xs
xsm
sm
md
lg

ถกร่าง กม.ลูก “พรเพชร” จี้รอบคอบ “สุรชัย” ให้เตรียมรับเวลาจำกัด ทหารติดใจถอดถอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สัมมนาเตรียมพร้อมร่าง กม.ลูก สนช. “พรเพชร” แนะรอบคอบ หวั่นตีความวุ่น “สุรชัย” วางหลัก 3 ข้อรับมือ เวลาอันจำกัด “ทวีศักดิ์” จี้ส่งเนื้อหา สายทหารติดใจปมถอดถอน ด้าน กรธ.เผยเกณฑ์พรรคการเมืองต้องทำใน 90 วัน มีโทษยุบพรรค สั่งรื้อข้อบังคับใน 60 วัน เจอโทษแบนลงเลือกตั้ง แจงปมผู้ตรวจเลือกตั้ง-กกต. โยน กก.สรรหาเคาะ

วันนี้ (14 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 พ.ย. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน จัดสัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1/3 โดยมีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่ 2 และนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. ชี้แจงเจตนารมย์ ร่างกฎหมายว่าด้วย กกต.และพรรคการเมือง ให้สมาชิก สนช.รับทราบข้อมูล

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวเปิดงานว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ สนช.จะมีหน้าที่พิจารณากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ภายใต้กรอบเวลา 60 วัน นับจากวันที่ได้รับร่าง และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการตีความในอนาคต จึงขอให้สมาชิกพิจารณากฎหมายเหล่านี้อย่างรอบคอบ ยอมรับว่าระยะเวลาค่อนข้างเร่งรัดแต่เป็นความประสงค์ตามกรอบร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งตามแผนโรดแมป ดังนั้นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งจะมาทำหน้าที่พิจารณาจึงมีความสำคัญ ต้องทำงานอย่างจริงจัง ยอมเสียสละเวลาซึ่งในบางครั้งอาจต้องมีการเตรียมพร้อมร่วมกันทำงานนอกสถานที่เพื่อจะทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จได้ทันตามเวลาที่กำหนด

นายอภิชาตกล่าวถึงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ว่า ร่างแรกมี 67 มาตรา มีของใหม่คือกำหนดให้คุณสมบัติ กกต.เข้มข้นขึ้น เช่นต้องดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เทียบเท่าระดับอธิการบดี อัยการ ผู้พิพากษา ติดต่อกัน 10 ปี ในทางวิชาการต้องอยู่ในระดับศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับบริหารงานการเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยประสบการณ์แต่ละด้านสามารถนับรวมเวลากันได้ ส่วนอำนาจหน้าที่ที่ปรับใหม่ เช่น ให้ กกต.เพียง 1 คนสามารถสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือสั่งระงับการเลือกตั้งได้ทันที หากพบว่าไม่สุจริตยุติธรรม นายทะเบียนพรรคให้เปลี่ยนจาก กกต.เป็นเลขาธิการสำนักงาน กกต. สำหรับผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดจะมีจำนวน 5-7 คน แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ โดย 2 คนมาจากคนในพื้นที่ ส่วนที่เหลือมาจากการสุ่มว่าใครจะต้องไปลงพื้นที่ใดบ้าง มีอำนาจเฉพาะช่วงมีการเลือกตั้ง ไม่มีเงินเดือน มีแต่เบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทาง

