xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หนุน-ต้านเหมืองทองเริ่มเผชิญหน้า นายกฯ ต้องตัดไฟแต่ต้นลม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายประชาชนและชุมชนคนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี (ปชท.) รวมตัวกันมายื่นหนังสือสนับสนุนการทำเหมืองแร่ทองคำ ที่ศูนย์บริการประชาชน ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาว่า จะยังไม่ให้มีการเปิดเหมืองแร่ทองคำแห่งใหม่เพิ่ม แต่ความขัดแย้งในประเด็นเอา-ไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ ก็ยังคงไม่มีข้อยุติ

วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ข้างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)กลุ่มชาวบ้านในนาม เครือข่ายประชาชนและชุมชนคนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี (ปชท.) นำโดยนายสุรชาติ หมุนสมัย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้ข้อมูลโต้แย้ง กรณีมีกลุ่มคัดค้านการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก

ปชท.อ้างว่า กลุ่มผู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำได้แพร่กระจายข้อมูลอันเป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้เกิดความเสียหายและตื่นตระหนกต่อชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบเหมือง โดยทางเครือข่าย ปชท.จ.พิจิตร ประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง ขอยืนยันว่าประชาชนตลอดจนชุมชนรอบเหมือง สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไม่มีผลกระทบเรื่องสุขภาพ น้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งพืชผลทางเกษตร จึงขอชี้แจงข้อมูลและขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี

ปชท.ขอชี้แจงอีก ว่าประชาชนในชุมชนรอบเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการจ้างงาน เงินค่าภาคหลวง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เงินกองทุนพัฒนาตำบล รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ที่เหมืองได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่โดยรอบ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ สั่งการหน่วยงานเกี่ยวข้องนำข้อมูล และผลการตรวจวัด รวมถึงการเฝ้าระวังต่างๆ ทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนำเสนอให้สังคมรับทราบ

ก่อนหน้านี้ 1 วัน 30 กันยายน เครือข่าย ปชท.นำโดยนายสุรชาติ พร้อมทั้งคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้รับเหมา ได้ไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นกลางและครบถ้วนต่อกรณีเหมืองทองคำชาตรี ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และ ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม โดยยืนยันว่าประชาชนตลอดจนชุมชนรอบเหมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้ดี ไม่ได้มีผลกระทบเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมดังที่หลายกลุ่มกล่าวอ้าง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกๆ ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนเหมืองแร่ทองคำ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายสุรชาติ หมุนสมัย ได้เป็นแกนนำพาพนักงานบริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ รวมถึงครอบครัวและชาวบ้านที่อยู่รอบๆ เหมืองทองจำนวนประมาณ 1 พันคน ชุมนุมกันที่บริเวณหน้าเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร โดยมีการเรียกร้องขอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนโยบายเปิดเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 12 จังหวัดต่อไป หลังจากที่ กพร.ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 12 จังหวัด งดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปก่อน หลังจากมีกระแสคัดค้านเกิดขึ้นในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการชุมนุมในวันนั้น นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานภายนอก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้เข้าร่วมด้วย

ส่วนฝ่ายต่อต้านเหมืองแร่ทองคำนั้น ได้เคลื่อนไหวมายาวนาน ในประเด็นผลกระทบต่อทรัพยากรและสุขภาพของคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ นับตั้งแต่บริษัทอัคราฯ ได้เข้ามาเปิดเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร

จนกระทั่งมีชาวบ้านเสียชีวิตหลายราย ล่าสุดคือลุงสมคิด ธรรมพะเวส คนงานเหมืองแร่ทองคำ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งสันนิษฐานกันว่ามีสาเหตุมาจากโลหะหนักและสารไซยาไนด์จากเหมืองทองคำ เนื่องจากลุงสมคิดทำงานในแผนกขนสารไซยาไนด์ของเหมืองแห่งนี้มาเป็นเวลา 13 ปี

