กลุ่มค้านเหมืองแร่ทองคำ 5 จังหวัด ยื่น ป.ป.ช. สอบ “ดีเอสไอ” เหตุไม่รับเรื่อง “เหมืองทองคำเป็นคดีพิเศษ” ตัวแทน ยันร้องเรียนปม “ไซยาไนต์และสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ” ไปนานกว่า 6 ปี (2553) ก่อนชาวบ้านเสียชีวิต 25 ราย กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ ลงไปตรวจสอบ ด้านเวทีวิชาการแฉร่างพ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่เอื้อนายทุน นักวิชาการ - เอ็นจีโอ - ภาคประชาชนรุมต้าน หวั่นป่าต้นน้ำชั้นเอพินาศ ประธานมูลนิธิสืบเผยเล่ห์สัมปทานเหมืองทอง
วันนี้ (29 ก.ย.) นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ พร้อมตัวแทนกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ 5 จังหวัด อาทิ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมี นายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบผลการดำเนินการเรื่องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ กรณีเหมืองแร่ทองคำพิจิตร เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนร้ายแรงต่อประชาชนจำนวนมากในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ
นางวันเพ็ญ กล่าวระหว่างยืนหนังสือ ว่า ตัวแทนประชาชนเคยยื่นร้องเรียนต่อ ดีเอสไอ ให้พิจารณารับคดีเหมืองแร่ทองคำเป็นคดีพิเศษและเพิ่มเติมพยานหลักฐานเอกสารไปพร้อมแล้ว จึงขอให้ ป.ป.ช. ร่วมดำเนินการตรวจสอบผลการดำเนินการดังกล่าวว่ามีความคืบหน้าอย่างไร เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในเรื่องร้องเรียนของ ป.ป.ช. ด้วย
ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจนเสียชีวิตไปแล้ว 25 ราย แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอลงไปตรวจสอบและพิสูจน์แต่อย่างใด เพราะยังไม่ได้รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ ทั้งที่ผลการตรวจเลือดของชาวบ้านที่เสียชีวิต พบว่า มีไซยาไนต์และสารปนเปื้อนโลหะหนักในนาข้าว น้ำประปา รวมถึงแหล่งน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2553 และในปีเดียวกันยังพบสารไซยาไนต์ในพืชผัก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีผู้ป่วยสูงอันดับหนึ่งของประเทศมาแล้วซึ่งเป็นสถิติสูงจนผิดปกติ
“ดังนั้น จึงขอให้ ป.ป.ช. ร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของดีเอสไอว่ามีความคืบหน้าอย่างไรและขอให้ดีเอสไอดำเนินการด่วนที่ภายในเวลา 15 วัน หลังจากที่ทางกลุ่มฯยื่นเอกสารหลักฐานไปทั้งหมดแล้ว”
มีรายงานว่า ทางกลุ่มฯได้ยื่นเรื่องร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.).เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนไปแล้ว
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ศึกษาข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลดีผลเสียก่อนเปิดสัมปทานเหมืองทองคำใน 12 จังหวัด เนื่องจากขณะนี้มีกระแสคัดค้านแต่ไม่ยืนยันว่าจะยุติการให้สัมปทานเหมืองทองคำหรือไม่ พร้อมกับมีคำสั่งให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเรื่องเหมืองทองคำไปก่อน ขณะที่การแก้ไข พ.ร.บ. เหมืองแร่ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กทม. ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จัดเวทีเสวนา “จับตาร่างกฎหมายแร่ การอนุญาตให้สำรวจและสัมปทานแร่ภายใต้ภาวะอำนาจพิเศษ” โดยมีตัวแทนชาวบ้านและนักวิชาการข้าร่วมประมาณ 50 คน
ดร.สุรพล ดวงแข ตัวแทนมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า สถานการณ์ของการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ของประเทศไทย ในขณะนี้เป็นการทำ พ.ร.บ. ที่สวนทางกับการอนุรักษ์ โดยเฉพาะการอนุญาตให้เปิดพื้นที่ป่า ซึ่งอุตสาหกรรมแร่ หรืออุตสาหกรรมใดก็ตามที่ทำในป่า ย่อมเป็นการรบกวนสัตว์ป่าอย่างแน่นอน หากปล่อยให้เกิดขึ้น จะเป็นผลเสียต่อกระบวนการอนุรักษ์ในเมืองไทย และขัดต่อหลักการอนุรักษ์สากล เพราะตามแผนการอนุรักษ์ป่าของนานาชาติจะต้องสงวนป่าเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศ ไม่ใช่เพื่อการเปิดพื้นที่ทำอุตสาหกรรมใด ๆ ขณะนี้พื้นที่อนุรักษ์ป่าเมืองไทยเหลือแค่ 30% เท่านั้น ถ้าจะมีพ.ร.บ.ที่เอื้อต่อการทำลายป่าอีก น่ากังวลไม่น้อย ว่าอนาคตป่าไม้เมืองไทยก็จะวิกฤตหนักขึ้น
