ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากตัวแทนชาวบ้าน 12 จังหวัด (พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี เลย สตูล สระแก้ว สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง สระบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์) ในนามประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการขยายพื้นที่สัมปทานเหมือนแร่ทองคำ 300 แปลง ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน ร่าง พ.ร.บ. แร่ฉบับแก้ไข ที่เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม
ดร.สมนึก จงมีวศิน ในฐานะนักวิชาการภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเครือข่ายภาคตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ซึ่งได้เข้าร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์” โดยตีแผ่ร่างกฎหมายแร่ฉบับแก้ไขว่า เป็นจุดอ่อนที่เอื้อต่อนายทุน พร้อมปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักถึงปมปัญหาเหมืองทองคำ
มองว่ามีวาระซ่อนเร้นในสาระสำคัญของ พ.ร.บ. แร่ฯ ฉบับใหม่
พ.ร.บ.แร่ฯ ฉบับใหม่ มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่มากๆ เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ที่แต่เดิมห้ามใช้พื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ทำเหมือง แต่ พ.ร.บ.แร่ ใหม่ เปิดโอกาสให้สิทธิ์เฉือนไปทำเหมืองได้ด้วยถ้าประกาศเป็นแหล่งแร่ หรือ Mining Zone ได้ ส่วนขั้นตอนการอนุญาต พ.ร.บ.แร่ ตัวใหม่ เปลี่ยนจากการให้สัมปทาน และขอประทานบัตร มาเป็นการประมูลแทน
การมีเหมืองแร่แต่เดิมนั้น ต้องผ่านความเห็นชอบจาก อบต. หรือ รับฟังความเห็นชาวบ้าน ตาม พ.ร.บ. แร่ 2510 จะใช้กระบวนการโดยประมาณ 310 วัน แต่สำหรับ พ.ร.บ.แร่ ตัวใหม่ จะลดเวลาให้เหลือ ประมาณ 150 วัน ทำให้เป็นการอนุมัติเร็วขึ้น และในมาตรา 129 นั้นตัวรัฐเอง คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะกลายมาเป็นศูนย์กลาง เป็น One Stop Service ในการทำหน้าที่อนุญาต ให้สัมปทาน ประทานบัตร และ ทำ EIA ให้เอกชนด้วย เหมือนกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเลย
ร่าง พ.ร.บ. แร่ ใหม่นี้ กพร. มีหน้าที่เดินเรื่องขอประทานบัตรแทน ผู้ประกอบการ และ เหมือนเป็นเจ้าพนักงานให้ ผู้ประกอบการ ขยายบทบาทตัวเองมากเกินไป โดยปกตินั้น โดยอำนาจหน้าที่ของ กพร. เองในการให้สัมปทานก็มีปัญหาเยอะแยะอยู่แล้ว แต่กลับจะต้องไปทำ EIA ให้เอกชนด้วย และ กพร. ก็เอาไปประมูลให้เอกชนได้เอง
ที่น่าห่วงอีกเรื่องคือ ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ จะให้อำนาจ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กพร. ปลัดฯ เซ็นอนุมัติประทานบัตร ให้ใบอนุญาต ทำ-สำรวจเหมืองแร่ได้เลย ซึ่งปัจจุบันนี้ต้องเป็นอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้นที่เซ็นได้ ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับใหม่ ทำการตัดอำนาจทางการเมืองออกทั้งหมด มันจะทำให้รวบรัดการเซ็นได้ไวขึ้นในระบบราชการ โดยไม่ต้องไปพึ่งปากกาของนักการเมือง
นอกจากนี้ การขอประทานบัตร ประเภท 1 เช่น การทำเหมืองขนาดเล็ก หากจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะถูกละเว้น ว่าไม่ต้องทำ EIA ด้วย ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม 2535 ปัจจุบัน กำหนดว่า ไม่ว่าโครงการของรัฐหรือเอกชน โครงการไหน หากมีการระบุชัดว่า อาจสร้างกระทบสิ่งแวดล้อม / และสุขภาพ ก็ต้องทำ EIA หรือ EHIA ด้วย แต่ ร่าง พ.ร.บ.แร่ฯ ใหม่ เปิดทางสะดวกสำหรับเหมืองขนาดเล็ก
ข้อคิดเห็นของผมใน พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 ที่ใช้อยู่ ในมาตรา 88/13 เขาบอกชัดว่า ถ้าพื้นที่เหมืองใดสร้างความเสียหายต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ให้สันนิษฐานว่ามาจากเหมือง และผู้เป็นเจ้าของประทานบัตรต้องรับผิดชอบ อยากถามว่าการที่คนในชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ทองคำที่เลยและพิจิตร ที่มีสารพิษอยู่ในร่างกายจนป่วยและเสียชีวิตกันมาก จากที่เมื่อก่อนไม่มีเหมืองก็ไม่มีใครเป็นอะไรเลย จะใช้มาตรานี้สันนิษฐานว่า ความผิดมาจากเหมืองได้หรือไม่ ?
