xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตีปี๊บฟื้นเศรษฐกิจ การันตี “บิ๊กตู่” อยู่นานๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อารมณ์ดี-ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงคมนาคม และฟังนโยบาย อาคารสโมสร และหอประชุมกระทรวงคมนาคม ชั้น 3 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 58 ที่ผ่านมา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้เสียงทัดทานความต้องการ “อยู่ยาว” ที่มีนัยซ่อนอยู่หลังมีการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญกันไปเรียบร้อยโรงเรียนลุงตู่จะแผ่วเบาจนแทบไม่ได้ยิน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็รู้ดีว่าถ้าจะอยู่กันไปอีกนานๆ ประชาชนก็ต้องอยู่ดีมีสุข อิ่มหนำสำราญด้วย ดังนั้น จึงต้องหาทุกวิถีทางเพื่อฟื้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่นิ่งสนิทมานาน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นคืนมาให้เร็วที่สุด

ถึงวันนี้ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เร่งมือทำงานแข่งกับเวลา และพร้อมแล้วสำหรับการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ฐานราก และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็พร้อมแล้วสำหรับการถือกรรไกรตัดริบบิ้นงานคิกออฟแคมเปญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ เป็นมาร์เก็ตติ้งตีปี๊บแพคเกจเศรษฐกิจครบชุด ทั้งมาตรการระยะสั้นเร่งด่วน ทั้งแผนอุ้มเอสเอ็มอี ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใส่พานไว้รอนักลงทุนครบครัน

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นว่าอาจจะไปสร้างปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีกและให้ระวังหนี้นอกระบบจากบรรดานักวิชาการขาประจำ และนักการเมืองที่เคยงัดมาตรการเหล่านี้มาใช้แล้ว แต่เสียงไม่เห็นด้วยก็แผ่วเบามากๆ เหมือนจะยอมรับว่าไม่มีหนทางอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว จึงไม่อยากขัดคอขัดขาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ให้เสียบรรยากาศ ทั้งๆ ที่รู้ๆ กันว่าคงไปคาดหวังอะไรไม่ได้สักเท่าไหร่นักก็ตาม

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นมีออกมาเป็นระยะๆ นับแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา โดยมาตรการระยะสั้น วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ เตรียมตีปี๊บใหญ่โตนั้น ประกอบด้วย

หนึ่ง มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย แยกเป็น 2 มาตรการ คือ

1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน เป็นการใส่เงินสินเชื่อเข้าไปในกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระดับ A ระดับ B กองทุนฯ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กองทุนฯ นำไปรีไฟแนนซ์หนี้เดิม เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานให้กับกองทุนฯ กำหนดวงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน 30,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 30,000 ล้านบาท โดยให้ออมสินและ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับกองทุนฯ ระยะเวลา 7 ปี นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา และดำเนินการทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยให้แก่แบงก์ในวงเงินรวมทั้งหมดไม่เกิน 2,478 ล้านบาท

2) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยจัดสรรงบประมาณให้ตำบลละ 5 ล้านบาท (จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงาน จัดซื้อจัดจ้าง ในลักษณะโครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น

และโครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย ปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซม ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์บริการผู้สูงอายุ โดยขีดเส้นดำเนินการและเร่งรัดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และจัดทำรายงานการประเมินผลโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคม 2559 เมื่อครม.อนุมัติแล้วให้จัดซื้อจัดจ้างได้ทันที

สอง มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนและเงินทุนหมุมเวียนที่มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จัดทำแผนการดำเนินการรายการที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุนที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน วงเงินรายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจข้างต้นซึ่งมีเม็ดเงินรวมประมาณ 136,000 ล้านบาท จะต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ให้จีดีพีโตได้ 3%

สำหรับมาตรการอุ้มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ครม.อนุมัติ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 แบ่งเป็น 2 มาตรการหลัก ประกอบด้วย

หนึ่ง มาตรการด้านการเงิน โดยให้ SMEs สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 4% ต่อปี รวมวงเงิน 100,000 ล้านบาท แหล่งเงินจากธนาคารออมสิน ระยะเวลากู้เงินไม่เกิน 7 ปี โดยรัฐบาลจะตั้งงบชดเชยให้กับธนาคารออมสิน 2,800 ล้านบาท/ปี

นอกจากนั้น กระทรวงการคลัง โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs รวมวงเงิน 100,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจากเดิมที่รัฐค้ำประกัน 70% และให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยค้ำประกันอีก 30% มาเป็นให้รัฐค้ำประกัน 70% ที่เหลือ 15% แรกจะให้ บสย. รับผิดชอบ ส่วน 15% หลังจะให้ บสย. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการตั้งกองทุนเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีปัญหาด้านเงินทุนให้มีสภาพคล่อง โดยธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และเอสเอ็มอีแบงก์ ร่วมทุนธนาคารละ 2,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 6,000 ล้านบาท และอาจให้กองทุนนี้เข้าไปถือหุ้นของเอสเอ็มอีบางส่วน

สอง มาตรการด้านภาษี จะลดหย่อนภาษีให้เอสเอ็มอี 10% ในระยะเวลา 3 ปี และงดเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้กับเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ในสาขาที่คิดว่าเป็นประโยชน์แต่มีต้นทุนมาก เช่น เทคโนโลยี นวัตกรรม

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีแต่เดิม ซึ่งที่ประชุม ครม. เคยอนุมัติสมัยที่นายสมหมาย ภาษี เป็นรมว.กระทรวงการคลัง รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท ก็จะนำมารวมกับมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ครั้งนี้ด้วย

ถามว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้แค่ไหน นายสมคิด ตอบว่า “ผมคิดว่ายังไงก็ดีกว่าที่ผ่านมา เพราะว่านายกฯ และคนทำงานมีความตั้งใจสูง จากที่ไม่ค่อยมีอะไรกลายเป็นสิ่งที่มีอะไรบ้างพอสมควรทีเดียว และเป็นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะอย่างนี้ผมเชื่อว่าหุ้นขึ้นไปแล้ว ซื้อไว้ก่อนนะ หุ้นขึ้นแล้วจะซื้อไม่ทัน ทุกคนมีสิทธิ์คาดหวัง ผมและคณะทำงานจะทำในสิ่งที่ควรจะทำและต้องทำ”

พล.อ.ประยุทธ์ ก็มั่นใจมากขึ้นว่าจะเห็นเศรษฐกิจโงหัวขึ้น ดังคำให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม.เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมครม. พูดคุยกันเรื่องเงินลงทุน เงินทุนของเอสเอ็มอี ค่าประกันการเพิ่มทุน เพื่อจูงใจให้เอสเอ็มอีทั้งหมดเข้าระบบ เพราะขณะนี้เอสเอ็มอีทั่วประเทศประมาณ 2.7 ล้านราย จำนวนนี้มีมากกว่า 2 ล้านรายที่ไม่ขึ้นทะเบียนในระบบ แต่เขาได้เสียภาษี ตอนนี้ก็ได้เพิ่มเม็ดเงินเข้าไปในธนาคารรัฐ เพื่อเร่งและสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ได้พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตได้ บางอย่างผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ต้องมีการปรับปรุงกัน

ส่วนเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า นายกรัฐมนตรี กระทุ้งต้องเร่งรัดให้เร็วขึ้น ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคม ออกมาขานรับว่า โครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมตามแผนปี 2558-2559 ที่จะประกวดราคาและลงทุน 17 โครงการ วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท อยู่ในแผนเรียบร้อย ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่าจะมีโครงการไหนที่จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน และโครงการใดจะใช้เม็ดเงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายสมคิด ซึ่งไปมอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ย้ำว่า ต้องการให้กระทรวงคมนาคมลงทุนปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยุทธศาสตร์หลายด้าน หนึ่ง คือการเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการก้าวสู่เออีซี เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางเออีซีให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับจีนลงสู่ภาคใต้ หรือการเชื่อมโยงแนวเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จากเวียดนามผ่านไทยไปยังอินเดีย และ สอง การลงทุนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้คำนึงถึงการเชื่อมต่อของอุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์ภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งเพื่อเสริมศักยภาพให้มากขึ้น

แพ็กเกจใหญ่ทั้ง 3 แพ็กเกจ มากันครบครันตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากถึงโครงสร้างพื้นฐานยันยกระดับการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งรวมเม็ดเงินสองส่วนแรก กองทุนหมู่บ้านฯ กับช่วยเอสเอ็มอี กว่า 2.3 แสนล้าน และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 1.6 ล้านล้านบาท เป็นความหวังทั้งของรัฐบาลและประชาชนที่จะมีโอกาสเห็นเศรษฐกิจฟื้น

สู้อุตส่าห์เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ ทุ่มเทงบกันขนาดนี้ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็คงเหลือทางเลือกเดียวคือ เปลี่ยนรัฐบาล จะอยู่กันไปนานๆ คงยากถ้าเศรษฐกิจยังรุ่งริ่งอยู่อย่างนี้


นี่ก็อารมณ์ดี-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ บางกอกเจมส์ แอนด์จิวเวลลี่แฟร์ ครั้งที่ 56  ที่ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 58
กำลังโหลดความคิดเห็น