xs
xsm
sm
md
lg

จักรมณฑ์-หม่อมอุ๋ยจ่อฟื้นโปแตชชัยภูมิ บินดูเทคนิคเยอรมนีก่อนชง “ครม.” เคาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จักรมณฑ์-หม่อมอุ๋ย เตรียมบินดูเทคโนโลยีทำเหมืองโปแตชที่เยอรมนี 16 พ.ย.นี้ เพื่อการันตีผลกระทบปริมาณเกลือที่จะออกมาจากเหมืองว่าจะอัดกลับใต้ดินแบบไร้ปัญหา หวังสรุปแนวทางชง ครม.เดินหน้าเหมืองแร่โปแตชอาเซียนที่ จ.ชัยภูมินำร่อง

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 16 พ.ย.นี้จะเดินทางร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ไปเยือนประเทศเยอรมนีเพื่อศึกษาดูเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่โปแตชก่อนนำมาสรุปรายละเอียดทั้งหมดเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบการตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาเหมืองแร่โปแตชในไทย โดยเฉพาะโครงการของ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ (APMC) ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างประเทศอาเซียนที่เกิดขึ้นในไทยตั้งแต่อดีตมากกว่า 20 ปีแล้ว

“โครงการนี้นานมากแล้ว ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนการถือหุ้นเป็นเอกชนไปพอสมควรแต่คลังยังถือหุ้นอยู่ ซึ่งล่าสุดได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เรียบร้อยและอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น ซึ่งโปแตชฯ ที่ จ.ชัยภูมิไม่มีปัญหาเรื่องชุมชนต่อต้านแต่ ครม.เองก็ห่วงเรื่องผลกระทบที่การผลิตจะได้เกลือออกมาค่อนข้างมากและจะต้องเทกองไว้ แต่เทคโนโลยีเยอรมนีที่ทันสมัยสุดจะมีวิธีอัดกลับลงไปใต้ดินแต่ก็ห่วงว่ากว่าจะอัดลงไปจะใช้เวลา 3 ปีที่ต้องเทกองก็จะไปดูให้แน่ใจว่าจะไม่มีผลจริงๆ ซึ่งทางเยอรมนีเองเขาก็สนใจจะร่วมทุนด้วย” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

ทั้งนี้ ภาครัฐเองตระหนักถึงประโยชน์ของโครงการดังกล่าวที่จะผลิตแร่โปแตชที่จะนำมาผลิตปุ๋ยซึ่งปัจจุบันไทยต้องนำเข้าถึง 7 หมื่นล้านบาทต่อปีและยังมีราคาที่ค่อนข้างแพง ซึ่งหากโครงการนี้เกิดได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยหาก ครม.อนุมัติและเห็นชอบทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะพิจารณาอนุมัติการให้สัมปทานและปี 2558 ก็น่าจะเริ่มต้นดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการอนุมัติไปแล้วและพบว่ามีปัญหาก็ยังสามารถประกาศระงับการดำเนินการได้อีก

“เวลานี้ลาวซึ่งมาทีหลังเริ่มทำเหมืองแร่โปแตชออกมาแล้ว ไทยเองเกิดมานานแต่ยังทำไม่ได้เลยก็อายเขาเหมือนกันนะ จะพยายามดูให้ดีที่สุดสำหรับประเทศซึ่งที่ชัยภูมินี้จะผลิตโปแตชได้ประมาณ 60 ล้านตัน แต่ปริมาณเกลือที่ได้จะมากถึงสองเท่า และเรายังมีโครงการที่ จ.อุดรธานี และยังมีแหล่งที่นครราชสีมาและสกลนครอีก ถือว่าเรามีแหล่งที่จะพัฒนามากแต่ก็ยังไม่เกิดเสียที” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

นายสุรพงษ์ เชียงทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า รมว.อุตสาหกรรมและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจจะไปดูเทคโนโลยีการทำเหมืองโปแตชของบริษัท คาลิ แอนด ซอลต์ (KALI and SALT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสุดในเยอรมนีที่มีการอัดเกลือกลับไปเหมือนเดิม

“หากโครงการนี้เกิดได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากเพราะยังสามารถมองไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกคืออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และการเกิดก็ไม่ยากเพราะรัฐบาลเองก็มีแผนก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติไปยังนครราชสีมาซึ่งห่างจากโครงการไม่ถึง 80 กิโลเมตร” นายสุรพงษ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น