มีมติรับฟ้องใน 1 เดือนถัดมาคือวันที่ 19 มีนาคม 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พยายามต่อสู้ทุกช่องทางในกระบวนการทางศาล
วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งแรก ทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว โดยอ้างว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่ศาลได้ยกคำร้อง
ส่วนกรณีที่ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม คัดค้านพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารของโจทก์(อัยการสูงสุด)ที่ยื่นเพิ่มอีกประมาณ 60,000 แผ่น โดยอ้างว่าโจทก์เพิ่มเติมพยานโดยไม่สุจริต มุ่งเอาเปรียบจำเลยโดยไม่เป็นธรรม เพราะเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีการไต่สวนมาก่อน จึงขอให้ศาลไม่รับบัญชีพยานดังกล่าวเข้าสู่สำนวน ศาลฯ ก็ได้ยกคำร้องเช่นกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ละความพยายาม วันที่ 29 กันยายน ได้เดินทางไปศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นคณะทำงานพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร่วมกันกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 200
กรณีที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการในการสอบข้อไม่สมบูรณ์ซึ่งในชั้นนี้ไม่มีการส่งข้อไม่สมบูรณ์ในการสั่งฟ้อง และมีการสั่งฟ้องคดีก่อนที่ สนช.จะมีคำสั่งถอดถอนตนในเวลากระชั้นชิด นอกจากนี้ ในชั้น ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาตนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่คำฟ้องของ อสส.กลับบรรยายว่าตนเห็นชอบและสมยอมให้เกิดการทุจริต และในชั้นพิจารณาของชั้นศาล อสส.ได้นำเอกสารที่ไม่มีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. และคณะทำงานร่วมในคดีนี้เข้ามาอยู่ในสำนวน
อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่รับฟ้องคดีดังกล่าวทั้งสามประเด็น โดยเห็นว่า ข้อกล่าวหาตามฟ้องไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน โจทก์เข้าใจเอาเองว่าจำเลยทั้ง 4 กลั่นแกล้ง
เมื่อการต่อสู้ในศาลแพ้ตั้งแต่ยกแรกๆ และใกล้วันที่รัฐบาลจะสั่งให้จ่ายค่าเสียหายเข้ามาเรื่อยๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงหันไปใช้เวทีนอกศาลบ้าง โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และนายกรัฐมนตรี ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Yingluck Shinawatra ในทำนองตัดพ้อว่าตนเองถูกกลั่นแกล้งกรณีโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา แต่ถูก สนช.ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีอยู่และรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงแล้ว นอกจากนี้มีการแถลงสั่งฟ้องคดีตนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนหน้าที่ สนช.จะมีมติถอดถอนตนเพียง 1 ชั่วโมง
ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่งที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นมาตรวจสอบความเสียหาย และจะใช้คำสั่งทางปกครองสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทบทวนและยุติไว้ก่อน โดยอ้างว่าหากผลการตรวจสอบออกมาแล้ว ควรให้หน่วยงานของรัฐฟ้องคดีต่อศาล และควรจะรอให้การพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสร็จสิ้นก่อน ไม่ควรเร่งรีบ รวบรัด ในการทำสำนวนการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิด ควรให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวซึ่งมีความยาว 6 หน้ากระดาษ ถึงนายกฯ ในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล
การส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์และทีมงานน่าจะรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีผลอะไรนัก ซึ่งก็ไม่ผิดจากความคาดหมาย เมื่อนักข่าวไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีน้ำเสียงตอบกลับ ทำนองไม่ให้ราคา โดยบอกว่า เป็นเรื่องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่ได้เป็นคนเขียนเอง แต่เป็นคำแนะนำของทนายความ
อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊ก น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่ได้หวังผลให้ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนใจแต่อย่างใด แต่น่าจะหวังผลกับมวลชนคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่ติดตามแฟนเพจ Yingluck Shinawatra จำนวนราว 4 ล้านคน มากกว่า
เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกนั้น เต็มไปด้วยถ้อยคำแก้ตัวให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าตนเองไม่มีความผิด แต่ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งเป็นแนวทางที่นายทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ใช้พูดกับมวลชนคนเสื้อแดงตลอดมา
เมื่อประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกัน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์วิดีโอคลิปในเฟซบุ๊ก อธิบายถึงโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่าโครงการนี้นอกจากไม่ได้สร้างความเสียหาย ไม่สามารถคิดกำไรขาดทุนหรือคิดเป็นตัวเลขจำนวนเงินอย่างเดียวอย่างที่หลายฝ่ายพยายามกล่าวหาและสร้างตัวเลขโจมตี แต่โครงการรับจำนำข้าวถือเป็นประโยชน์ต่อชาวนาและเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ ทำให้ชาวนามีเงินจับจ่ายใช้สอย ลดความเหลื่อมล้ำ คนจนลดลง มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ข้อกล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ จึงไม่เป็นจริง แต่การยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวต่างหาก ที่ทำให้ประเทศชาติและประชาชนไทยเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและเสียโอกาสในอนาคต
วิดีโอคลิความยาว 2 นาทีเศษในเฟซบุ๊กของนายกิตติรัตน์ อาจจะดูว่าเป็นการอ้างข้อดีของโครงการรับจำนำข้าวอย่างเลื่อนลอย แต่ด้วยระบบจัดตั้งโดยเครือข่ายหัวคะแนนของนักการเมืองในเครือข่ายทักษิณที่ยังเข้มแข็งอยู่เพียงแต่แกล้งตายอยู่ในขณะนี้ มวลชนคนเสื้อแดงก็พร้อมที่จะเชื่อข้อมูลชุดนี้โดยไม่ต้องใช้สมองคิด
วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ผู้มีบทบาทเด่นในการแฉทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ได้ออกมากล่าวเตือนรัฐบาลและ คสช.ว่า อย่าชะล่าใจในกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยออกมาโจมตีคดีโครงการจำนำข้าว และมีการบิดเบือนหลายประเด็น เพราะนี่คือเกมการเมืองที่ถนัดของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้คนเข้าใจผิด และหาว่ารัฐบาลกลั่นแกล้ง ทางที่ดีรัฐบาลต้องขยันพูดชี้แจง มิฉะนั้นท่านอาจชนะทางข้อกฎหมาย แต่แพ้เกมทางการเมือง
สุดท้ายแม้จะแพ้ทางข้อกฎหมาย แต่ถ้าชนะทางการเมืองได้จะทำให้เขาชนะได้ทุกอย่าง เหมือนอดีตที่นายทักษิณ (ชินวัตร) เคยใช้แผนนี้มาแล้ว