ที่ผ่านมาไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าสารพิษปนเปื้อนจำพวกโลหะหนักที่ตรวจพบในร่างกายของชาวบ้านรอบบริเวณเหมือง เป็นผลกระทบมาจากการทำเหมืองแร่ทองคำ
ชาวบ้าน จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ในพื้นที่ๆ อยู่รอบเหมือง เขาคิดว่าตรงนี้มันปัญหา เขาได้รับสารพิษ น้ำก็ดื่มไม่ได้ อากาศก็ไม่ดี ของกินก็ไม่ได้ จนสุดท้ายต้องมีการตั้ง กรรมการ แล้วเหมืองก็ต้องให้คูปองผัก เอาผักไปส่งทุกอาทิตย์ ส่งน้ำดื่มให้ทุกอาทิตย์ แต่ทีนี้ไม่มีใครกล้าพูดว่ามันเป็นปัญหาจากเหมือง ปรากฏว่าใครพูด..เหมืองเขาก็จะดำเนินคดี ซึ่งในหลักวิชาการของประเทศไทยยังไม่มีใครฟันธงเลยว่า ไซยาไนด์ หรือ โลหะหนักต่างๆ มันเกิดจากตัวเหมืองทองคำ เช่นงานของ ดร. สมิทธ ตุงคะสมิทธ (ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) ที่เคยไปศึกษาเมื่อปี 2557 ในพื้นที่ของเหมืองอัคราฯ ก็จะบอกว่า พบว่าในร่างกายมีโลหะหนักมีไซยาไนด์ปนเปื้อนในเลือด หรือวิจัยของ ม.นเรศวร ก็จะบอกว่าบ่อกักเก็บกากแร่ บ่อกักเก็บน้ำเสีย กับบริเวณภายนอกเหมืองส่วนที่พักอาศัยชาวบ้าน มีสารเคมีมีโลหะหนักมีสารพิษในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเกิดจากเหมืองอีกเหมือนกัน เพราะว่าทุกคนกลัวหมด ถ้าพูดว่าเหมืองแร่คือตัวการทำให้เกิดปัญหา เขาก็จะถูกเหมืองฟ้องร้องได้
ส่วนตัวเหมืองเองเราต้องเข้าใจเขาว่า เขามั่นใจว่าทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการดูแลสุขภาพตามหลักในพื้นที่ และมันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้หรอกที่เขาจะเป็นตัวการทำให้เกิดปัญหา ทีนี้เราต้องมาดูเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ทองคำจะพบว่าเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยทั้งหมดทำอยู่ระบบเปิด มีการนำสารเคมีกลุ่มที่มีประกอบไปด้วยไซยาไนด์เข้ามาใช้ ที่นิยมใช้กัน โซเดียมไซยาไนด์ อีกตัวโปแตซเซียมไซยาไนด์ ทั้ง 2 ตัว ใช้เสร็จมันก็ต้องมีบ่อกักเก็บ บ่อพวกนี้มันไม่ได้เป็นระบบปิด มันเป็นระบบเปิด ซึ่งมีโอกาสที่สารประกอบไซยาไนด์มันจะละเหยออกมา ถามว่าทำไมเขาไม่ทำระบบปิด เพราะมันมันต้องลงทุนเยอะ
แต่ที่สำคัญที่สุดในเมื่อเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเหมืองทองคำสร้างปัญหาหรือไม่สร้าง ปัญหา แต่เราเห็นความเจ็บป่วย เห็นคนที่เหมือนจะได้รับผลกระทบจากสารโลหะหนัก จากการตรวจเจอโลหะหนักในเลือด แม้กระทั่งเสียชีวิต อย่างเช่นล่าสุดคือ ลุงสมคิด ทำไมเราถึงไม่ตรวจสอบหาความจริงให้เรียบร้อยก่อน เราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนสิว่าทั้งหมดนี้มันเป็นปัญหาจากเหมืองแร่ ทำไม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2512 มันมีส่วนหนึ่งที่บอกชัดเจนว่าเวลาทำเหมืองแร่ ดินเสียหายทรุดตัว เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้สันนิฐานไว้ก่อนว่ามา จากการทำเหมือนแร่ แต่ทำไมเหตุการณ์เราไม่ไม่สันนิฐานไว้ก่อนบ้าง ก็เป็นเรื่องน่าสนใจนะครับ
