xs
xsm
sm
md
lg

ทำความเข้าใจกับกระแส และอิทธิพลของกระแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

“กระแส” เป็นคำที่มีการใช้ในแวดวงสังคมการเมืองไทยมานานพอสมควร จากการสังเกตเบื้องต้นของผม “กระแส” มีความหมายอย่างน้อยสองนัย ด้านแรก บ่งบอกถึงความสนใจหรือตระหนักร่วมของผู้คนจำนวนมากในสังคมต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คำที่มักใช้อ้างถึงคือ “เรื่องนี้อยู่ในกระแส” ซึ่งก็คือเรื่องดังกล่าวกำลังเป็นที่สนใจของสาธารณะ ด้านที่สอง เป็นการแสดงออกของอารมณ์ร่วมในทางที่สนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องใดเรื่องหนึ่งของสาธารณะ คำที่มักใช้อ้างถึงคือ “เรื่องนี้มีกระแสแรง” นัยทั้งสองด้านนี้มีความเชื่อมโยงกัน โดยมักจะเริ่มจากด้านแรกก่อนและยกระดับไปสู่ด้านที่สอง

กระแสเกิดขึ้นและขยายตัวออกไปได้อย่างไร การเกิดขึ้นของกระแสมีสองลักษณะหลักคือ ลักษณะแรกเกิดจากการวางแผนสร้างอย่างจงใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมเพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง ซึ่งขอเรียกว่า “กระแสสร้าง” และลักษณะที่สองเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ซึ่งเรียกว่า “กระแสธรรมชาติ” ส่วนการขยายตัวของเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนกลายเป็นกระแสมาจากการผสมผสานของสองส่วนคือตัว “เนื้อหา” และ “เครือข่าย”

“การสร้างกระแส” มีเป้าหมายเพื่อใช้กระแสขยายการรับรู้ของประชาชนในวงกว้าง และคาดหวังให้ประชาชนมีอารมณ์ร่วมในทิศทางเดียวกับที่กลุ่มผู้สร้างกำหนดไว้ อันนำสู่การเป็น “กระแสแรง” และใช้เพื่อกดดันให้เกิดการตัดสินใจทางสังคมและการเมืองเป็นไปในทิศทางที่ผู้สร้างปรารถนา ส่วนกระแสที่เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง หรือ “กระแสธรรมชาติ” นั้นมีสาเหตุจากเนื้อหาที่บุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะ แล้วได้รับการตอบจากผู้คนอย่างกว้างขวาง โดยที่ผู้เผยแพร่อาจมิได้มีความตั้งใจในตอนเริ่มต้นว่าจะทำเรื่องนั้นให้กลายเป็นกระแส

เนื้อหาหรือเรื่องราวที่มีแนวโน้มขยายตัวเป็นกระแสได้ง่ายคือ เรื่องที่มีพลังในการสร้างความสะเทือนใจ เกี่ยวข้องกับอารมณ์และมีผลกระทบต่อคนหมู่มาก หรือมีปมของความขัดแย้งดำรงอยู่ ส่วนเครือข่ายนั้นมีทั้งเครือข่ายที่เป็นสื่อมวลชนทั่วไป สื่อสังคมในโลกอินเตอร์เน็ต และสื่อบุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิด ยิ่งมีเครือข่ายมากโอกาสที่จะทำให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งกลายเป็นกระแสก็เกิดขึ้นได้ง่าย

สิ่งที่บ่งบอกว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นกระแสหรือไม่ มีข้อสังเกตง่ายๆคือ เรื่องนั้นปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสังคมออนไลน์มากน้อยเพียงใด การปรากฏดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานเพียงใด และมีผู้คนเข้าร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือปฏิบัติการณ์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในกระแสนั้นมากน้อยเพียงใด พูดง่ายๆคือ เรื่องใดที่เป็นข่าวในทุกสื่อ เป็นอยู่หลายวัน และมีคนเข้าร่วมวงอภิปรายถกเถียงมาก เรื่องนั้นก็เข้าข่ายการเป็น “กระแส”

