xs
xsm
sm
md
lg

แห่ยื่นสัมปทานเหมืองโปแตซในอีสานกว่า 3.5 ล้านไร่ โต้ “หม่อมอุ๋ย” สิทธิประชาชนสำคัญกว่าเทคโนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เอกชนแห่ยื่นขอสัมปทานเหมืองโปแตซอีสานกว่า 3.5 ล้านไร่ เอ็นจีโอโต้ “หม่อมอุ๋ย” สิทธิ-เสรีภาพประชาชนสำคัญกว่าเทคโนโลยี

หลังจากเมื่อคืนวันศุกร์ที่ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีช่วงหนึ่งได้กล่าวถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสานว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรที่น่าสนใจคือ โปแตซ เป็นกระทะใหญ่โปแตซใต้ดินในอีสาน อยู่กับหิน 2 อย่าง ซึ่งเค็มทั้งคู่ โดยโปแตซหินเรามีเทคโนโลยีที่สะอาดอยู่ที่เยอรมนี สามารถทำหินโปแตซที่สะอาดเหมือนเดิม และรับประทานได้

“โปแตซข้างใต้ดินมีเท่าไหร่รู้ไหม มีอยู่ 400,000 ล้านตัน นึกภาพแล้วยังใหญ่ ไม่รู้จะใหญ่ยังไง ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่เขาบอกว่า ขณะนี้เทียบแล้วอาจใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ ผมยังไม่ยืนยันนะครับ ตรงนี้จะเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่อีกเยอะเลย โปแตซขึ้นใหม่จะผลิตปุ๋ยได้ ผลิตยางบางชนิดที่ใช้โพแทสเซียม และจะผลิตอะไรที่ใช้โพแทสเซียมได้อีกเยอะ อันนี้คือฐานอุตสาหกรรมใหม่ พวกนี้แหละเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่เราจะสร้างที่เรียกว่านิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

สอดคล้องต่อเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน โดยได้อนุญาตประทานบัตร อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ดำเนินการคำขอประทานบัตรและคำขออาชญาบัตรพิเศษไปแล้วรวม 3,521,796 ไร่ เช่น การอนุญาตประทานบัตร 1 ราย คือ บริษัท เหมืองแร่โปแตซอาเซียน จำกัด (มหาชน) พื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ 9,700 ไร่ จะสามารถผลิตปุ๋ยโปแตซ ได้ในปี 2562

โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอประทานบัตร 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตำบลโนนเมืองพัฒนา ตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลหนองไทร ด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 1 แปลง เนื้อที่ 9,005 ไร่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่แล้ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ ตำบลหนองขอนกว้าง อ.เมือง ต.นาม่วง และต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี 4 แปลง 26,446 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี (ต้องดำเนินการจัดประชาคมหมู่บ้านให้เสร็จเรียบร้อยก่อน)

โดยได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษแล้ว จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตซ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่ 2.บริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่ 3.บริษัท ศักดิ์ศรีไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่ 4.บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียมกรุ๊ป จำกัด อำเภอเมือง และอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา 13 แปลง เนื้อที่ 130,000 ไร่ 5.บริษัท สหชาติเศรษฐกิจ จำกัด อำเภอเมือง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา 2 แปลง เนื้อที่ 20,000 ไร่

ปัจจุบัน ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเตรียมการเจาะสำรวจแร่ มีเพียงบริษัท โรงปัง ไมนิง จำกัด ที่ได้ดำเนินการเจาะสำรวจไปแล้ว จานวน 3 หลุมเจาะ และกำลังยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซอีก จำนวน 34 ราย

ด้าน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า จากข้อมูลที่กำลังมีการยื่นขอสัมปทาน จำนวนกว่า 3.5 ล้านไร่ ถ้ามีการทำเหมืองโปแตซ หรือเหมืองเกลือ จะทำให้เกิดเป็นอุโมงค์ใต้ดินและเกลือขาวไปทั้งภาค ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ควรทำการศึกษา ประเมินทางเลือกการพัฒนาภาคอีสาน ซึ่งเคยมีข้อเสนอของนักวิชาการ และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานียื่นไปแล้ว โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องทำให้มีความชัดเจนในการประเมินทั้งภาค และประชาชน หรือคนอีสานจะได้ผลประโยชน์อะไรรัฐจะต้องชี้แจง

“บทบาทของรัฐบาลชุดนี้ควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่ใช่สนับสนุนการทำเหมือง และหน่วยงานรัฐ หรือกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ควรทำตัวเป็นนายหน้าขายสมบัติของประชาชนให้ต่างชาติ เพราะจากที่เห็นข้อมูลพบว่า เกินครึ่งเป็นบริษัทของจีน หรือนอมินีที่กำลังยื่นขออนุญาต”

นายสุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมักอ้างตลอดว่า บริษัทที่ยื่นขออนุญาตเขาได้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตนก็อยากตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายที่ว่านั้นได้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ นายสุวิทย์ ยังตอบโต้กรณีการกล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ว่า การที่รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ อ้างการทำเหมืองแร่โปแตซจากเยอรมนีซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดนั้น ตนมองว่าปัญหาอยู่ที่หน่วยงานรัฐ และข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่เคยมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดเลย เห็นได้จากกรณีเหมืองทองคำ จ.เลย และ จ.พิจิตร เป็นต้น

“การจะทำเหมืองแร่โปแตซขณะที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ เป็นประเด็นใหญ่สำคัญมากกว่าเทคโนโลยี”
กำลังโหลดความคิดเห็น