ประเด็นการขยายสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ 300 แปลง ในพื้นที่ 12 จังหวัด ทราบมาว่าชาวบ้านในพื้นที่แทบไม่รู้เรื่องเลย
เรื่องของอาชญาบัตรเหมืองที่บอกว่ามีคนมาขอทั้ง 12 จังหวัดแล้วเนี่ย และรู้แล้ว 12 จังหวัดอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ชาวบ้านไม่รู้ว่าอยู่ไหน เช่น จันทบุรี สระแก้ว คือพื้นที่ไหน? ระยองคือพื้นที่ไหน ที่หนักเข้าไปใหญ่คือ สตูล สุราษฎร์ เขาไม่รู้เรื่องเลย จนผมไปได้เอกสารจากคนพิษณุโลก ก่อนวันมีเวทีรับฟังไม่กี่วัน ผมเห็นก็ตกใจมีชื่อจังหวัดผมด้วย 3 จังหวัด ภาคตะออก ปรากฏว่าเค้าจัดเวทีวิชาการไปแล้วนะ ต่อมาก็เวทีผู้ประกอบการเหมือง และจะจัดเวทีของประชาชน ยังมีการพูดว่าภาคประชาชนไม่ต้องจัดก็ได้นะแต่เขาต้องการให้มีส่วนร่วมกับตัวร่างนโยบายนี้จริงๆ เลยจัดให้แต่จัดแค่ 2 เวที จ.พิจิตร กับ จ.ลพบุรี
แต่พอร้องเรียนกันเยอะเขาก็เลยบอกว่าเวทีจัดเพื่อประชาชนเลื่อนไปก่อนไม่มีกำหนดเพราะว่าประชาสัมพันธ์ไม่ดีพอ คำถามคือประชาชนเดือดร้อนหมดตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุด 12 จังหวัด คุณจัดแค่ 2 จังหวัด แล้วประชาชนในพื้นที่อื่นที่อยู่จะเอาตังค์ที่ไหนไปกัน ที่สำคัญที่สุดไม่ได้มีการประกาศไปที่จังหวัด ประกาศตาม อบต. ตามเทศบาล ทุกวันนี้เราก็ไปหาก็ไปบีบว่ามันอยู่ตรงไหน อย่างจันทบุรีก็ไปบีบเอาข้อมูล ตอนแรกบอกไม่มีใครรู้เรื่องเลย สุดท้ายก็ความแตกว่าพวกนายก อบต. รู้ และปิดข่าวอีกไม่บอกใคร ปล่อยให้เวทีมันโล่งว่างเพื่อให้ผ่าน
จริงๆ ร่างนโยบายทองคำนี้ มันก็ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่หรอกนะ มีการแบ่งผลประโยชน์ในท้องถิ่น มีกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ทำไมคุณไม่กำหนดในนโยบายเลยว่า ต้องทำเทคโนโลยีที่ปลอดภัยที่สุดที่ดีที่สุดของโลกถึงให้ทำ ปล่อยให้มันแย่แล้วมาฟื้นฟู ทำไมคุณไม่ป้องกันตั้งแต่แรกด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ที่สำคัญพื้นที่ที่คุณไปทำส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำทั้งนั้นใช่ หรือเปล่า? อย่างเขาสอยดาว จ.จันทบุรี
อธิบายสาระสำคัญของจดหมายเปิดผนึกที่ทางเครือข่ายฯ เข้ายื่นต่อท่านนายกฯ เป็นอย่างไร
เหมือนของเก่าแก้ให้ดีก่อน ของใหม่ยังไม่ต้องเปิดใหม่ ถ้ามันยังไม่มีอะไรที่ประกันความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ก็หยุดไปก่อน หยุดทั่งร่างนโยบายฯ และ พ.ร.บ.แร่ เพราะว่า 2 ตัวมันไปด้วยกัน โดยเฉพาะมาตรา 129 ฉบับล่าสุด ที่ตอนนี้อยู่ใน กฤษฎีกา ภาค 7บอกไว้ชัดเจนเลยว่า รัฐสามารถประกาศแหล่งแร่ได้ ประกาศเสร็จปั๊บรัฐไปทำ EIAผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้คนมาเช่าทำสัมปทาน และบอกอีกว่าถ้ากระทรวงทรัพยฯ เห็นว่าตรงนี้ทำเหมือนแร่ได้ ทาง กพร. ก็จะเอาไปทำประกาศเป็นแหล่งแร่ได้เลย
