ศูนย์ข่าวศรีราชา - เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องความไม่โปร่งใสของการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างนโยบายแร่ทองคำของ กพร .
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคม เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก เผยว่าเมื่อ เร็วๆ นี้ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก จาก 8 จังหวัดภาคตะวันออกประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว และนครนายก ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลทบทวน และหยุดสัมปทานทำเหมืองทองคำ และสินแร่ต่างๆ
ทั้งนี้ เนื่องจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เตรียมขยายพื้นที่ให้เอกชนเข้าสำรวจเหมืองแร่รอบใหม่ และพยายามให้มีการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำใน 12 จังหวัด ท่ามกลางข้อกังขา และเกิดความวิตกห่วงใยของประชาชน อันเนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
คือ พื้นที่ที่อยู่ในเป้าหมายสำรวจทั้ง 12 จังหวัดมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ที่ทำการผลิตพืชเกษตรกรรม และเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศที่ทุกฝ่ายในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละจังหวัดได้อนุรักษ์ร่วมกันไว้อย่างยาวนาน
ปัญหาจากการทำเหมืองแร่ทองคำก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน ทั้งที่จังหวัดเลย และจังหวัดพิจิตร มีลักษณะบ่งชี้ว่า มีสารโลหะหนัก และสารพิษปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของชุมชนรอบเหมือง รวมถึงผลผลิตในไร่นาที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียง
อีกทั้งส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และมีความเสี่ยงด้านคุณภาพน้ำ สารพิษอันตรายมีโอกาสที่จะปนเปื้อนไหลลงสู่แม่น้ำสำคัญ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นมาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาที่ชัดเจนใดๆ
มีข้อพิจารณาได้ว่า การทำเหมืองแร่ทองคำแม้จะได้มูลค่าความเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปของบัญชีประชาชาติ แต่มวลสินทรัพย์ตกเป็นของเอกชน โดยที่รัฐได้เพียงค่าภาคหลวง หรือภาษีที่น้อยนิด แต่กลับต้องแลกด้วยปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่นับวันจะทวีความรุนแรง พร้อมกับความเสื่อมโทรมของพื้นที่ที่ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับดีดังเดิมได้จริง ปรากฏการณ์นี้มีอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ทำเหมืองทั่วโลก ซึ่งหมายถึง “ได้ไม่คุ้มเสีย”
กฎหมาย ระเบียบ และมาตรการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ยังมีจุดอ่อน หรือข้อบกพร่อง และยังมีความย้อนแย้งกันในทางปฏิบัติมาโดยตลอด ควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแร่ให้ดี และทันต่อสถานการณ์ใหม่ด้วยความรอบคอบ ทั้งควรจะใส่ใจต่อพื้นที่ที่กำลังมีปัญหา และยุติความเดือดร้อนให้เรียบร้อยเสียก่อน ก่อนที่จะมีการขยายการอนุญาตสำรวจแร่และประทานบัตรในพื้นที่ใหม่
ทั้งหมดนี้เครือข่ายเพื่อนตะวันออกจึงขอเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลได้ปฏิรูปการเหมืองแร่โดยคำนึงถึงความสอดคล้องต่อทิศทางการพัฒนาการจัดการแร่ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่12) ทั้งขอให้ทบทวนการให้สัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำและสินแร่ต่างๆ ทั้งในส่วนของนโยบาย การปฏิบัติ รวมถึงการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการประกอบการเหมืองแร่ทองคำที่ก่อปัญหาปัจจุบัน ตลอดจนระงับการผ่าน “ร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่” ที่เสนอสู่คณะรัฐมนตรีก่อน เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมาปรับปรุงแก้ไขแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเพื่อความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสังคมต่อไป