xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเหมืองแร่ทองอัคราฯร้องเยียวยา หลังถูกยุติแจกน้ำสะอาด-เมินรักษาพยาบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวบ้าน 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ “อัครา รีสอร์สเซส” ร้องเรียนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หลังเหมืองแร่ประกาศยุติการแจกจ่ายน้ำสะอาดให้ชาวบ้าน ผลจากหยุดประกอบกิจการโลหกรรมไว้ชั่วคราว 30 วัน หนำซ้ำคนงานถูกส่งกลับ โรงพยาบาลดังไม่รับเพราะไม่มีเงินรักษา เอ็นจีโอดักทาง กพร. อย่าลอยตัวโยนปัญหา

วันนี้ (16 ม.ค.) น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 30 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อเร่งแก้ไขเยียวยาประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ ในบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีสอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.พิษณุโลก อันเป็นเขต 3 จังหวัดที่อยู่ติดต่อโดยรอบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ

น.ส.สื่อกัญญา กล่าวว่า ชาวบ้านขออาศัยตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 131 และหมวด 11/1 ความรับผิดชอบ มาตรา 131/1 ให้การช่วยเหลือชาวบ้าน เนื่องจากมีกองทุนประกันความเสี่ยง ตามกฎหมายดังกล่าว เพราะขณะนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะล่าสุด คือ การประกาศหยุดการแจกน้ำดื่มใช้ใหักับชาวบ้านในพื้นที่ ภายหลังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีคำสั่งให้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้หยุดประกอบกิจการโลหกรรมไว้ชั่วคราว 30 วัน เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ภายหลังสุ่มตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายของชาวบ้าน

“เราไม่แน่ใจว่าบริษัทเขาหยุดจริงหรือไม่ตามคำสั่ง กพร. เพราะเราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ แต่ขณะนี้ก็เหมือนเขายังดำเนินการอยู่ เราจึงต้องมาร้องเรียนกับ กพร. ทั้งในส่วนของกองทุนเยียวยา ที่ต้องเร่งรีบช่วยเหลือชาวบ้าน และให้เร่งรีบเข้าไปตรวจสอบของบริษัทภายหลังมีคำสั่ง เพราะขณะนี้เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องที่บริษัท ประกาศยุติการแจกจ่ายน้ำสะอาดให้ชาวบ้านแล้ว” น.ส.สื่อกัญญา ระบุ

น.ส.สื่อกัญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กพร. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ อก.0508/6141 ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2557 เพื่อเป็นการยืนยันความรับผิดชอบของ กพร. จะกำกับดูแลสถานประกอบการให้ปฎิบัติตามกฎระเบียบโดยเคร่งครัด และมีความรับผิดชอบ ต่อสังคม โดยมีคำสั่ง 3 ข้อ คือ 1. รับและส่งตัวประชาชนผู้ที่มีปริมาณโลหะหนักในกระแสเลือดและ/หรือน้ำปัสสาวะสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน เข้ารับการตรวจรักษาตัวโดยทันที และตรวจสอบ แก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพของชาวบ้านที่เกิดขึ้น รวมทั้งค้นหาสาเหตุการปนเปื้อนของโลหะหนักในกระแสเลือด และ/หรือใน น้ำปัสสาวะว่ามาจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท หรือไม่

2. ตรวจสอบ เยียวยา และจัดหาแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีสำหรับการอุปโภค บริโภคให้ชาวบ้านบริเวณโดยรอบโดยด่วน 3. ขออนุญาตใช้เส้นทางสาธารณะให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการรื้อรั้วลวดหนามที่ปิดกั้นเส้นทางสาธารณะทุกเส้นออกให้หมด และหยุดดำเนินการใดๆ จนกว่าจะได้รับอนุญาตถูกต้อง จนถึงขณะนี้ทางบริษัทอัคราฯ ยังไม่ได้มีการปฎิบัติตามคำสั่งฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด และละเลยเพิกเฉยต่อประชาชนในพื้นที่ ที่ล้มป่วยจำนวนมาก

ประกอบกับการตรวจเบื้องต้นของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งหลังจากตรวจไปแล้ว 700 คน ยังมีประชาชนในบริเวณโดยรอบที่ต้องรับการตรวจเพิ่มเพื่อความปลอดภัยอีกราว 6,000 คน ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านทั้ง 3 จังหวัดได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางได้ไปลงตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ในเขตพื้นที่รอบทั้งหมด เพื่อหาผลทางนิติวิทยาศาสตร์ ในการใช้ยืนยันเป็นหลักฐานต่อไป

