การสัมมนา Industrial Supply Chain Logistics Conference 2015 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปลัด ก.อุตฯ เผยต้องเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงเป็น Trading Nation
อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลก ที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็วเป็นพลวัตทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี หรือแม้แต่การเปลี่ยนขั้วการพัฒนาประเทศมายังแถบเอเชียมากขึ้น อีกทั้งการเติบโตของประเทศที่กำลังพัฒนา การขยายตัวของสังคมเมือง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การที่มีสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติ การก่อวินาศกรรม การขาดแคนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการทำธุรกิจ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลพัฒนาส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมสนับสนุน จึงต้องเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีความสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้สอดรับกับกระแสดังกล่าว อีกทั้ง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยยกระดับสู่การเป็นชาติการค้า หรือ Trading Nation โดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือ Modern Industry ของภาคเอกชนเป็นพลังขับเคลื่อนหลักประการหนึ่ง
“กระทรวงฯได้ส่งเสริมและพัฒนาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโซ่อุปทานให้ภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการดำเนินงานในอนาคตระหว่างปี 2559 - 2564 ที่ได้กำหนดแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมไทย ให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการตลอดโครงข่ายการผลิต และการส่งมอบให้มีความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานใน 5 มิติ ประกอบด้วย 1) มิติการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 2) มิติการเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารเชิงดิจิตัล หรือ
3) มิติการสร้างความสามารถขององค์กรในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 4)มิติการเตรียมความพร้อมรองรับกระแสโลกาภิวัฒน์และตลาดใหม่ 5) มิติการพัฒนาบุคลากรและฐานข้อมูลเพื่อการอุตสาหกรรม
การสัมมนาในครั้งนี้ กระทรวงฯ ต้องการสร้างความตระหนัก ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ ให้กับบุคลากรภาครัฐและเอกชน ร่วมกันผลักดันให้เกิดปฏิบัติการต่อเนื่องสู่ยุคการผลิตและการค้าสมัยใหม่ พร้อมทั้งได้มีการมอบรางวัลพัฒนาการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมดีเด่น สำหรับสถานประกอบการและผู้ที่สอบผ่านการทดสอบความรู้ด้านโลจิสติกส์ รวมจำนวน 29 รางวัลอีกด้วย” ปลัดอรรชกา กล่าว
ด้าน สุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานสัมมนาในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กพร และหน่วยร่วมดำเนินโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 จำนวน 18 หน่วยงาน ดำเนินการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย
ทั้งนี้ ในปี 2557 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งสิ้น จำนวน 34 โครงการ สามารถพัฒนาสถานประกอบการ 609 ราย พัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 9,000 คน เชื่อมโยงความร่วมมือในโซ่อุปทาน 28 โซ่ และพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์ 11 ระบบ ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนของภาคธุรกิจคิดเป็นมูลค่า 5,269 ล้านบาท
สำหรับในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินงานทั้งสิ้น 27 โครงการ โดยมีเป้าหมายพัฒนาสถานประกอบการ 371 ราย และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2,500 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรได้ประมาณ 5,800 คน เชื่อมโยงความร่วมมือในโซ่อุปทาน 19 โซ่ และพัฒนาระบบสารสนเทศโลจิสติกส์ 8 ระบบ