อนุฯ กสม.จัดถกร่าง พ.ร.บ.แร่ ชาวบ้านโวยกระทบสุขภาพ พบโลหะหนักในผลเลือด ห่วงเด็กรับสารผิด รองอธิบดี กพร.ยันยกร่าง กม.มีกระบวนการฟังความเห็น ปัดเป็นซูเปอร์ กม.ที่จะทำเหมืองที่ใดก็ได้ แจงมีหลักการใหม่ให้ผู้รับประทานบัตรตั้งกองทุนฟื้นฟูเหมือง เมินเจอริบเงินประกัน นักวิชาการ ชี้ปฏิรูปต้องยึดหลักคิดทรัพยากรธรรมชาติเป็นของ ปชช. ไม่คุ้มให้ ตปท.กอบโกย ทิ้งผลกระทบให้คนไทย
วันนี้ (2 ธ.ค.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนในคณะกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธานได้มีการประชุมกรณีชาวบ้าน 5 จังหวัดประกอบด้วย พิจิตร พิษณุโลก สระบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์ ขอให้ตรวจสอบคัดค้านร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2557 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นขัดต่อหลักกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยมีตัวแทนประชาชนใน 5 จังหวัดราว 40 คนเข้าร่วมให้ข้อมูล พร้อมด้วยนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาชั้นวาระที่ 1
ทั้งนี้ นางสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ตัวแทนชาวบ้าน จ.พิจิตร กล่าวว่า ชาวบ้านใน 5จังหวัด เดือดร้อนจากการที่บริษัท อัคราไมนิ่ง หรืออัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้าทำการสำรวจพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในที่ดินของชาวบ้าน โดยในส่วนของจังหวัดพิจิตรเมื่อเร็วๆ นี้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงไปสุ่มเจาะเลือดตรวจชาวบ้านรอบเหมือง พบว่ากว่า 300 คนที่ค่าโลหะหนักบนเปื้อนอยู่ในผลเลือด และเมื่อสุ่มตรวจพืช น้ำ ดิน ในบ่อน้ำตื้นปนเปื้อนหมดแล้ว ขณะนี้เริ่มมีความเป็นห่วงว่าเด็กจะได้รับสารแมงกานีส และไซยาไนต์หรือสารหนูเข้าไปอยู่ในร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดระบบประสาทเสื่อม
ด้านนางอารมย์ คำจริง ตัวแทนชาวบ้าน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ชาวบ้านเพิ่งจะรู้เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เองว่า จากเอกสารที่ศาลปกครองกลางเพราะชาวบ้านไปฟ้องไว้เป็นคดีว่า บริษัทดังกล่าวได้รับอาชญบัตรเพื่อเข้าสำรวจสายแร่เป็นพื้นที่กว่า 2.4 แสนไร่แล้ว โดยในส่วน อ.เนินมะปราง ติดต่อกับ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และอ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่ขณะนี้ทางบริษัทอัคราได้เข้าสำรวจแร่เกือบเต็มพื้นที่แล้ว จึงเกรงว่า แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ และมะม่วงส่งออก รวมถึงต้นน้ำของแม่น้ำ 6 สายจะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อน รวมถึงชาวบ้านก็จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัย
อย่างไรก็ตาม ในการชี้แจงครั้งนี้นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักวิชาการจากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ต้องถือเป็นซูเปอร์กฎหมายเพราะสาระสำคัญ หากมีเห็นว่าพื้นที่ไหนมีศักยภาพการในทำเหมืองก็สามารถใช้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้ประกาศกันพื้นที่ได้เลยทั้งๆ ที่พื้นที่นั้นอาจจะอยู่ในเขตอุทยาน หรือเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ที่ถูกกำหนดห้ามทำตามเหมืองก็ตาม นอกจากนี้ยังพยายามหลีกเลี่ยงกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสำคัญโดยร่างกฎหมายกำหนดให้ไปออกเป็นกฎกระทรวงทั้งที่ควรกำหนดให้ชัดเจนไว้ในพระราชบัญญัติ และยังมีการลดขั้นตอนการออกประทานบัตรให้เร็วขึ้น มีการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติแทนรัฐมนตรีได้
ขณะที่นายชาติ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ชี้แจงยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่นั้นก่อนการยกร่างได้มีการไปรับฟังความเห็นประชาชนแล้วการนำเข้า ครม.ก็ไม่ได้เร่งรัดนำเข้า ซึ่งเนื้อหาของร่างนั้นหากพบว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพในการทำเหมืองหากอยู่ในเขตอุทยาน เขตป่า ก็ต้องมีการขออนุญาตตามกฎหมายนั้นๆ และเอกชนรายใดที่ได้รับอาชญาบัตรเข้าสำรวจแร่ ก็ไมได้หมายความว่าที่สุดแล้วจะต้องได้ประทานบัตร เพราะการจะได้ประทานบัตรผลสำรวจต้องชี้ชัดว่าคุ้มค่าลงทุน ขณะที่ข้อกล่าวหากที่ว่ามีการลดขั้นตอนการอนุมัติให้เร็วขึ้น เห็นว่าไม่ใช่ประเด็น แต่ควรมองการปฏิบัติตามกฎหมายก่อนอนุมัติหากทำมาถูกต้องครบถ้วน รัฐก็ต้องอนุมัติ ส่วนในเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพขอดูข้อมูลที่ชัดเจนของผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่ามีการสุ่มตรวจ แต่ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่มีหลักประกันใหม่ที่กำหนดให้ผู้รับประทานบัตร ต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมือง โดยต้องมีการวางเงินประกันไว้กับรัฐบาล หากพบว่าเลิกเหมืองแล้วไม่มีการฟื้นฟูพื้นที่รัฐก็สามารถยึดเงินประกันได้
จากนั้นที่ประชุมได้ขอความเห็นจากนายปริญญา นุตาลัย นักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ เห็นว่าเมื่อจะมีการปฏิรูปก็ต้องคิดใหม่ว่าทรัพยากรธรรมชาติของประเทศถือเป็นสมบัติของประชาชน จำเป็นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและจัดการทรัพยากรของตนเอง ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมประชาชนสำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่จึงจำเป็นและสำคัญมาก รัฐต้องถือหลักว่าถ้าทำเหมืองแร่แล้วประชาชนต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่ให้เอกชนมาสำรวจแล้วบริษัทต่างชาติเข้ามากอบโกย ถึงเวลาก็ทิ้งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมไว้ให้คนไทย ไม่คุ้มกับค่าภาคหลวงที่ไทยได้เลย ดังนั้นถ้าจะให้สัมปทานก็ต้องให้กับเฉพาะคนไทยเท่านั้น และหลักการใหม่ของร่าง พ.ร.บ.แร่ที่ให้มีกองทุนฟื้นฟูที่เหมือง รัฐต้องคิดว่า ผลกระทบจากการทำเหมืองไม่ใช่มีแค่อยู่หมดอายุสัมปทาน แต่เป็นผลกระทบระยะยาว
ด้าน นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ทางอนุกรรมการอาจจะมีการเชิญหรือขอข้อมูลจาก พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เกี่ยวกับการสุ่มตรวจเลือดของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และจะมีการประสานไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาที่กำลังตรวจร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้เพื่อนำประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าให้ข้อมูล รวมทั้งจะได้ทำสรุปสภาพปัญหาหากมีการบังคับใช้ร่างกฎหมายนี้เสนอต่อรัฐบาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป