ลำปาง - กรณีพิพาทโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่จบ แม้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กฟผ.ดำเนิน 5 มาตรการแก้ไขผลกระทบให้ชาวบ้านภายใน 90 วัน แต่ล่าสุดกลับเสนอมาตรการใหม่ประกบคำสั่งศาลฯ ทุกข้อ ทั้งการอพยพโยกย้าย ทำม่านน้ำดักฝุ่น ฟื้นขุมเหมือง ปลูกป่าแทนทำสนามกอล์ฟ และสวนพฤกษชาติ จนทีมทนายต้องขอสงวนสิทธิ์รับเงื่อนไข
ตลอดวานนี้ (17 มิ.ย.) นายพรชัย จันทรมะโน พนักงานคดีปกครองชำนาญพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนงานคดีและบังคับคดีปกครอง ศาลปกครองเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายวิชิต ขอดเตชะ พนักงานคดีปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม 3 คน คือ นายธนู เอกโชติ นายวิโรจน์ ช่างสาร น.ส.นภาพร สงปราน และมีตัวแทนผู้ฟ้องคดี ประกอบด้วย นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ นางจินดา นิยมพานิช พร้อมสมาชิกเครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะ และชาวบ้านอีกกว่า 20 คนเข้าร่วม
โดยฝ่ายผู้ถูกร้อง คือ กฟผ. มีนายถาวร งามกนกวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ และนายโอภาส จริยภูมิ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ เป็นผู้ให้ข้อมูลและรายละเอียดของการดำเนินงานตามคำสั่งของศาลปกครอง ตาม 5 มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดให้สิ้นสุดภายใน 90 วัน คือวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยในมาตรการที่ 1 ศาลปกครองให้ กฟผ.ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ ความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้
กฟผ.ได้มีการเสนอมาตรการใหม่จากการใช้ม่านน้ำเป็นการปลูกต้นไม้ (ต้นสน) แทน โดยอ้างว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างม่านน้ำเดิมกับต้นสนที่ปลูกและเจริญเติบโตแล้วนั้น พบว่าการดักฝุ่นโดยการใช้ต้นไม้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้ม่านน้ำ ดังนั้นจึงขอใช้การปลูกต้นไม้แทน เพราะเห็นว่าเป็นมาตรการที่ดีกว่าที่ศาลมีคำพิพากษา และได้รับการอนุญาตจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แล้ว
ส่วนมาตรการที่ 2 ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่น และผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาอพยพชาวบ้านที่มีผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคม ชีวิต ทรัพย์สิน
กฟผ.ระบุว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นประธาน แต่ไม่มีผู้ฟ้องคดีที่ได้รับผลกระทบเข้าไปเป็นคณะทำงานแม้แต่คนเดียว พร้อมกันนี้ กฟผ.ยังได้เพิ่มเงื่อนไขว่า นอกจากผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตรแล้ว ยังต้องทิ้งดินตั้งแต่ 148 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีขึ้นไปด้วย
มาตรการที่ 3 ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้กลับคืนสภาพเดิม คือ ปลูกป่าทดแทนในส่วนที่เป็นสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ กฟผ.ยังคงยืนยันไม่มีการปลูกป่าทดแทนในส่วนนี้ โดยอ้างว่าเป็นเพียงที่ทิ้งดิน และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นขุมเหมือง และไม่ได้เป็นแปลงประทานบัตรเดียวกันกับที่พิพาท แต่ทาง กฟผ.ก็ได้ปลูกต้นไม้โตเร็วแล้ว
มาตรการที่ 4 ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ กฟผ.ได้เสนอมาตรการใหม่ ขอใช้ระบบบำบัดน้ำโดยใช้ Anaerobic bacteria หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดซัลเฟตก่อนปล่อยสู่ wetland เนื่องจากหากใช้วิธีตามที่ศาลสั่งระหว่างการขุดลอกเอาพืชเก่าทิ้งจะต้องหยุดการทำงาน 24 เดือนเพราะต้องรอพืชน้ำเจริญเติบโต ส่วนวิธีการใหม่ขณะนี้ได้เริ่มลงมือทำแล้ว แต่อยู่ระหว่างการวิจัย
และมาตรการที่ 5 ให้ดำเนินการป้องกันฝุ่นที่เกิดจากการขุดเปิดหน้าดิน และให้ทำ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และให้ทำ Bunker และให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่า Bunker และให้มีการสเปร์ยน้ำบนสายพานส่งดินตลอดแนว
กฟผ.ได้เสนอมาตรการใหม่ว่า ได้มีการวางแผนจุดปล่อยดินแล้ว และเนื่องจากพื้นที่มีกระแสลมที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ทั้งกระแสลมท้องถิ่นและกระแสทั่วไป ทำให้ยากต่อการกำหนดทิศทางลม จึงทำให้ยากในการกำหนดจุดปล่อยดินที่จะให้ห่างจากชุมชน แต่จะให้ห่างมากที่สุด หากไม่สามารถทำได้ จะให้ทำการฉีดพ่นหน้าดินก่อนทำการขุดขนในฤดูแล้ง และจะสเปร์ยน้ำบนสายพานเป็นระยะให้เพียงพอใกล้จุดปล่อยดิน
จากการแถลงของฝ่ายผู้ถูกร้อง คือ กฟผ. พบว่าได้มีการเสนอมาตรการใหม่ แทนการดำเนินงานตามคำพิพากษาทั้งหมดทุกข้อ ทำให้ฝ่ายผู้ฟ้อง คือ ทนายความที่เป็นตัวแทนผู้ฟ้องคดีขอสงวนสิทธิ์ในการให้ความเห็นชอบทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาล ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าวได้ โดยขอนำเรื่องทั้งหมดที่ผู้ถูกฟ้องเสนอไปพิจารณา และอาจจะร้องศาลให้เป็นผู้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว
นายวิชิต ขอดเตชะ พนักงานคดีปกครอง กล่าวภายหลังนำทีมทั้งหมดลงตรวจตามจุดต่างๆ รวม 5 จุดที่ศาลมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ดำเนินการด้านการป้องกันและแก้ไขผลกระทบว่า การเดินทางมาในครั้งนี้เป็นเพียงการลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลและข้อเสนอของผู้ถูกร้องเท่านั้น ซึ่งเมื่อตรวจแล้วผลออกมาอย่างไรก็จะนำเสนอศาลเพื่อพิจารณาต่อไป