xs
xsm
sm
md
lg

“ฟังเสียงประชาชน” ก่อนสังคมจะลุกเป็นไฟ ภายใต้ “อำนาจพิเศษ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...สาคร  สงมา  มูลนิธิคนเพียงไพร Climate Watch Thailand
 
“อำเภอเนินมะปราง” 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก ห่างจากจังหวัดพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบนเส้นทางหมายเลข 11 และเส้นทางหมายเลข 1295 พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตพึ่งพาแหล่งธรรมชาติ ปลูกไม้ผลเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ปลูกข้าวไว้กินเหลือขาย มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เทือกเขาหินปูน เขาลูกโดดรูปลักษณะแปลกตาจนมีคนขนานนามว่า “คุนหมิงเหมืองไทย” นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของจังหวัดพิษณุโลก
 
“ชุมชนเขาเขียว” ชุมชนเล็กๆ ที่มีที่ตั้งอยู่ในรอยต่อ 3 จังหวัดคือ พิษณุโลก พิจิตร และ เพชรบูรณ์ มีการทำนา ปลูกไม้ผล ปลูกมะม่วงเพื่อส่งออก อาศัยอยู่กับธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีครัวเรือนที่อยู่อาศัยในชุมชน 230 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร 3,500 ไร่ พื้นที่ป่าชุมชนเขาเขียว 1,800 ไร่ เป็นที่มาของชื่อชุมชนเขาเขียวจากการที่มีนกเขาเขียวอย่างชุกชุมในอดีต เป็นแหล่งผลิตอาหารแหล่งที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก มีประวัติการตั้งถิ่นฐาน ทั้งคนในพื้นที่ และคนอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน พ.ศ.2500 ในอดีตถือว่าเป็นพื้นที่ชุกชุมด้วยโจรผู้ร้าย มีคนแก่แถวละแวกใกล้เคียงบอกว่า “ถ้าวัวควายหายในอดีต ให้ไปตามไถ่คืนที่ชุมชนรอยต่อ 3 จังหวัด”
 
ชุมชนเขาเขียว ยังอยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบ ความขัดแย้งทางความคิดในสมัยคอมมิวนิสต์ และที่สำคัญพื้นที่เขาเขียวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนในลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย ย่อมมีความหมายว่า อำเภอเนินมะปราง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ชุมชนเขาเขียวส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินของตนเอง ชุมชนสามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่ชุมชนตนเอง และเป็นแบบอย่างของชุมชนอื่นๆ
 
สภาปฏิรูปแห่งชาติ กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน คือ การทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2567 ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศไทย
 
แนวทางบางประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ “การสร้างความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เช่น การรักษาทุนทางธรรมชาติ, การบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การลงทุนและการสร้างงานสีเขียว, การเพิ่มความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ คือ แนวทางที่สร้างความหวังให้แก่ชุมชนที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นทิศทาง และแนวทางสอดคล้องต่อชุมชน
 
ชุมชนเขาเขียว ต้นแบบของความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” การทำนาเพื่อเก็บข้าวบริโภคเหลือขาย การทำพืชไร่ในฤดูแล้ง การปลูกไม้ผลเป็นพืชเศรษฐกิจ การพัฒนาการปลูกมะม่วงเพื่อส่งออก อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ พึ่งพิงอาหาร ผักจากป่า และทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าจากการรักษาป่าธรรมชาติในรูปแบบป่าชุมชน เพื่อเป็นแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเพื่อลดโลกร้อน รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัว 451,501 บาทต่อปีต่อครัวเรือน และเป็นการผสมผสานชีวิตวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แห่เทียนขึ้นเขาเขียวรักษาป่าชุมชน ในขณะที่พื้นที่เขาเขียวมีปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ชุมชนยังปรับตัวและสามารถสร้างชุมชนที่น่าอยู่ ชุมชนเขาเขียว ชุมชนเนินมะปรางมุ่งสู่ความมีสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่สอดรับต่อวิสัยทัศน์ประเทศไทยตามสภาปฏิรูปแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
 
ขณะการปฏิบัติในพื้นที่ที่สวนทางกัน การให้สัมปทานอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ 30 ฉบับ รวม 300,000 ไร่ ในพื้นที่พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 และที่สำคัญพื้นที่ชุมชนเขาเขียวรวมอยู่ในพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษ ในขณะที่บทเรียนที่ชุมชนเขาหม้อ ในพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ประสบปัญหาได้รับผลกระทบจนคนในชุมชนอพยพออกจนกลายเป็นหมู่บ้าน วัด โรงเรียนร้าง จากที่เคยเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบัน มีบ้านเรือนเพียง 4 หลังที่อาศัยอยู่จริง ข้าว ผัก น้ำ ไม่สามารถบริโภคได้ ซ้ำร้ายจากการตรวจร่างกายของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ พบสารโลหะในร่างกายของคนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองทองอัคราไมนิ่ง นี่คือบทเรียนที่ชุมชนได้ไปเรียนรู้ เยี่ยมเยือนคนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองที่ชุมชนเขาหม้อ
 
