ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -งานคิกออฟนโยบาย “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” อย่างอลังการงานสร้างไปเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เป็นเป้าหมายคล้ายๆ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ “เฮียกวง”นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ก็ว่าได้ แต่จะทำได้จริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ไม่ผิดที่ลุงตู่บอกว่า “ผมเป็นรัฐ” เพราะฐานะของ “รัฐ” วานนี้และวันนี้ยังไงๆ ก็ยังเป็นรัฐ ที่มีอำนาจและมีตัวบทกฎหมายรองรับการใช้อำนาจนั้นอย่างเต็มเปี่ยม แต่ส่วนที่ว่า “ท่านเป็นประชาชน” ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศในขณะนี้นั้น ณ วันนี้ ประชาชนที่ว่าหาใช่ประชาชนที่มีอิสระอย่างสมบูรณ์พร้อมไม่
โดยเฉพาะการเป็นประชาชนที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ และหากจะบอกว่าทุกวันนี้ประชาชน ต่างเป็นเพียงจักรกลของทุนใหญ่ที่แผ่อิทธิพลกุมหัวใจเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ฐานรากยันดวงดาวโน่นก็คงไม่ผิดนัก
นั่นเป็นความจริงของ “รัฐตลาด” ซึ่งวันนี้ มี “ประชาชน” อยู่เพียงจำนวนน้อยนิดที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถเป็นอิสระจากทุนใหญ่อย่างแท้จริง
ด้วยเหตุฉะนี้ การสานพลัง “ประชารัฐ” เพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยทำเป็นมองข้ามบทบาทของกลุ่มทุนใหญ่ที่รุกคืบเข้าไปผูกขาดธุรกิจในทุกทิศทาง ทำให้ประชาชนตกเป็นทาสในที่ดินของตนเองหากประชาชนที่ว่านั้นเป็นเกษตรกร หรือไม่ก็ล้มหายตายจากหรือตกเป็นทาสในร้านค้าของตนเองหากประชาชนนั้นทำมาค้าขาย ก็คงเป็นเพียงนโยบายโก้หรูที่มาถูกทางแต่ทำสำเร็จได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะรัฐไม่ได้เข้าไปดูลึกลงไปถึงแก่นแท้ว่าเศรษฐกิจฐานรากที่ว่านั้นอยู่ในกำมือของทุนหรือประชาชนคนเล็กคนน้อยกันแน่
ถามหน่อยเถอะว่า “เฮียกวง”กับ “ลุงตู่” กล้าไปขอความร่วมมือจาก“เจ้าสัว” ที่มั่งคั่งร่ำรวยจากอุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยี รวมทั้งการค้าปลีก อย่างน้อยๆ ก็เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องตกเป็นเบี้ยล่างในระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งที่ทุนใหญ่มีอำนาจต่อรองมากกว่า หรือไม่
ถามหน่อยเถอะว่า “เฮียกวง” กับ “ลุงตู่” กล้าไปขอความร่วมมือจากทุนค้าปลีกข้ามชาติที่จับมือกับทุนระดับชาติ ให้เหลือพื้นที่สำหรับร้านโชว์ห่วยของประชาชนคนเล็กคนน้อยให้พอทำมาหากิน ไม่ต้องล้มหายตายจากไป ได้หรือไม่
ถามหน่อยเถอะว่า “เฮียกวง” กับ “ลุงตู่” กล้าไปขอความร่วมมือจากเจ้าของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ใช่แอลกอฮอล์ ให้เหลือที่ทางให้ “เหล้าพื้นบ้าน” หลงเหลืออยู่รอดสืบสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้หรือไม่ ฯลฯ
โจทย์ใหญ่ของ “เฮียกวง”หากจะสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ไม่ใช่แค่จะสานพลัง “ประชา- รัฐ” เท่านั้น แต่โจทย์ใหญ่ที่ “เฮียกวง” รู้แน่อยู่แก่ใจก็คือ จะลดอำนาจการผูกขาดของทุนและเพิ่มอำนาจการต่อรองของประชาชนโดยมีรัฐเป็นผู้วางกฎ กติกา กำกับ และตรวจสอบ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเบี้ยล่างของทุนใหญ่ได้อย่างไร นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องที่ “เฮียกวง” พูดไม่ออกบอกใครไม่ได้ เพราะเฮียกวงเองก็มาจากชนชั้นเจ้าสัวจะทรยศต่อหลักการแสวงหากำไรสูงสุดได้อย่างไร ใช่ หรือไม่ใช่
คำพูดสวยหรูของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวเปิดงาน ซึ่งจะมุ่งทำ “ประชารัฐ” แทน “ประชานิยม” ฟังดูก็ชวนเคลิ้มไม่น้อย นายกฯ ท่านว่า ผมเป็นรัฐท่านเป็นประชาชนมาสัญญาร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติให้เจริญเติบโตไปข้างหน้า โดยเริ่มสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ฐานรากขึ้นมา ต้องร่วมมือกันทำให้ชัดเจนระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงการบริการของรัฐ และกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ ทั้งนี้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องยึดถือไว้
“รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมมีความมั่นคงและความสงบสุข สิ่งที่สำคัญเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน....”
พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายด้วยว่า ประเทศชาติไม่ใช่ของตน หรือของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้ง 70 ล้านคน ที่เรียกว่า “ประชารัฐ” หากฟังเพลงชาติไทยผู้ประพันธ์ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทย เป็นประชารัฐ ไม่มีคำว่าประชานิยม ประชารัฐหมายถึงประชาชนกับรัฐบาลร่วมกัน รัฐบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน เข้ามาร่วมมือกันตามกระบวนการประชาธิปไตย รัฐบาลมีความตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และสร้างความเข้มแข็งในชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมทางด้านการตลาด ซึ่งมีแนวคิดจะเปิดตลาดกลางเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเชื่อมต่อกับผู้ค้าโดยตรง เป็นการสร้างเครือข่ายในท้องถิ่น และสร้างความสมดุลของราคาสินค้า โดยจะต้องมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ตลอดจนการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียน
เรียกว่าวิสัยทัศน์กว้างไกลเชื่อมโยงจากท้องถิ่นถึงระบบโลกเลยทีเดียว
ขณะที่ นายสมคิด ตอกย้ำรัฐบาลประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ให้สามารถยืนหยัดด้วยความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นขาข้างหนึ่งของคนไทยทั้ง 76 ล้านคน ส่วนขาอีกข้างคือการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทยยืนได้ด้วยสองขาของตัวเอง ในฐานะของรัฐบาลตนเองสามารถออกนโยบายได้ แต่รู้ว่าถ้าภาครัฐพยายามครอบงำวงจรฐานล่างก็จะไม่ประสบความสำเร็จ จุดมุ่งหมายคือทำอย่างไรให้ทั้ง 3 ภาคส่วน รัฐบาล ประชาชนและเอกชนเชื่อมโยงกัน ก็ต้องมีกลไกหรือคณะกรรมการร่วมที่ทำให้ทั้ง 3 ภาคส่วนมีความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
อย่างไรก็ตาม การคิกออฟนโยบาย “ประชารัฐ” ที่เน้นความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานราก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการสร้างความแตกต่างจากนโยบาย “ประชานิยม” นั้น จะทำสำเร็จ เห็นผล และสร้างความต่างได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการลงมือทำอย่างจริงจังและเห็นผลงานเชิงประจักษ์เป็นรูปธรรม
ที่สำคัญคือ กระบวนการทำงานนั้นต้องเปิดรับฟังเสียงของประชาชนคนฐานรากอย่างกว้างขวาง ระดมความคิดเห็นจากคนทุกฝ่าย เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง สร้างอำนาจต่อรอง และลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง แต่หากตราบ ใด ที่ภาครัฐเล่นบทบาทหนุนหลังนายทุนใหญ่เอารัดเอาเปรียบประชาชนอยู่เหมือนที่ผ่านๆ มา กระบวนการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากก็ยากจะเกิดขึ้น
ปรมาจารย์ด้านเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานรากตัวพ่ออย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ และที่ปรึกษากรรมการการจัดงานฯ ซึ่งเป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์สานพลังประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ให้รูปธรรมสำหรับหัวใจการสร้างเศรษฐกิจฐานรากชัดเจนว่าคือการสร้างสัมมาชีพกับสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เต็มพื้นที่ข้างล่าง โดยการทำสิ่งต่างๆ 8 ข้อ อาทิ 1. เรื่องเกษตรยั่งยืน 2.ผลิตสิ่งสินค้าที่จำเป็นและสินค้าวัฒนธรรมของชุมชน 3.สร้างการท่องเที่ยวชุมชนทุกตำบล 4. พลังงานชุมชน 5. เรื่องธนาคารต้นไม้ 6.การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร 7. มีสถาบันการเงินระดับชุมชนทุกตำบล 8.ทำเศรษฐกิจชุมชนกับมหภาคให้เชื่อมโยงกัน
