xs
xsm
sm
md
lg

ม.หอการค้าไทยชี้ศักยภาพแข่งขันเอสเอ็มอีไทยแค่คาบเส้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ม.หอการค้าไทย ระบุผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี ช่วง Q4/2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 สะท้อนศักยภาพแค่คาบเส้น เชื่อปี 58 ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐบาล ขณะที่ปัญหาสำคัญในช่วง Q1/2558 ขาดสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งทุนยาก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ผลสำรวจความสามารถการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จากกลุ่มสำรวจ 1,450 ราย ระหว่างวันที่ 5-23 มกราคม 2558 พบว่า ดัชนีความสามารถฯ ไตรมาส 4/2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากไตรมาส 3/2557 หรือค่าดัชนีเพิ่มจาก 49.8 จุด เป็น 50.5 จุด สะท้อนความสามารถธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ระดับปานกลางและแนวโน้มทรงตัว ซึ่งเป็นผลมาจากดัชนีสุขภาพของธุรกิจ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจและดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจดีขึ้น แต่พบว่าดีขึ้นเล็กน้อยแค่ 0.2 จุด 0.9 จุด และ 1 จุด ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจยังประสบปัญหายอดขายตก ต้นทุนเพิ่ม กำไรลดลง ความสามารถเข้าถึงแหล่งทุนต่ำ ทำให้สภาพคล่องทางธุรกิจแย่ลง โดยเฉพาะธุรกิจภาคผลิตและภาคการค้าจะกระทบมากกว่าภาคบริการ ประเภทธุรกิจที่มีปัญหามากสุด คือ ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และค้าส่ง/ค้าปลีก

ทั้งนี้ ธุรกิจคาดหวังความสามารถการแข่งขันของธุรกิจปี 2558 ปรับตัวดีขึ้น และดัชนีเพิ่มอยู่ระดับ 56.2 เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอัดฉีดระบบเศรษฐกิจ โดยธุรกิจเอสเอ็มอีแค่ร้อยละ 11 เห็นว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.3 เห็นว่าเท่าเดิม และร้อยละ 38.7 เห็นว่ายอดขายจะลดลง อีกทั้งเห็นว่าเศรษฐกิจรวมจะฟื้นตัวไตรมาส 2 ปีนี้ ส่วนธุรกิจจะฟื้นตัวไตรมาส 3 ปีนี้ และมีโอกาสเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4 ซึ่งเป็นความหวังจากการลงทุนภาครัฐกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศและการส่งออกฟื้นตัวเติบโตได้ร้อยละ 4

สำหรับสถานการณ์แนวโน้มเอสเอ็มอีไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 นี้ ปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุดคือ เรื่องของสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รองลงมาเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นการบริโภคหรือกำลังซื้อของประชาชนเนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักจนไม่สามารถเพิ่มศักยภาพขององค์กรเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ หรือรับมือกับการเข้ามารุกตลาดของบริษัทขนาดใหญ่และทุนข้ามชาติโดยเฉพาะในตลาดท้องถิ่นที่เอสเอ็มอีเป็นผู้ครองตลาดอยู่

สำหรับแนวทางที่เอสเอ็มอีต้องการให้รัฐบาลบรรจุในแผนแม่บทเอสเอ็มอีตามนโยบายของรัฐบาล คือ การออกกฎหมายให้ใช้หลักประกันอื่นๆ เช่น การนำใบคำสั่งซื้อ (ออเดอร์)มาค้ำประกันของสินเชื่อเหมือนกับรายใหญ่ที่มีการใช้กันมาก รวมถึงการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เพื่อเพิ่มวงเงินในการค้ำประกันสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากนั้น ต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งทบวงเอสเอ็มอีพร้อมทั้งจัดตั้งสภาเอสเอ็มอีหรือสมาพันธ์เอสเอ็มอีในส่วนของภาคเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจได้ง่ายขึ้นขณะเดียวกันก็ผลักดันให้นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดมากขึ้น ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เอสเอ็มอี จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ออนไลน์แก่ธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นต้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น