ป.ป.ช.รับตั้งอนุไต่สวนคดีเหมืองแร่ทองคำ พื้นที่ 3 จังหวัดพิจิตร-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ ได้รับสัมปทานโดยมิชอบ พ่วงผู้รับสัมปทานจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ด้าน “กลุ่มหนุนเหมืองแร่พิจิตร” โผล่ยื่นหนังสือต่อนายกฯ อ้างกลุ่มผู้คัดค้านบิดเบือนสร้างความเสียหายต่อชุมชนรอบเหมือง ยันไม่มีผลกระทบสุขภาพ น้ำ-พืชเกษตร เผยร่วมกับ “เอกชน-ผู้รับเหมา” บุกติง “ไทยพีบีเอส” เสนอข่าวให้รอบด้าน
วันนี้ (1 ต.ค.) มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่คำพูดของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า ตามที่ตัวแทนของประชาชนผู้ร้องเรียนและผู้ได้รับความเดือดร้อน อันเนื่องจากการทำเหมืองแร่ทองคำในบริเวณพื้นที่ จ.พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ และในนาข้าว มาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก จึงได้เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าของกรณีดังกล่าวที่เกี่ยวพันกับการทุจริตในการอนุมัติสัมปทานให้ขุดเหมืองแร่ทองคำโดยมิชอบนั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคดีดังกล่าวที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับได้มีพยานหลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย ระบุว่า ได้พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย และถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ทางสำนักงาน ก.ล.ต.จึงส่งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป
“เหตุนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานฯ และมีอนุกรรมการ ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมายและการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วนต่อไป”
วันเดียวกัน ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. นายสุรชาติ หมุนสมัย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนและชุมชนคนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี (ปชท.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีมีกลุ่มคัดค้านการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก โดยนายชาตรีอ้างว่า กลุ่มผู้คัดค้านได้แพร่กระจายข้อมูลอันเป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้เกิดความเสียหายและตื่นตระหนกต่อชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบเหมือง
ทั้งนี้ ทางเครือข่าย ปชท.จ.พิจิตร ประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง ขอยืนยันว่าประชาชนตลอดจนชุมชนรอบเหมือง สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไม่มีผลกระทบเรื่องสุขภาพ น้ำอุปโภคบริโภค พืชผลทางเกษตร ตามที่ผู้ไม่ประสงค์ดีกล่าวอ้าง จึงขอชี้แจงข้อมูลและขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี
“ขอชี้แจงว่าประชาชนในชุมชนรอบเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการจ้างงาน เงินค่าภาคหลวง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เงินกองทุนพัฒนาตำบล รวมทั้งโครงการต่างๆ ที่เหมืองได้ให้กับชุมชนในพื้นที่โดยรอบ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯสั่งการหน่วยงานเกี่ยวข้องนำข้อมูล และผลการตรวจวัด รวมถึงการเฝ้าระวังต่างๆ ทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นำเสนอให้สังคมรับทราบ”
มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (30 ก.ย.) เครือข่าย ปชท.ที่นำโดยนายสุรชาติ พร้อมทั้งคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้รับเหมา ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นกลางและครบถ้วนต่อกรณีเหมืองทองคำชาตรี ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และ ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม โดยยืนยันว่าประชาชนตลอดจนชุมชนรอบเหมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้ดี ไม่ได้มีผลกระทบเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมดังที่หลายกลุ่มกล่าวอ้าง