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า การสำรวจพื้นที่ที่มีแร่ทำโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เช่นเดียวกับกรมป่าไม้ การร่างกฎหมายแร่มาในลักษณะเอื้อการทำธุรกิจเหมืองก็เท่ากับว่า ทั้งสองกรมร่วมมือกันได้ ทุกวันนี้เขตป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นที่ดินในสังกัดของรัฐ ทั้ง สปก. ภทบ. ล้วนแล้วแต่สงวนเพื่อการเปิดพื้นที่ทำธุรกิจในอนาคตทั้งนั้น ตัวอย่างกรณีเหมืองทอง การยื่นขออาชญาบัตรเพื่อการสำรวจแร่ไม่ใช่เรื่องยาก บริษัทสามารถใช้เทคโนโลยีสำรวจได้เต็มที่ในพื้นที่ป่าประเมินได้ว่าร้อยละ 70 - 80 ของพื้นที่ป่าสงวนพบทองแน่นอน แต่มีแร่อื่นปนอยู่ด้วย หลักการของบริษัทที่ยื่นอาชญาบัตร คือ การยื่นให้กว้าง ๆ ครอบคลุมทั้งอำเภอ หรืออาจจะ 2 - 3 ตำบลใน 1 อำเภอ แล้วหลังจากนั้นก็นำมาสู่กระบวนการขอประทานบัตร ซึ่งขั้นตอนการขอประทานบัตรเจาะเป็นหมู่บ้าน แล้วทำประชาคมโดยประสานงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พร้อมเสนอตัวเลขในการแบ่งทางการเงินที่ อบต. มักไม่ปฏิเสธ และเสนอว่าจะทำเหมืองในบางหมู่บ้านเท่านั้น ดังนั้นถ้าประชาชนจะสู้ต้องสู้และต้านตั้งแต่การขออาชญาบัตร เพื่อจะชนะได้ง่ายขึ้น
“ตอนนี้ป่าสงวนมีราว 1,221 แห่ง ผมเชื่อว่าการขออาชญาบัตรเข้าไปสู่พื้นที่ป่าเหล่านี้ได้ หายนะของการอนุรักษ์ก็จะมาถึงแน่ ๆ ที่น่าห่วง คือ พื้นที่ป่าต้นน้ำชั้นเอ เป็นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ ไม่มีการทำกิน หรือสร้างที่อยู่อาศัย ทับพื้นที่ก็เสี่ยงต่อการถูกสำรวจเช่นกัน ข้อสังเกตของผม คือ บริษัทเหล่านี้จะพยายามใช้ช่องว่างกฎหมายเพื่อทำธุรกิจมาโดยตลอด ทีนี้ถ้าจะกล่าวถึงผลกระทบจากเหมือง กรณีเหมืองทองในประเทศไทยแบบจังหวัดเลยนั้น ทำในพื้นที่ป่า พื้นที่เทือกเขา ก็อาศัยช่องทางขออนุญาตรัฐไปเลยทำได้สบาย ๆ แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าทำไม่ดี ทำพลาด สารปนเปื้อนจะออกมาจากบ่อ จากพื้นที่ทำเหมืองมาสู่ชุมชนได้ ซึ่งตอนนี้ต้องระงับก็เพราะมีผลกระทบ แต่ยังไม่สู่กระบวนการพิสูจน์ความผิดเพื่อให้บริษัทรับผิดชอบเท่านั้นเอง ชุมชนก็รับผลกระทบไปเรื่อย ๆ แต่กรณีพิจิตรนั้น เป็นที่ราบ ที่ส่วนบุคคล บริษัทจะใช้ช่องทางซื้อที่ดินโดยรอบก่อน แล้วค่อย ๆ ตีวงล้อมเข้ามาสู่บ้านที่อยู่กลางชุมชน ที่หัวดื้อไม่เอาด้วย หวังให้ชาวบ้านทนอยู่ไม่ได้ เพราะผลกระทบเกิดเป็นมลภาวะทางอากาศ น้ำ แพร่สู่ชุมชน เมื่อนั้นคนทำเหมืองก็จะเข้ามาซื้อที่ดินในกลุ่มนั้น เพื่อทำเหมืองแร่ต่อไป ซึ่งไม่ได้ทำให้ธุรกิจชะงักลงเลย” นายศศิน กล่าว
นางศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)กล่าวว่า ข้อเสนอต่อการร่าง พ.ร.บ. แร่ นั้น คปก. แนะนำว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายแร่ เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการแร่แห่งชาติ กรณีที่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ต้องมีการแก้ไขแผนใหม่ นอกจากนี้ต้องมีคณะกรรมการแร่ ออกหลักเกณฑ์ในการกำกับอนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ โดยมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะกรรมการ ซึ่งหากพบว่าการดำเนินการทำแร่ที่ไม่คุ้มทุน และทำในพื้นที่อนุรักษ์ ก็สามารถคัดค้านได้ เพราะการเปิดพื้นที่ในประเทศไทยเพื่อการทำประโยชน์พาณิชย์ของเอกชน ต้องคิดให้รอบคอบ และต้องมีคณะกรรมการจังหวัดเพื่อพิจารณากระบวนการต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วย เพราะคนท้องถิ่นย่อมรู้ดีกว่าคนนอก ทั้งนี้แร่ถือเป็นทรัพยากรรวมของทั้งประเทศ ประชาชนถือว่ามีสิทธิในการบริหาร รัฐไม่ควรใช้อำนาจกลางเพื่อเดินหน้านโยบายแร่ ไม่วาจะเป็นการสำรวจเพื่อขออาชญาบัตร ประทานบัตรก็ตาม