ไม่ใช่ว่า พ.ร.บ. จะไม่ดีนะ แต่ว่าข้อเสียมันเยอะกว่าข้อดี เช่นเรื่องกองทุนอะไรต่างๆ ถ้ามาเทียบของ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) น่าจะเหมาะสมกว่า และมีการพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ เช่นพื้นที่ศักยภาพนั้นไปอยู่บนแหล่งต้นน้ำและไหลมาพื้นที่เกษตรของจันทบุรี แล้วคิดว่ายุทธศาสตร์มันเหมาะไหม? ไม่เหมาะ มันทำให้ปนเปื้อน เกษตรกรจันทบุรี ผลไม้ส่งออกหลายหมื่นล้านถึงแปดหมื่นล้านบาทต่อปีด้วยซ้ำถ้าผมจำไม่ผิด เหมืองแร่คุณราคาเท่าไหร่? ผมทำได้อีกเป็นร้อยปีรุ่นลูกรุ่นหลานรุ่นเหลน ขณะที่คุณทำเหมืองครั้งเดียวเราเจ๊งเลย อย่างนี้ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมต้องบอกทำไม่ได้ แต่ทีนี้ในมาตรา 98 และมาตรา99 บอกว่า เพื่อประโยชน์และเศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอนุมัติของ ค.ร.ม. มีอำนาจประกาศตามพระราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตเหมืองแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ก่อนการสงวนหวงห้ามหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้นได้
ท้ายที่สุดแล้วการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำประเทศชาติได้ไม่คุ้มเสีย
ไม่คุ้มแน่นอน รัฐได้แค่ค่าภาคหลวง รัฐไม่ได้ได้ทองคำ เขาไม่ได้เอาทองคำมาให้รัฐ ทองคำก็ส่งออก รัฐบอกว่ารัฐไม่ต้องเสี่ยงทำเองให้คนอื่นทำรัฐเก็บต๋งเหมือนพลังงาน หลังทางเรายื่นจดหมายเปิดผนึกไป นายกฯ ก็พูด มันไม่ชัด นายกฯ ต้องทำ ต้องตัดสินใจไม่ใช่พูดพล่าม พูดพล่ามนี่ไม่ใช่ผู้นำ พูดพล่ามนี่เขาเรียกคนบ้า นายกฯ ต้องทำ ต้องดำเนินการสั่งการเลย ม.44 ซี้ซั้วใช้ได้ ทีสั่งการตรงนี้ทำไมสั่งการไม่ได้? ผมไม่ได้ขอให้ใช้ ม.44 นะครับเพราะไม่เห็นด้วย แต่สั่งการ เอาละ! เช่น ร่าง พ.ร.บ. นี้พับเก็บไปให้ประชาชนมาร่วมร่าง หรือไม่ออกอาชญาบัตรพิเศษจนกว่าร่าง พ.ร.บ.แร่ จะเสร็จสมบูรณ์ หรือจนกว่ารัฐธรรมนูญจะเสร็จก่อน เพราะใส่ FTA การประเมินยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมไว้ แต่แล้วมันก็คว่ำไป ทำไมไม่เอาตัวนั้นมาใช้ เรื่องนี้มันถึงขั้นมีคนเจ็บป่วยล้มตายแล้ว มันก็ตีความได้ว่าเกิดจากเหมือง
ประเทศเรามีทองคำบนดิน ภาคเกษตรกรรมที่เรามีอยู่ ภาคประมงที่เรามีอยู่ ค้าขายที่เรามีอยู่ ชุมชนที่เรามีอยู่ นี่คือเศรษฐกิจชุมชน ทองคำบนดิน ในเหมืองคุณรู้ว่าวิธีการขุดทองคำแบบเดิมมันขุดไม่ได้ มันต้องขุดจากใต้ดินและต้องใช้สารเคมีแบบนี้ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม เอาหละ! ผมไม่ได้บอกว่าเหมืองทองคำเป็นตัวการ แต่มันมีโอกาสเสี่ยงส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ ในต่างประเทศก็มีตัวอย่างให้เห็น ในประเทศไทยก็มีตัวอย่างให้เห็น แต่นักวิชาการคนไหนฟันธงว่าเกิดจากเหมืองเพราะกลัวเขาฟ้อง!
