xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.แม่เมาะยันทำตามคำสั่งศาลไม่มีเบี่ยงเบน อ้าง สผ.-กพร.ตีตราผ่านแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายถาวร งามกนกวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ลำปาง - กฟผ. เหมืองแม่เมาะ ยันปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเคร่งครัด ไม่มีเบี่ยงเบน อ้าง สผ.-กพร.ประทับตราผ่านแล้ว ย้ำไม่จำเป็นต้องรื้อสนามกอล์ฟ บอกอยู่คนละส่วนกับขุมเหมือง มีถนนกั้นชัดเจน

นายถาวร งามกนกวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในที่ประชุมเสวนายามเช้า (Morning Brief) ของจังหวัดลำปาง ที่มีนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน ที่ห้องประชุมเวียงละกอน ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง เมื่อเร็วๆ นี้ กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้ไขปัญหาเหมืองแม่เมาะที่มีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบยื่นฟ้องร้อง

นายถาวรยืนยันว่า กฟผ.ได้ดำเนินการตามมาตรการคำพิพากษาศาลอย่างเคร่งครัด โดยผู้ฟ้องได้ยื่นฟ้อง 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การเพิกถอนประทานบัตร เนื่องจาก กฟผ.ไม่ได้ปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดลอม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) 2. เรื่องการจ่ายค่าชดเชยสุขภาพให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ กฟผ.ไม่ได้ดูแล หรือฝ่าฝืนตามมาตรการ EIA และ 3. ให้ กฟผ.ปฏิบัติตามมาตรการ EIA เดิมอย่างเคร่งครัด

แต่ กฟผ.ได้ขอเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เห็นชอบและอนุญาตให้ กฟผ.เปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ทั้งได้แจ้งให้ผู้อำนวยการศาลปกครองเชียงใหม่ทราบว่า กฟผ.ได้ปฏิบัติการตามมาตรการใหม่ที่ได้รับอนุญาตอย่างเคร่งครัดแล้ว

ส่วนเรื่องการจ่ายค่าชดเชยปัญหาสุขภาพ ศาลปกครองเคยตัดสินคดีนี้แล้วว่าผู้ร้องได้รับผลกระทบจากการเผาเศษวัชพืชทางการเกษตรในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นปัญหาทั่วภาคเหนือ ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะก็ไม่ได้แตกต่างไปจากจังหวัดอื่น ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัยยืนยันชัดเจน ในส่วนนี้ศาลไม่ได้สั่งให้จ่ายค่าชดเชย

ประเด็นที่ 3 ฟ้อง กฟผ.ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ EIA แต่ กฟผ.ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงมาตรการใหม่จาก กพร. และได้ยื่นต่อศาลปกครองเชียงใหม่แล้วจึงดำเนินการตามมาตรการใหม่ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการฟุ้งกระจายของฝุ่น มีการปลูกต้นไม้สูงกว่าม่านน้ำ ผลตรวจวัดก็ไม่มีอะไรแตกต่าง

ส่วนการฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับธรรมชาตินั้น ความเป็นจริงสนามกอล์ฟกับพื้นที่ขุมเหมืองไม่ได้ทับซ้อนกัน มีถนนกั้นชัดเจน สนามกอล์ฟจึงไม่ใช่พื้นที่ในข้อพิพาท และไม่จำเป็นต้องรื้อสนามกอล์ฟตามที่มีข่าวออกไป

ด้านการบำบัดน้ำใน Wetland มีการบำบัดคุณภาพน้ำ โดยมีต้นกกธูปฤาษีขึ้นปกคลุมเต็มพื้นที่ และปฏิบัติตามมาตรการใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งศาลก็เห็นด้วยตามที่ กพร.อนุญาต รวมถึงการเปิดชั้นดินที่มีระบบสเปรย์น้ำที่ดีกว่าเดิมด้วย

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานและมีประเด็นรายละเอียดมากยากที่จะเข้าใจ จึงฝากให้ กฟผ.แม่เมาะจัดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนในระดับพื้นที่ เพื่อเผยแพร่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั่วไป

อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายพรชัย จันทรมะโน ผู้อำนวยการกลุ่มงานให้คำปรึกษาและแนะนำ ศาลปกครองเชียงใหม่ พร้อมตัวแทนจากส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสภาทนายความแห่งประเทศไทย และผู้ยื่นฟ้อง ได้เข้าตรวจสอบสถานที่บริเวณพื้นที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อทำบันทึกรายละเอียดการตรวจสถานที่พิพาทตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ซึ่งทนายฝ่ายโจทก์ได้สงวนสิทธิ์ เนื่องจากเห็นว่า กฟผ.เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

โดยในมาตรการที่ 1 ศาลปกครองให้ กฟผ.ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ ความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ กฟผ.ได้มีการเสนอมาตรการใหม่จากการใช้ม่านน้ำเป็นการปลูกต้นไม้ (ต้นสน) แทน

โดยอ้างว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างม่านน้ำเดิมกับต้นสนที่ปลูกและเจริญเติบโตแล้วนั้น พบว่าการดักฝุ่นโดยการใช้ต้นไม้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้ม่านน้ำ ดังนั้นจึงขอใช้การปลูกต้นไม้แทน เพราะเห็นว่าเป็นมาตรการที่ดีกว่าที่ศาลมีคำพิพากษา และได้รับการอนุญาตจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แล้ว

มาตรการที่ 2 ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่น และผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาอพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคม ชีวิต ทรัพย์สิน

กฟผ.ระบุว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นประธาน แต่ไม่มีผู้ฟ้องคดีที่ได้รับผลกระทบเข้าไปเป็นคณะทำงานแม้แต่คนเดียว พร้อมกันนี้ กฟผ.ยังได้เพิ่มเงื่อนไขว่า นอกจากผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตรแล้ว ยังต้องทิ้งดินตั้งแต่ 148 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีขึ้นไปด้วย

มาตรการที่ 3 ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้กลับคืนสภาพเดิม คือ ปลูกป่าทดแทนในส่วนที่เป็นสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ

กฟผ.ยังคงยืนยันไม่มีการปลูกป่าทดแทนในส่วนนี้ โดยอ้างว่าเป็นเพียงที่ทิ้งดิน และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นขุมเหมือง และไม่ได้เป็นแปลงประทานบัตรเดียวกันกับที่พิพาท แต่ทาง กฟผ.ก็ได้ปลูกต้นไม้โตเร็วแล้ว

มาตรการที่ 4 ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ

กฟผ.ได้เสนอมาตรการใหม่ ขอใช้ระบบบำบัดน้ำโดยใช้ Anaerobic bacteria หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดซัลเฟตก่อนปล่อยสู่ wetland เนื่องจากหากใช้วิธีตามที่ศาลสั่งระหว่างการขุดลอกเอาพืชเก่าทิ้งจะต้องหยุดการทำงาน 24 เดือนเพราะต้องรอพืชน้ำเจริญเติบโต ส่วนวิธีการใหม่ขณะนี้ได้เริ่มลงมือทำแล้ว แต่อยู่ระหว่างการวิจัย

และมาตรการที่ 5 ให้ดำเนินการป้องกันฝุ่นที่เกิดจากการขุดเปิดหน้าดิน และให้ทำ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และให้ทำ Bunker และให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่า Bunker และให้มีการสเปร์ยน้ำบนสายพานส่งดินตลอดแนว

กฟผ.ได้เสนอมาตรการใหม่ว่า ได้มีการวางแผนจุดปล่อยดินแล้ว และเนื่องจากพื้นที่มีกระแสลมที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ทั้งกระแสลมท้องถิ่นและกระแสทั่วไป ทำให้ยากต่อการกำหนดทิศทางลม จึงทำให้ยากในการกำหนดจุดปล่อยดินที่จะให้ห่างจากชุมชน แต่จะให้ห่างมากที่สุด หากไม่สามารถทำได้จะให้ทำการฉีดพ่นหน้าดินก่อนทำการขุดขนในฤดูแล้ง และจะสเปร์ยน้ำบนสายพานเป็นระยะให้เพียงพอใกล้จุดปล่อยดิน

กำลังโหลดความคิดเห็น