แต่ถามจริงๆ เถอะ เอาแค่เกษตรยั่งยืนซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประชาชนคนไทยที่อยู่ในภาคเกษตรร่วม30 ล้านคนนี่ จะทำจริงๆ ได้สักเพียงไหน เพราะต้องยอมรับกันในเบื้องต้นกันก่อนว่า เวลานี้ทั้งระบบการผลิตพืชและสัตว์เศรษฐกิจล้วนแต่พึ่งพาปัจจัยภายนอก มีการนำเข้าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรและผู้บริโภค ซึ่งมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งที่เป็นผลมาจากการใช้สารเคมีในระบบห่วงโซ่การผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอย่างหนักหน่วง ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไก่ กุ้ง ในระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง ก็ตกเป็นทาสในที่ดินของตนเอง ลงจากหลังเสือไม่ได้ เพราะวงจรหนี้สินจากการลงทุนและการพึ่งพาตัวเองไม่ได้ในเรื่องตลาด ทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับบริษัทที่มีอำนาจต่อรองมากกว่าทุกด้าน
เรื่องคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งหรือเกษตรพันธะสัญญา มีเครือข่ายเกษตรกรเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาเป็นตัวกลางในการกำหนดกติกาเงื่อนใขให้เกิดความเป็นธรรมมานมนานกาเลแล้ว แต่ไม่เคยมีเสียงตอบรับ กระทรวงเกษตรฯ มีแต่ออกหน้าสนับสนุนบริษัท ดังเช่น กรณีลูกไร่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ภูเขาที่มีปัญหารุกไปถึงเขตป่าต้นน้ำ เป็นตัวอย่าง
หรือจะเรื่องการผลิตสินค้าของชุมชนที่คุ้นเคยกันดีในชื่อของ“โอทอป” นั่นแหละ ถึงวันนี้ได้รับการสนับสนุนให้อยู่รอดและแข่งขันได้อยู่สักกี่มากน้อย พอๆ กับท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ ที่เคยบูมอยู่พักใหญ่ ก็ปิดฉากกันไป เช่นเดียวกันระบบการเงินชุมชนอย่าง “เบี้ยกุดชุม” ซึ่งกลายเป็นตำนานของสถาบันการเงินชุมชนไว้เล่าขานให้ชนรุ่นหลังฟัง เรื่องราวเหล่านี้บรรดาปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น และเครือข่ายพัฒนาท้องถิ่น ต่างสัมผัสและรู้ซึ้งมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยจุดประกายความฝันพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากกันมากว่าสิบปีแล้ว
กระบวนทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มจากบนลงล่างอย่างเข้มข้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 - 7 และแผนพัฒนาฯ ที่เอา “คน”เป็นตัวตั้งในแผนฯ 8 เรื่อยมาจนถึงแผนฯ 9 - 10 - 11ที่พยายามปรับเปลี่ยนเป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่พูดกันมานานแล้ว แต่รูปธรรมความสำเร็จยังลางเลือน เว้นแต่คำยกยอปอปั้นกันเท่านั้นที่ดูชัดเจน
“เราต้องมีหลักคิดในกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อพัฒนาประเทศ เพราะกระบวนทัศน์เก่าไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากเป็นกระบวนทัศน์เก่า ทำจากบนลงล่าง โดยยึดรูปแบบเจดีย์ โดยที่ผ่านมา อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะทำตั้งแต่ด้านบน การศึกษา การเมือง โครงสร้างทั้งพระเจดีย์ พีระมิด เพื่อฐานความมั่นคงแข็งแรง แล้วจะรองรับให้ด้านบนมั่นคง และรองรับประเทศได้ ตรงจุดนี้ถือว่าสำคัญ ซึ่งจากการประกาศของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นกระบวนทัศน์ใหม่โดยการทำจากล่างขึ้นบน โดยเป็นการสร้างฐานรากความเข้มแข็งของประเทศ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่มักทำจากบนลงล่าง
