xs
xsm
sm
md
lg

หอฯ ตราดร่วม ม.หอการค้าไทยจัดเสวนา “Cross Border Model” พัฒนาลอจิสติกส์เชื่อมเขต ศก.พิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หอฯตราดร่วมม.หอการค้าไทยจัดเสวนา Cross Border Modelพัฒนาโลจิสติกส์เชื่อมเขตศก.พิเศษ
ตราด - หอฯ ตราดร่วมกับ ม.หอการค้าไทย จัดเสวนา “Cross Border Model” พัฒนาลอจิสติกส์เชื่อมเขต ศก.พิเศษ ชี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ด้านประธานหอฯ ตราด ย้ำโครงสร้างพื้นฐานยังมีปัญหา

วันนี้ (27 พ.ค.) ที่หอการค้าจังหวัดตราด สถาบันวิจัยและพัฒนาโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้า จ.ตราด ที่มี รศ.ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับ นายอุทัย ตันชัย ประธานหอการค้า จ.ตราด จัดการเสวนาเรื่อง “Cross Border Model” ดังกล่าว โดยมีผู้ประกอบการขนส่ง จ.ตราด กว่า 30 คน และกรรมการหอการค้า จ.ตราด ร่วมเสวนาครั้งนี้

รศ.ดร.สถาพร กล่าวว่า สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สนับการจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านลอจิสติกของ จ.ตราด ได้รับความรู้ และเข้าใจในเรื่องการประกอบธุรกิจในการส่งสินค้าออก และการที่รัฐบาลได้ประกาศให้ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านลอจิสติกส์และการบริการ จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบต้องมีความรู้ในเรื่องนี้

นายอุทัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าหลังการประกาศให้ จ.ตราดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านลอจิสติกส์และการบริการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเข้าใจ และรู้ถึงโอกาสในการปรับตัวเพื่อก้าวไปทำธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาบุคลากรหลักในการทำธุรกิจการขนส่งสินค้ากับกัมพูชา นอกจากนี้ ทางหอการค้า จ.ตราด และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยต้องการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการเพื่อนำไปพัฒนา และต่อยอดด้วย

ดร.มณิสรา บารมีชัย อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงโมเดลในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบขนส่งซึ่งจะพบว่า การขนส่งสินค้าของ จ.ตราด ในปัจจุบันขนส่งทางถนนจากกรุงเทพฯ มายัง จ.ตราด เพื่อไปยังกัมพูชา ต้องนำมาลงที่ท่าเรือ และส่งผ่านทางเรือขนส่งไปยังกัมพูชา และไปยังเวียดนาม แต่ปัจจุบันการขนส่งทางบกเริ่มเข้ามามีความสำคัญมากขึ้น แต่การขนส่งไปทางบกยังติดปัญหาในเรื่องข้อกฏหมาย และเรื่องการประกันภัย

รวมทั้งระบบการขนส่งที่จะต้องใช้หัวลากเข้ากัมพูชาที่ยังไม่สะดวก ขณะที่พื้นที่การรองรับ หรือสถานีขนถ่ายสินค้าที่ใหญ่พอที่เป็นที่จอดพัก และทำธุรกรรมได้ในที่เดียวแบบวันสต็อปเซอร์วิส การมีศูนย์ข้อมูล หรือชายแดนที่เล็กจึงเป็นอุปสรรค หรือการมีถนน 4 เลน ยังไม่เพียงพอ รวมทั้งการขนส่งทางเรือยังไม่พร้อมด้วย

“สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การมีฮับในการจัดการในทุกเรื่องก่อนการส่งออก ที่ต้องมีความสะดวกทั้งการทำธุรกรรม การมีศูนย์ข้อมูลทั้งของสินค้า และข้อมูลด้านกฎหมาย และความต้องการของผู้ประกอบการกัมพูชาว่าต้องการสินค้าอะไร รวมทั้งการขออนุญาตในทุกเรื่องด้วย มีแรงงานที่มากพอ ที่สำคัญหากมีจุดตรวจร่วมที่ทางไทย และกัมพูชาสามารถทำงานได้ครั้งเดียวจะยิ่งสะดวกมากขึ้น และผู้ประกอบการต้องปรับตัว และหาความรู้ในเรื่องการประกอบธุรกิจ การใช้ภาษาท้องถิ่น น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงมา” ดร.มณิสรา กล่าว

นายอุทัย กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวเรียนรู้ แต่ปัญหาต่อไปนี้ของ จ.ตราดก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ จ.ตราด ที่อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี สำหรับการก่อสร้างถนน 4 เลน จาก จ.ตราด ไปชนชายแดนที่หาดเล็ก ระยะทางเกือบ 100 กม.ที่ประมูลไปแล้ว 2 ช่วง และจะสร้างในปี 2558 แต่อีกส่วนหนึ่ง 35 กม.จะสร้างในปี 2559 และต้องใช้เวลา 700 วัน หรือ 2 ปี ซึ่งจะเกิดปัญหาแน่นอนสำหรับการขนส่งสินค้านับจากนี้เป็นต้นไป

อีกทั้งถนนจากกรุงเทพฯ มาตราด ช่วง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มา อ.แกลง จ.ระยองสภาพถนนแย่มาก ส่วนที่มาจาก อ.แกลง มา จ.ตราด ยังมีสถาพดี ดังนั้น ทางหอการค้า จ.ตราด ได้เสนอให้ทางรัฐบาลได้ก่อสร้างรถไฟรางคู่ หรือรางเดี่ยวจากมาบตะพุด จ.ระยอง มาที่ จ.ตราด ด้วยเพื่อเป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้า และอย่ามองว่าไม่คุ้มทุน แต่ต้องยอมขาดทุนเพื่อให้เกิดทางเลือกต่อผู้ประกอบการด้วย
มีหลายหน่วยงานร่วมเสวนา และเสนอแนวความคิดต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุง
กำลังโหลดความคิดเห็น