ทั้งนี้ ผลจาการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาพบแล้วว่า เลือดของมนุษย์ ดิน น้ำ พืชผัก มีสารปนเปื้อนค่าเกินมาตรฐาน ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง ไม่อาจอาศัยตามปกติ อีกทั้งพื้นที่ยังเป็นแหล่งปลูกข้าว พืชผัก ซึ่งชาวบ้านไม่กล้าบริโภคเอง จึงนำส่งออกไปขายพื้นทีอื่น และนี้จึงเป็นเส้นทางสารเคมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบหรือแก้ไข ระงับ ยับยั้ง เรื่องนี้กระทบกระเทือนความปลอดภัย เศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านอาหาร

อีกทั้งประชาชนเจ็บป่วย เช่น นายสมคิด ธรรมพเวช นายวุฒิพงศ์ ฟังเสนาะ นางล่ำ เภาบัว ทั้ง 3 ราย เป็นคนงานในเหมืองทองคำ ที่ป่วยจากการทำงานภายในหมือง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือแต่อย่างใด ล่าสุด นายสมคิด ธรรมพเวช ได้ขอย้ายเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช แต่เพียงคืนเดียวก็ถูกส่งกลับเพราะไม่มีเงินในการรักษา อันเป็นผลสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีหน่วยงานใด ที่จะมารับผิดชอบ ดูแลชีวิตประชาชน ซึ่งขณะนี้มีกว่า 300 คน ที่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยจากสารพิษนี้

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) กล่าวว่า การสั่งปิดโรงงานของ กพร. หากมองอีกแง่หนึ่ง คือ การเอาตัวรอด เพราะถือว่าได้มีคำสั่งปิดโรงงานไปแล้ว ก็พ้นตัวเอง เหมือนกับโยนปัญหาไปที่บริษัท ทั้งที่ เป็นหน้าที่โดยตรงของ กพร. ที่จะต้องฟ้องร้องเอาผิดบริษัท เพราะกระทำผิดเงื่อนไข และต้องเร่งรีบแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ระดมหน่วยงานรัฐ ที่นอกเหนือจาก กพร. ลงมารับผิดชอบแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน

“อย่าโยนกันไปโยนกันมาแล้วพยายามเอาตัวรอดจากปัญหา เพราะชาวบ้านเขาเดือดร้อน ผลกระทบต่อชีวิต แต่วันนี้ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ขณะที่หน่วยงาน อย่าง กพร. ต้องทบทวนการอนุมัติ อนุญาติ กระบวนการทำเหมืองแร่ทั่วประเทศ เพราะมันแสดงผลให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ที่ผ่านมากระบวนการอนุมัติหละหลวมมากซึ่งนั้นหมายถึง ย้อนไปยังโจทย์สำคัญ เรื่อง อีไอเอ ว่า ไม่สามารถตอบโจทย์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมทีเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเหมืองทอง ทั้งที่ จ.เลย และ จ.พิจิตร เพราะทั้งสองโครงการก็ผ่านอีไอเอ อีเอชไอเอ มาทั้งหมด แต่ทำไมยังเกิดผลกระทบขนาดนี้ต่อชาวบ้าน ชุมชนรุนแรงขนาดนี้ แสดงว่ากระบวนการมันล้มเหลว ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงใช่หรือไม่” นายสุวิทย์ กล่าว

ต่อมา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีสอร์สเซส เข้าพบคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ ห้องประชุมเวชชาชีวะ (ห้องประชุม 1) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชั้น 8 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยอนุกรรมการได้ทำการศึกษาหลักการของภาคประชาชนควบคู่กับรายงานวิจัยโครงการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการพัฒนาและยกร่างกฎหมายว่าด้วยแร่ ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พร้อมทั้งได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... (ฉบับของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557 ซึ่งขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและจะนำส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

ทั้งนี้ คปก. ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... (ฉบับของภาคประชาชน) เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 ม.ค. นี้ ในส่วนของการรับฟังความเห็นภาคประชาชน และวันที่ 23 ม.ค. รับฟังความเห็นของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ เวลา 09.00 - 15.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 16 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟแวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ






กำลังโหลดความคิดเห็น