ดร.สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ทางเครือข่ายมีการติดตามการเคลื่อนไหวของ พ.ร.บ. แร่ มาโดยตลอด เหตุผลเดียวของคนตะวันออกที่ไม่ต้องการให้มีการขออาชญาบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มเติม เพราะภาคตะวันออกบอบช้ำจากอุตสาหกรรมมานานแล้ว ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือ มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อเกิดมลพิษอย่างกว้างขวาง และสูญเสียพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก ล่าสุดกรณีข้อมูลจังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ 12 จังหวัดที่รัฐบาลเปิดขออาชญาบัตรพิเศษนั้น ขณะนี้จันทบุรีมีตัวเลขรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรส่งออกต่างประเทศประมาณ ปีละ 80,000 ล้านบาท อีกทั้งเป็น (ต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง) แหล่งผลิตปลาน้ำจืดที่สำคัญของไทย เป็นแหล่งปลากะพงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ชาวบ้านจึงต้องออกมาคัดค้าน อีกประเด็นคือ ขณะนี้ไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการที่รัฐมาผลักดัน พ.ร.บ.แร่ แบบเร่งด่วน เป็นการเสี่ยงและทำลายความชอบธรรมของภาคประชาชน มีแต่จะก่อเกิดความขัดแย้งมากขึ้น จึงควรระงับการเดินหน้า พ.ร.บ. แร่ ไว้ก่อน
“ผมไม่ได้บอกว่าเหมืองจะมีพิษโดยตรง แต่บอกว่าเหมืองเสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถ้ามีเหมือง มีการระเบิดภูเขา มีทำลายที่ดินการเกษตร แปลว่า ทำลายสิ่งแวดล้อมในจังหวัด ซึ่งการขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่ก็เท่ากับการเริ่มต้นทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ทั้งสำรวจบนดิน ผิวดินและใต้ดิน สำรวจใต้ดินก็ต้องขุดหลุม ขุดเจาะอยู่แล้ว” ดร.สมนึก กล่าว
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทลงทุนด้านกิจการเหมืองทองคำนั้น เสียภาษีที่ไม่ยุติธรรม จ่ายภาษีไม่คุ้มกับสภาพพื้นที่ที่ทำเหมือง เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ อย่างกรณีบริษัท อัครา รีสอร์ทเซส นั้นประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วขออาชญาบัตรนับล้านไร่ มีการงดจ่ายภาษีนำเข้าสารไซยาไนต์นานมากราว 5 ปี แร่ที่ขนออกไปยังฮ่องกง ออสเตรเลียสร้างรายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท เสียภาษีแค่ 200 ล้านบาท
ดังนั้น ข้อท้วงติงเดียวที่ตนมีคือ หากประเทศไทยปรับเพดานภาษีไม่ดีพอ ไม่เต็มที่ก็เท่ากับว่าเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาทำกำไรจากธุรกิจแร่ทองคำอย่างมหาศาล แล้วรับผิดชอบชีวิตประชาชนไม่ได้ ก็ควรปิดเหมืองไปทันทีและระงับการให้อาชญาบัตรด้วย
นางมณี บุญรอด ตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองแร่โปแตส จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. แร่ ฉบับใหม่ และการใช้อำนาจพิเศษเพื่อผลักดันกฎหมายด้านทรัพยากรของประเทศไทย เพราะเป็นการคุกคามประชาชน อย่างกรณีการทำประชาคมเหมืองแร่โพแตช ที่อุดรธานีที่ผ่านมา มีการจัดในค่ายทหารที่ผ่านมานั้น ประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิจะเสนอความคิดเห็นเต็มที่ เจ้าหน้าที่รัฐมีทั้งกระบอง โล่บัง และมีกำลังฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ เข้ามาดูแล คนที่คัดค้านเท่ากับคนที่เป็นศัตรูของรัฐ คล้ายกับบังคับประชาชนให้ไปฟังไปสนับสนุนนโยบายอย่างเดียว เห็นต่างไม่ได้
โดยส่วนตัวมองว่าการใช้อำนาจพิเศษเพื่อทำ พ.ร.บ. แร่ และการจัดประชาคมช่วงภาวะรัฐบาลพิเศษไม่ได้คืนความสุข แต่เป็นการคืนความตายและสร้างความอ่อนแอให้ชุมชน เพราะชาวบ้านระแวงกับกระบวนการพัฒนาทุกอย่าง และอยู่รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างจำกัด จึงอยากให้ระงับนโยบายเหมืองแร่และระงับการออกกฎหมายในภาวะอำนาจพิเศษนี้ก่อน