ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ได้ฤกษ์คิกออฟล้างหนี้นอกระบบถึงขั้นตั้งเป้าจะทำให้เจ้าหนี้ดอกโหดสูญพันธุ์กันไปแล้วในวันแรกของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นี่ถือเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ระดับ “วาระแห่งชาติ” ที่สำคัญ และจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันเลยทีเดียว หากสามารถทำได้สำเร็จดังมุ่งหมาย
ไม่เพียงแต่ “เจ้าหนี้ดอกโหด” เท่านั้นที่จะต้องถูกล้างให้สิ้นซาก บรรดาสีเขียว สีกากี ไปรับจ๊อบทวงหนี้โหด งานนี้มีหนาว เพราะ “ลุงตู่” คาดโทษไว้ล่วงหน้าเลยว่าถูกปลดแน่ เอาแบบโดนกันถ้วนทั่วไม่มีไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม
“..... รัฐบาลจะดำเนินการกวาดล้างพวกเจ้าหนี้ ผู้ให้กู้ และนายทุนนอกระบบที่ผิดกฎหมายให้หมด หรือถ้าใครกล้าก็ลองดู วันนี้เราต้องทำอย่างเด็ดขาด ใครเกี่ยวข้องต้องโดนทุกคน จับให้หมด ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้รังแกใคร เพราะถ้าไม่ทำปัญหาก็ไม่จบสิ้น และขอให้เจ้าหนี้นอกระบบมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะต่อจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่และตำรวจดำเนินกวาดล้างทั้งหมด เพราะเรื่องนี้ผิดกฎหมายคุ้มครองผู้กู้ และมีเรื่องของการไกล่เกลี่ย การลงโทษผู้กระทำความผิด....
“.... รัฐบาลพร้อมรับฟังเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบใครเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่ทำตามกฎหมาย ใครไปตามทวงหนี้ขอให้ส่งคำร้องมาที่ทำเนียบรัฐบาลทันที เราจะดำเนินการให้ เราจะต้องแก้ปัญหาเรื่องหนี้ให้ได้โดยเร็ว....”
นั่นเป็นคำประกาศิตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในวันกดปุ่มเปิดโครงการ “แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด และภาคประชาชน กว่า 1,500 คน เข้าร่วม
ต้องบอกว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นแผลเน่าเรื้อรังของสังคมไทยที่รักษาไม่หาย แม้จะมีความพยายามมาหลายรัฐบาลแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนล่วงมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยหน่วยงานหลักๆ ที่หาหนทางแก้ไขเรื่องนี้ มีทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และกระทรวงมหาดไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ แต่ดูเหมือนว่าหนี้นอกระบบจะเป็นเรื่องวนไปๆ แก้แล้วก็กลับมาแก้อีก
แต่การแก้หนี้นอกระบบคราวนี้ของ “รัฐบาลลุงตู่” มีความต่าง อาจจะเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปบทเรียนผ่านประสบการณ์แก้ไขปัญหามาหลายรอบแล้ว และพบว่ามาตรการที่ผ่านๆ มาแก้ได้เฉพาะหน้าระยะสั้นๆ เท่านั้น คราวนี้จึงมีการออกกฎหมายมาเป็นเครื่องมือ เพื่อล้างเจ้าหนี้ดอกโหดและไล่ต้อนลูกหนี้ทั้งหลายเข้าระบบ และมีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำผิด
เมื่อนโยบายชัด กฎหมายมีพร้อม การไล่ต้อนเข้าระบบคราวนี้ คงเห็นหน้าเห็นหลังกันบ้าง แม้ว่าจะไม่ถึงขนาด “สูญพันธุ์” ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ปัญหานี้เรื้อรังกันต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาในการดำรงชีวิตของผู้มีรายได้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลังแล้วยังมาถูกโขกดอกเบี้ยอีก
ขั้นตอนในการดำเนินการเรื่องนี้ อย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไว้ รัฐบาลมีมาตรการออกมาเป็นระยะ คือการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการแก้ไขหนี้นอกระบบก่อน เพราะถือเป็นฐานสำคัญในวงจรเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องร่วมมือกัน และต้องหาวิธีให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงกองทุนสินเชื่อในระบบเพื่อจะได้สามารถยกระดับชีวิตพื้นฐานของตัวเองได้ รัฐบาลจะเร่งจัดการหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยกหนี้ให้ เพียงแต่จะทำให้หนี้นอกระบบซึ่งถือว่าผิดกฎหมายให้เป็นศูนย์และกลับเข้ามาในระบบ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงฐานข้อมูลของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ในจำนวนผู้มีรายได้น้อย หรือผู้มีรายได้ไม่เกิน 1แสนบาทต่อปี ที่มีสิทธิ์รับเงินสวัสดิการทั้งสิ้น 6.98 ล้านคน เป็นผู้มีหนี้นอกระบบราว1.33 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้นอกระบบรวม 86,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 64,600 บาท
ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงการคลัง ที่เปิดให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการจากรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมา ในจำนวนผู้ลงทะเบียน 8.3 ล้านราย มีผู้แจ้งว่ามีภาระหนี้นอกระบบอยู่ประมาณ 1.3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นหนึ่งในความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากเข้ามาบริหารประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบในการแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ มาตั้งแต่ปลายปี 2557 เพื่อมุ่งแก้ปัญหาแบบครบวงจรและยั่งยืน
กระทั่ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ภายใต้หลักการที่จะบริหารจัดการปัญหาหนี้นอกระบบด้านลูกหนี้ และด้านเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบครบวงจรและมีความต่อเนื่อง กล่าวคือ
หนึ่ง ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าร่วมไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับลูกหนี้ และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี พร้อมกับเปิดช่องให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์)
การดำเนินการข้างต้นจะทำควบคู่ไปกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้เพิ่มบทลงโทษสำหรับเจ้าหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้สูงขึ้น จากเดิมปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี เป็นปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังมีการออก พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่มีวัตถุประสงค์ห้ามข่มขู่ลูกหนี้ หากฝ่าฝืนติดคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ถือเป็นกฎหมายซึ่งออกมาแก้ไขปัญหานี้ที่มีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างชัดเจน
สอง การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ “พิโกไฟแนนซ์” ปล่อยสินเชื่อกรณีฉุกเฉินได้ง่ายและเร็ว ในวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าบริการและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 36% ต่อปี ให้กู้ยืมทั้งแบบมีหรือไม่มีหลักประกัน โดยดำเนินการไปพร้อมกับ ธ.ก.ส. และออมสิน ที่จัดตั้งหน่วยธุรกิจแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อให้คำปรึกษา และไกล่เกลี่ยประนอมหนี้
ทีมงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของ “ลุงตู่” ขึ้นไปโชว์ตัวในพิธีเปิดงาน "การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน" ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ 6 รายได้แก่ บริษัท นิวสันติ 999 ลิสซิ่ง จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร บริษัท คำเขื่อนแก้วธุรกิจ จำกัด จังหวัดยโสธร บริษัท บี อิน สไปร์ จำกัด กรุงเทพมหานคร บริษัท คุณสมร จำกัด จังหวัดพิจิตร บริษัท 99 มงคล จำกัด จังหวัดตรัง และบริษัท คูนิติ จำกัด จังหวัดบุรีรัมย์
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 107 ราย อนุมัติแล้ว 6 รายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งสามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้ทันทีต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36
กระทรวงการคลัง คาดว่าภายในสิ้นปี 2560 จะมีผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ครบ 77 จังหวัด และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นศูนย์ หรือหมดไปภายในสิ้นปีนี้