เสียงของคนเขาเขียว การรวมตัวเป็นกลุ่มอนุรักษ์เขาเขียว การปลูกป่า บวชป่า “แห่เทียนขึ้นเขา” การประสานกับนักวิชาการในพื้นที่ การประสานกับภาคี การยื่นหนังสือคัดค้านต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การร่วมรณรงค์ทั้งภายนอกชุมชน และการพัฒนาความเข้าใจภายในทั้งชุมชนใกล้เคียงต่อกลุ่มเยาวชน นี่คือการดิ้นรนเพื่อปกป้องของคนในชุมชนเขาเขียว พร้อมกับการเกิดความขัดแย้งภายในชุมชนระหว่าง กลุ่มสนับสนุน และกลุ่มผู้คัดค้านเหมืองทองในเวทีรับฟังความคิดเห็น ในขณะเดียวกัน การรุกคืบของอัคราไมนิ่ง ร่วมกับทหาร พยายามเข้าไปทำความเข้าใจต่อคนในชุมชน ถูกชาวบ้านปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง การตรวจพบ    โลหะหนักในร่างกายของคนรอบเหมืองทองคำ ยิ่งทำให้คนเขาเขียวตื่นตระหนก และเริ่มสื่อสารให้สังคมรับรู้ รวมทั้งผนึกกำลังกับคนเนินมะปราง คนทั้งประเทศรวบรวมรายชื่อคัดค้านเหมืองทองคำ และพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่
 
รจนา นันทกิจ สารวัตรกำนันตำบลวังโพรง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์เขาเขียว กล่าวว่า “เขาเขียว เนินมะปราง อยู่ใกล้เทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นแนวเขาหินปูนสวยงาม โดยเฉพาะเขาเขียวเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ มีอาชีพทำนา และส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ หลายครอบครัวมีรายได้หลักแสนจากการปลูกมะม่วง เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพิษณุโลก เสียดายความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามของที่นี่เนินมะปรางเหมาะต่อพื้นที่ทำการเกษต รและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตร และธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และยืนยันที่จะปกป้องเขาเขียว คัดค้านเรื่องเหมืองทองพร้อมกับพี่น้องในชุมชนด้วยชีวิต”          นี่คือบทสรุปเวทีเสียงประชาชนคนเนินมะปรางร่วมกำหนดอนาคตตนเองที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม     การพัฒนาที่เป็นจริงของผู้ได้รับผลกระทบในอนาคตอย่างแท้จริง
 
จากการรวบรัดของรัฐบาลในปัจจุบัน การให้อาชญาบัตรพิเศษ การจัดรับฟังความคิดเห็นในขณะพื้นที่ที่จะออกอาชญาบัตรพิเศษ 12 จังหวัด โดยกำหนดทำ 2 ครั้งในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และพิจิตร ทำให้เกิดคำถามต่อสังคม จนทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ   เลื่อนออกไป แต่ในขณะเดียวกัน การเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการไว้เมื่อ 21 ตุลาคม 2557 และมีสาระสำคัญเรื่องเขตทรัพยากรแร่ (Mining Zone) เป็นการเอื้อให้เกิดการขุดเจาะในพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่หวงห้าม และที่สำคัญพื้นที่อำเภอเนินมะปรางมีที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์
 
วิสัยทัศน์ระยะยาวของประเทศไทย และข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนคนเนินมะปราง เขาเขียว “มีความสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีรูปธรรมที่จับต้องได้และสามารถขยายเป็นต้นแบบของสังคม เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่การพัฒนาที่ไม่ได้พัฒนากำลังสวนทางต่อเป้าหมายใหญ่ของประเทศ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การให้สัมปทานอาชญาบัตรพิเศษเหมืองแร่ทองคำ            การให้สัมปทานให้ทำเหมืองแร่ และการออกกฎหมายที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นฐานการผลิต      เพื่อคนส่วนน้อย คือ การทำลายความมั่งคั่ง มั่นคง  ยั่งยืน เป็นการทำลายเป้าหมายระยะยาวของประเทศไทย   นี่คือความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ต้องการ พระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ และให้ยุติ           การสัมปทานเหมืองทองคำ และให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดพิจิตร
 
การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่ทำให้คนในสังคมแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม มีข้อเสนอ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจากนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทำเขตเศรษฐกิจ การให้สัมปทานเหมืองแร่โปแตส เหมืองทอง เป็นแนวทางที่ไม่บรรลุวิสัยทัศน์ในระยะยาวของประเทศไทยได้ 
 
การคำนึงถึงเสียง และความต้องการของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในบรรยากาศพิเศษ ภายใต้อำนาจพิเศษที่ตัดสินใจเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะเป็นแนวทางที่คลี่คลายความขัดแย้ง ลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ฟังเสียงประชาชนก่อนที่สังคมจะลุกเป็นไฟภายใต้ อำนาจพิเศษของท่านที่มีอยู่ ถ้าการใช้อำนาจพิเศษเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ คงเป็นการคลี่คลายความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำของสังคมตามที่ท่านรับปากต่อสังคมไว้ 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น