“ที่ผ่านมามีการดำเนินการมาแล้วหลายอย่าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ กองทุนต่างๆ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หมออนามัย ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ หลายหมื่นคน มีการทำงานมานานแล้ว และเกิดผู้นำท้องถิ่นหลายแสนคน หลายร้อยตำบล เป็นตำบลสุขภาวะ ความดีเป็นเครดิตสามารถใช้กู้เงินได้ อย่างที่ อ.พาน จ.เชียงราย มีธนาคารความดี สะสมความดี
“อย่างที่นายสมคิด ประกาศกระบวนทัศน์ใหม่นั้น ที่ต่างไปจากเดิม และเมื่อรัฐบาลจะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานราก แล้วนำมาเชื่อมโยงกับประชาชน ที่มีการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะทำงานในเรื่องนี้ทั้งกว่า 8 หมื่นหมู่บ้าน8,000 ตำบล 77 จังหวัด สามารถทำได้อย่างเต็มที่ โดยมีกลไกต่างๆ ควบคุมดูแล ในการขับเคลื่อนชุมชนทุกระดับ เป็นการสร้างความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ โดยจะไม่มีการแบ่งสีแบ่งพวก แต่เป็นการรวมตัวทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ ..สามเหลี่ยมเขยื้อนประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน โดยมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่วิสาหกิจชุมชน โดยมีฐานรากเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง และเชื่อว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้าหรือปี 2568ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด” ศ.นพ.ประเวศ กล่าวในตอนท้าย
..... นี่ช่างเป็นโลกที่สวยงามยิ่งนัก
อันที่จริง “เฮียกวง”นั้น ก็อยู่ในทีมผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยที่ผลักดันเศรษฐกิจฐานรากตาม “กระบวนทัศน์ใหม่” มาตั้งแต่ปีมะโว้โน่นแล้ว และศ.นพ.ประเวศ วะสี พร้อมผู้นำและเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนหน้าเดิมที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้มาชั่วชีวิต ไม่ว่ายุคสมัยนักการเมืองเป็นใหญ่ หรือรัฐทหารเป็นใหญ่
และเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น กลุ่มคนหน้าเดิมนี้มีส่วนในการบริหารจัดการเม็ดเงินที่ทุ่มเทลงไปยัง “ฐานราก”มาแล้วทั้งสิ้น นับตั้งแต่ “เงินกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม”หรือ “Social Investment Fund” หรือ“SIF” หรือ “ซิฟ” จากธนาคารโลกช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี2540มาจนถึงยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่แคมเปญนโยบายประชานิยม ก็เรียกใช้บริการเครือข่ายนี้ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ปรึกษาหารือและพึ่งพาเครือข่ายนี้ให้ช่วยสร้างภาพ โปรโมต “ประชารัฐ” ให้ต่างไปจากประชานิยม
ถึงที่สุดแล้ว หากเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่นำโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี มองโลกสวย จับแต่งานเย็น ไม่เล่นของร้อน ไม่กล้าเสนอแนะให้มีการแก้ไขเศรษฐกิจรากฐานที่อยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาด แล้ว “เฮียกวง” ซึ่งก็รู้ๆ อยู่ว่าการจะสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากนั้น ต้องสร้างอำนาจต่อรอง สร้างความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำระหว่างนายทุนใหญ่กับประชาชนคนฐานรากเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ “เฮียกวง” รู้เต็มอกแต่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ และไม่กล้าลงมือแก้ไขในจุดนี้เพราะเกรงใจกลุ่มทุน นโยบาย"สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” คงเป็นแค่อีเว้นท์หนึ่งของคสช.ที่สลายไปกับสายลม ก็เท่านั้น