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวในรายการ “คิดยกกำลัง 2”ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ว่า เรากำลังทลายภูเขา ทำลายทุ่งนา เพื่อเอาทอง ที่น่าสนใจคือประเทศไทยมีทองใน จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.พิษณุโลก รอยต่อ จ.เลย ขึ้นไปถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมเนื้อที่กว่า 1 ล้านไร่ แต่เราไม่รู้ทองอยู่ตรงไหนแน่ และการที่ยอมเสียพื้นตรงนี้ ขณะที่ชาวบ้านได้รายได้จากการขายที่ มีเงินไปซื้อบ้านใหม่มีอาชีพใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นใน 12 จังหวัด อาชีพนายหน้าค้าที่ดินก็จะผุดขึ้น และเกิดการกดดันให้ขายที่ดินจากผู้มีอิทธิพล แล้วเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นจริงหรือไม่ คำถามจึงไปอยู่กับรัฐว่าจะยอมแลกวิถีที่สงบยั่งยืนกับรายได้แบบนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าจะได้เท่าไหร่ และจากข้อมูลปี 2556 ระบุว่า บริษัทเอกชนมีรายได้จากการขายทองคำทั้งปี 7,061 ล้านบาท โดยเหลือรายได้จากการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ 6,228 ล้านบาท ขณะที่รัฐได้รายได้ 833 ล้านบาท เป็นค่าภาคหลวง 684 ล้านบาท ซึ่งรายได้ปีละไม่กี่ร้อยล้านแต่ต้องสูญเสียพื้นที่ตลอดไป รัฐต้องตัดสินใจเลือก

นอกจากความไม่คุ้มค่ากับการสูญเสียสภาพธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนแล้ว การอนุมัติให้เปิดเหมืองแร่ทองคำยังมีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นด้วย

วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ พร้อมตัวแทนกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ 5 จังหวัด อาทิ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ประมาณ 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบผลการดำเนินการเรื่องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ กรณีเหมืองแร่ทองคำพิจิตร เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนร้ายแรงต่อประชาชนจำนวนมากในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ หลังจากตัวแทนประชาชนเคยยื่นร้องเรียนต่อ ดีเอสไอ ให้พิจารณารับคดีเหมืองแร่ทองคำเป็นคดีพิเศษและเพิ่มเติมพยานหลักฐานเอกสารไปพร้อมแล้ว จึงขอให้ ป.ป.ช. ร่วมดำเนินการตรวจสอบผลการดำเนินการดังกล่าวว่ามีความคืบหน้าอย่างไร เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในเรื่องร้องเรียนของ ป.ป.ช. ด้วย

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจนเสียชีวิตไปแล้ว 25 ราย แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอลงไปตรวจสอบและพิสูจน์แต่อย่างใด เพราะยังไม่ได้รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ ผลการตรวจเลือดของชาวบ้านที่เสียชีวิต พบว่า มีไซยาไนด์และสารปนเปื้อนโลหะหนักในนาข้าว น้ำประปา รวมถึงแหล่งน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2553 และในปีเดียวกันยังพบสารไซยาไนด์ในพืชผัก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีผู้ป่วยสูงอันดับหนึ่งของประเทศมาแล้วซึ่งเป็นสถิติสูงจนผิดปกติ

ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม สำนักงาน ป.ป.ช.ได้เผยแพร่คำพูดของนายวิชา มหาคุณ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช.สรุปได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคดีดังกล่าวที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับได้มีพยานหลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย ระบุว่า ได้พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย และถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ทางสำนักงาน ก.ล.ต.จึงส่งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป

เหตุนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานฯ และมีอนุกรรมการ ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมายและการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วนต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ ป.ป.ช.จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กพร.ศึกษาข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลดีผลเสียก่อนเปิดสัมปทานเหมืองทองคำใน 12 จังหวัด เนื่องจากขณะนี้มีกระแสคัดค้าน แต่ไม่ยืนยันว่าจะยุติการให้สัมปทานเหมืองทองคำหรือไม่ พร้อมกับมีคำสั่งให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเรื่องเหมืองทองคำไปก่อน ขณะที่การแก้ไข พ.ร.บ.เหมืองแร่ ที่มีกระแสคัดค้านจากภาคประชาชน ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นั่นเท่ากับว่า ถึงเวลานี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า นโยบายเปิดเหมืองแร่ทองคำเพิ่มใน 12 จังหวัดจะยุติลงหรือไม่ ซึ่งนี่จะเป็นชนวนให้ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านยังคงดำเนินอยู่ต่อไป คนที่จะตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย ก็มีแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น