โดยทั่วไปองค์ประกอบของกระแสจะมีมิติทางอารมณ์เป็นหลัก และเหตุผลเป็นรอง แม้ว่าในบางเรื่องช่วงแรกอาจก่อเกิดจากความมีเหตุผล แต่เมื่อได้รับการขยายออกไปเป็นกระแสแล้วมิติความมีเหตุผลก็มักจะถูกผลักดันให้ไปอยู่ริมชายขอบ ขณะที่มิติทางด้านอารมณ์ขยับเข้ามาสู่ศูนย์กลางแทน เมื่อเป็นเช่นนั้นกระแสก็จะเข้าสู่ “กระบวนการทำให้เหตุผลกลายเป็นอารมณ์” และ มีการใช้เหตุผลเพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์แทน และปิดกั้นเหตุผลอื่นๆที่แตกต่างออกไป

กระแสมีอิทธิพลต่อผู้คนทั่วไปและผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองอย่างไรบ้าง ธรรมชาติของมนุษย์ประการหนึ่งคือความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่อยู่ในกระแส กระแสจึงกวาดต้อนกลุ่มคนที่มีความคิดไม่ชัดเจนหรือยังมีจุดยืนไม่แน่นอนเข้าร่วมขบวนได้ง่าย คนจำนวนมากมีความรู้สึกกลัว “ตกกระแส” จึงมีแนวโน้มตัดสินใจเข้าร่วมวงภายในกระแสใดกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นมา ซึ่งก็ยิ่งทำให้เรื่องนั้นขยายพลังของความเป็นกระแสมากยิ่งขึ้น

เช่นในกลุ่มวัยรุ่น ที่ช่วงหนึ่งมีกระแสนิยมต่อดารานักร้องเกาหลีสูงมาก กระแสนี้ได้กวาดต้อนวัยรุ่นจำนวนมากให้อยู่ภายในวงจร หากวัยรุ่นคนใดที่ไม่รู้เรื่องดารานักร้องเกาหลีเลย ก็อาจถูกเพื่อนๆล้อเลียนว่าเป็นคน “ตกกระแส” หรือ ไม่ทันสมัย หรือ ตามกระแสไม่ทัน เมื่อถูกตีตราให้กลายเป็นคนตกกระแส ก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับให้เข้ากลุ่มและถูกกีดกันออกไปจากกลุ่มสังคมนั้นได้

เราสามารถเห็นอิทธิพลของกระแสต่อการตัดสินใจของประชาชนได้ในหลายโอกาส เช่น ในช่วงการเลือกตั้ง หากมีกระแสการสนับสนุนพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จะทำให้คนที่ยังลังเลว่าจะเลือกพรรคการเมืองนั้นดีหรือไม่ มีแนวโน้มเปลี่ยนการตัดสินใจไปเลือกพรรคการเมืองนั้นสูงขึ้น ซึ่งเป็นการตัดสินใจแบบ “ตามกระแส” และขณะเดียวกันคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองนั้นก็อาจลดระดับการต่อต้านลงเพราะไม่อยาก “ขวางกระแส”

ในบางกรณีเมื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งกลายเป็นกระแส ก็จะมีคนบางกลุ่มบางพวกฉวยโอกาสแทรกตัวเข้าไปอยู่ในกระแส เพื่อหวังที่ได้รับประโยชน์จากกระแส ซึ่งเราเรียกการกระทำแบบนี้ว่าเป็น “การโหนกระแส” พฤติกรรมแบบนี้มักเกิดขึ้นกับนักการเมืองหรือดาราที่หวังจะให้มีชื่อของตนเองปรากฏในสื่อมวลชน เพื่อทำให้ผู้คนเขาไม่ลืมการดำรงอยู่ของตนเอง

สำหรับผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ได้รับอิทธิพลจากกระแสไม่น้อย เพราะอาจกล่าวได้ว่ากระแสในบางเรื่องคือความต้องการของสาธารณะ ผู้มีอำนาจทางการเมืองจึงไม่อาจละเลยหรือเพิกเฉยกระแสได้ หากกระแสนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมหรือผลประโยชน์ของสาธารณะ ผู้มีอำนาจทางการเมืองก็จะนำเนื้อหาของกระแสเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจหรือกำหนดนโยบายในทางใดทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในท่ามกลางกระแสเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจมีใครบางคนหรือบางกลุ่มออกมา “สวนกระแส” การสวนกระแสเป็นความพยายามใช้เหตุผลอีกชุดหนึ่งซึ่งแตกต่างจากชุดเหตุผลที่นำมาสร้างเป็นกระแส เป็นการพยายามเสนอให้สังคมพิจารณาทางเลือกหรือความเป็นไปได้อื่นๆที่นอกเหนือจากที่อยู่ภายในวงจรของกระแส แม้ว่ามีบ้างในบางเรื่องที่ “การสวนกระแส” จะประสบความสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่ผลลัพธ์ของการสวนกระแสมักจะไม่ประสบความสำเร็จ โดยถูกเพิกเฉย ละเลย หรือถูกวิจารณ์จากกลุ่มผู้อยู่ในกระแสอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีมีการ “เบรกกระแส” หรือ ทำให้กระแสนั้นอ่อนพลังหรือหยุดลงไป การหยุดกระแสได้นั้น ผู้หยุดมักจะเป็นผู้ที่มีพลังอำนาจในสังคมสูง และสามารถใช้พลังอำนาจนั้นผ่านเครือข่ายต่างๆให้ดำเนินการตอบโต้กระแสเหล่านั้น หรืออาจสั่งให้ผู้มีส่วนร่วมในขบวนการสร้างกระแสหยุดการกระทำในลักษณะขยายกระแส ซึ่งหากประสบความสำเร็จกระแสเรื่องนั้นก็จะค่อยๆจางหายไป หรือกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีกระแส หรือ “กระแสตก”

ในระยะนี้เมื่อรัฐบาลได้ดำเนินการจัดการเรื่องทุจริตโครงการจำนำข้าวเข้มข้นขึ้น และมีแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและรัฐมนตรีในเครือข่ายระบอบทักษิณ โดยรัฐบาลเลือกใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเป็นชั้นๆ เมื่อพิจารณาแล้วก็อาจสั่งว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหากระทำผิดและสั่งให้ยึดทรัพย์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแก่คนกลุ่มนี้ พวกเขาก็ดำเนินการตอบโต้โดยพยายาม “สร้างกระแสการถูกรังแก” ขึ้นมา

กระบวนการสร้างกระแสการถูกรังแก มีการวางแผนอย่างเป็นระบบตั้งแต่มีการออกจดหมายเปิดผนึกของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงรัฐบาลในทำนองว่ารัฐบาลใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นก็มีบุคคลในเครือข่ายของระบอบทักษิณออกมาพูดต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องเพื่อตอกย้ำประเด็นเหล่านั้น เรื่องราวก็ได้รับการนำไปแพร่ขยายจากสื่อมวลชนทุกแขนงและในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งยังอาจส่งผ่านไปทางเครือข่ายกลุ่มผู้นำความคิดเพื่อไปสู่มวลชนที่ให้การสนับสนุนระบอบทักษิณ และยังอาจมีการปฏิบัติการณ์ทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ เพื่อทำให้เรื่องนี้กลายเป็นกระแสขึ้นมาให้ได้

คงต้องติดตามกันว่าในท้ายที่สุดผลลัพธ์เรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไรระหว่างสองทาง ทางแรก ความพยายามของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและเครือข่ายระบอบทักษิณจะประสบความสำเร็จ เรื่องที่พวกเขาสร้างภาพว่าถูกรังแกกลายเป็นกระแส จนมีพลังกดดันให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนการตัดสินใจตามที่พวกเขาต้องการ และทางที่สองรัฐบาลสามารถ “เบรกกระแส” และดำเนินการจัดการเรียกค่าเสียหายจากการโครงการจำนำข้าวคืนตามแนวทางที่เลือกเอาไว้ได้สำเร็จ

กล่าวได้ว่า “กระแส” เป็นปัจจัยทางสังคมที่น่าสนใจและมีอิทธิพลต่อการต่อการตัดสินทางการเมืองและสังคมทั้งของรัฐบาลและประชาชนอย่างมากในหลากหลายมิติ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทั้งในแง่ของเจตจำนงของปัจเจกหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้สร้าง กับเงื่อนไขเชิงโครงสร้างของสังคมที่จะช่วยขยายให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งกลายเป็น “กระแสแรง” หรือสกัดกั้นเรื่องราวบางอย่างมิให้กลายเป็นกระแสขึ้นมา



กำลังโหลดความคิดเห็น