ล้อมกรอบ//
เสียงจากชาวบ้าน เกิดเหมืองแร่ทองคำที่ไหน ชุมชนที่นั่นจะแตกแยก
ณัฐพล แก้วนวล ผู้ประสานงานกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เปิดเผยข้อมูลว่า หลังจากที่เหมืองเกิดขึ้นกลางชุมชนก็ทำให้ชุมชนมีปัญหา ปัญหาแรกที่มีผลกระทบต่อชุมชน คือปัญหาที่ดิน ถ้ามีเหมืองที่ไหนสูญเสียที่ดินที่นั่น สองประเด็นสังคม ถ้าเกิดเหมืองแร่ที่ไหนชุมชนจะแตกแยก จะหาความสามัคคีความรักใคร่ซึ่งกันไม่ได้เลย สามประเด็นสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ น้ำกินน้ำใช้ ผิวดิน ใต้ ดินพัง
“ผมคิดว่าวันนี้ผลตรวจของมหาวิทยาลัยรังสิต หรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ กระทั่งผลตรวจน้ำ ของ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ม.นเรศวร ตรวจออกมาแล้วมันปนเปื้อน ค่ามันเกินมาตรฐานแบบนี้แต่เหมืองออกมาบอกว่ามันยังสะอาดอยู่ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรต่อ เหมืองเขาบอกว่าถ้าจะให้เชื่อถือได้ต้องเอานักวิชาการที่ออสเตรเลียมาตรวจ ผมขอถามหน่อยประเทศไทยมันเกิดอะไรขึ้น?”
“การทำงานของภาครัฐทำเพื่อประชาชนตาดำๆ ชาวนาชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบ หรือจะทำเพื่อนายทุน ผลตรวจเหล่านี้มันออกมาแล้วใช้ไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ผลตรวจของ อ.หมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ตรวจผักตรวจดินมันก็ปนเปื้อนหมด หรือว่าสุดท้ายการขยายพื้นที่ 12 จังหวัดก็จะเกิดขึ้น ไม่สนใจชีวิตที่ล้มตายทุกวันๆ พอล้มตายเสร็จก็บอกว่าไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการ?”
ณัฐพลตอบโต้ถึงกระแสข่าวลือว่ากลุ่มชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องและคัดค้านก็เพื่อโก่งราคาที่ดินว่า ไม่เป็นความจริง
“ไม่มีหรอกครับ คนในพื้นที่เนินมะปราง กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม อ.เนินมะปราง คนสระบุรีที่ไหนก็แล้วแต่ ไม่มีใครอยากขายที่สักคนเลย อย่างที่ของผม ผมมีที่ดินอยู่ประมาณสัก 20 กว่าไร่ ผมก็ไม่อยากขาย เพราะผมทำเศรษฐกิจพอเพียงเต็มพื้นที่แล้ว ชาวบ้านเขากำลังจะผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรากำลังจะทำเป็นโฮมสเตย์ บริการนักท่องเที่ยว ไม่มีใครอยากขายที่สักคน ถ้ามีเหมืองที่เราคิดที่เราทำไว้มันก็สูญเปล่า ธรรมชาติที่มีอยู่มันก็จะถูกทำลายทั้งหมด นักท่องเที่ยวไม่มีใครมาเที่ยวครับถ้ามีเหมือง”
ส่วนกรณีลุงสมคิด ธรรมพะเวช อดีตคนงานเหมืองทองในจังหวัดพิจิตร ซึ่งเสียชีวิต และขณะนี้ได้ส่งร่างไปผ่าพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ณัฐพลให้ข้อมูลว่า การที่จะเอาศพคนที่ล้มตายออกจากพื้นที่ได้เป็นเรื่องยาก ส่วนใหญ่แล้วไปคุยกับญาติว่าขอศพไปพิสูจน์ก็จะมีปัญหากับทางญาติว่าอย่ามายุ่ง เขาไปสงบแล้ว อย่าเอาศพไปให้ยุ่งยากขอทำตามพิธีกรรมตามประเพณี เราพยายามทำมาหลายปีมาก เราเพิ่งทำสำเร็จศพแรกเป็นศพของ ลุงสมคิด (สมคิด ธรรมพะเวช เสียชีวิต อายุ 58 ปี) คุยกับญาติเอาศพออกจากพื้นที่แล้วนำส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้เป็นศพแรก และก็หวังว่าศพของลุงสมคิด จะเป็นหลักฐานที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าเหมืองฯ เป็นผู้ก่อภาวะจริงหรือเปล่าในเชิงกฎหมาย