สำหรับแนวทางของเจ้าหนี้นอกระบบ หากไม่ต้องการขอใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ ยังสามารถดำเนินการให้กู้ยืมได้ตามแบบเดิม แต่ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 หากคิดดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ 15 ต้องมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และได้รับใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ เท่านั้นจึงจะสามารถเก็บอัตราดอกเบี้ยได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 36 ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษตามกฎหมาย
ในกรณีการเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบนั้น คลังได้ส่งรายชื่อเจ้าหนี้นอกระบบรายใหญ่กว่า 100 ราย ให้กรมสรรพากรตรวจสอบ และให้สรรพากรจังหวัดเข้าไปเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้แล้ว หากเจ้าหนี้รายใหญ่ยินยอมประนอมหนี้ดังกล่าว กรมสรรพากร จะยกเว้นการตรวจสอบเพื่อเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกับเจ้าหนี้ดังกล่าว จากการสำรวจ พบว่าเจ้าหนี้รายใหญ่จำนวนมากอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือ ภาคเหนือ และภาคใต้
ในส่วนของลูกหนี้ จะมีการเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบผ่านกลไก “คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบใน77 จังหวัด” ปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม ปลูกฝังความรู้ วินัยทางการเงิน รวมถึงฝึกอบรมอาชีพหรือทักษะฝีมือแรงงานอย่างเข้มข้น รวมทั้งติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ประชาชนรายดังกล่าวกลับมาเป็นหนี้นอกระบบอีกครั้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560ครม.ได้อนุมัติสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเป็นหนึ่งในโครงการของแพ็กเกจใหญ่ที่ต้องการแก้ไขหนี้นอกระบบหมดไป
วงเงินดังกล่าว แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อธนาคารออมสิน ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส.วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ให้กู้วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย สำหรับระยะเวลากู้ภายใน 1 ปี กู้ยืมไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.85%ต่อเดือน หรือประมาณปีละ 10% ต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อยหนึ่งคน หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะพิจารณาจากความฉุกเฉินและความจำเป็นในการใช้เงิน ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมประมาณ200,000 ราย
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมชดเชยค่าเสียหายหากเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล โดยที่ 25% แรก จะชดเชย 100% ตั้งแต่ 25-37.5% รัฐบาลจะชดเชย 70% และมากกว่า 37.5%แต่ไม่เกิน 50% รัฐบาลจะชดเชยครึ่งหนึ่ง โดยรัฐจะรับความเสียหายไม่เกินวงเงิน4,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่วนเวียนไปมาซ้ำๆ ซากๆ หากฟังจากผู้บริหารของธนาคารออมสิน ที่คลุกคลีอยู่กับการแก้ไขปัญหานี้ จะพบว่า จากข้อมูลที่มีอยู่ใน 2 ช่วงรัฐบาล ขณะนั้นมีลูกหนี้นอกระบบมาลงทะเบียนกว่าหนึ่งล้านราย แต่แก้ไขปัญหาได้จริงเพียง 20% ส่วนอีก 80% แก้ไม่ได้ โดยหนี้ที่ออมสินไปรับโอนมาอยู่ในระบบจากจำนวน 5 แสนราย เข้าเกณฑ์ช่วยเหลือของธนาคารเพียงแสนกว่าราย ที่สำคัญกว่า 50%กลับมาเป็นหนี้ซ้ำซ้อนและกลายเป็นหนี้เสียของธนาคาร
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้กลายเป็นหนี้ซ้ำซาก เกิดจากความไม่สามารถบริหารจัดการการเงินของตัวเองได้ ความสามารถในการชำระหนี้ไม่มีเพราะไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ติดการพนัน ไม่นำสิ่งที่ได้รับการอบรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญคือ มีพฤติกรรมชอบกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยาก
หนี้นอกระบบหนึ่งล้านราย ถือเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะล้างให้หมด ทำให้สูญพันธุ์ดังคำประกาศในวันคิกออฟ จะเป็นจริงได้หรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ที่ “ลุงตู่”เพียงคนเดียว แต่ต้องช่วยๆ กัน โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีพฤติกรรมชอบกู้ ต้องลด ละ เลิก ก่อนเลย