นายนรชิตกล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง มี กรธ.ไม่มีแนวคิดการรีเซต เช่นเดียวกับคณะกรรมการองค์กรอิสระ กรธ.ก็ไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ ภาพรวมของกฎหมายพรรค คือ ทำให้จัดตั้งง่ายขึ้น สำหรับเจตนารมย์ขอให้ สนช.ดูในบทเฉพาะกาล คือ ให้พรรคจดทะเบียนตามกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 ยังอยู่ แต่ต้องมีจำนวนสมาชิก จำนวนสาขาพรรค และตัวแทนสมาชิกประจำจังหวัด ครบตามที่กฎหมายกำหนด และมีทุนประเดิมแรกเริ่ม คือ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคลงขันคนละอย่างน้อย 2,000 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่กฎหมายบังคับใช้ หากไม่ดำเนินการ หรือไม่ทัน มีโทษยุบพรรค ส่วนมติพรรคหรือข้อบังคับให้เป็นไปตามเดิม พร้อมทั้งจัดทำรายการบัญชีทรัพย์สินพรรค หากมีส่วนที่ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก ให้แก้ไขภายใน 60 วัน หากไม่ดำเนินการหรือไม่ทัน มีโทษตัดสิทธิการส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งที่จะถึง นอกจากนี้ยังระบุว่า ใครที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ให้นับเวลาถูกตัดสิทธิตามที่โทษกำหนดไว้จนครบ จึงกลับมามีสิทธิเหมือนเดิม

จากนั้นเข้าสู่ช่วงซักถาม มีสมาชิก สนช.หลายรายตั้งข้อสงสัยในหลายประเด็น เริ่มจากนายทวีศักดิ์ สูทกวานทิน ถามถึงเจตนารมย์ของ กรธ.ในกฎหมายลูก เมื่อส่งตัวร่างอย่างเป็นทางการมาจะมีการระบุให้ชัดหรือไม่ว่า ส่วนไหนแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ จะได้ไม่ต้องเกิดปัญหาถูกสังคมวิจารณ์กันภายหลังหากต้องตั้ง กมธ.ร่วม จึงอยากให้มีการประสานเรื่องเนื้อหากฎหมายลูกให้ สนช.ทราบบ้าง และในกรณีคุณสมบัติของ กกต.ชุดปัจจุบันจะชี้ขาดอย่างไร กกต.บางคนที่มาทางวิชาการ ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม แต่ไม่ตรงกับหลักของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มีคุณสมบัติด้านอื่น คือจากประสบการณ์จากภาคประชาสังคม จะโอนมาแทนเพื่ออยู่ต่อได้หรือไม่

นายนรชิตชี้แจงว่า จะนำข้อสังเกตไปให้ที่ประชุม กรธ.พิจารณาว่า การส่งมอบร่างกฎหมายลูกจะมีการกำหนดประเด็นหลักการสำคัญมาให้ สนช.ด้วยหรือไม่ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ส่วนคุณสมบัติ กกต.นั้นส่วนตัวเห็นว่าถ้าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องพ้น โดย กรธ.กำหนดให้คณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระตามมาตรา 203 ทำหน้าที่สรรหาเพิ่มอีก 2 คน ให้ครบ 7 คน แล้ววินิจฉัยว่ากกต.เดิมมีใครขัดคุณสมับติหรือไม่ ถ้าชี้ว่าขัด ก็อยู่ทำหน้าที่จนกว่าจะสรรหา กกต.คนใหม่มาแทน หากจะมีการโอนคุณสมบัติเข้าใจว่าอาจทำได้ แต่จะทำให้มีกระทบในสัดส่วนที่มีการโอนมาแทน ส่วนายอภิชาตกล่าวเสริมว่า บทเฉพาะกาลกฎหมาย กกต.กำหนดให้ กกต.ที่มีอยู่ตามฉบับ 2550 กำหนดให้ อยู่ต่อสำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ขัดกับฉบับใหม่ และขอยืนยันว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะถึงมือ สนช.ในวันรุ่งขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แน่นอน

ส่วนสมาชิก สนช.สายทหาร เช่น พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ซักถามในประเด็นอำนาจของการยุบพรรคการเมือง การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนมติถอดถอนของ สนช.อดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรี ที่ดำเนินการตามสำนวนของ ป.ป.ช.จะมีผลอย่างไร โดยนายนรชิตกล่าวว่า อำนาจถอดถอนจะไม่มีในสภาสูงสภาล่าง แต่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนมติของ สนช.จะนำไปหารือหาข้อชัดเจนกับ กรธ.อีกครั้ง ตนนึกไม่ถึงว่า สนช.จะถามละเอียดขนาดนี้

ต่อมาเวลา 11.30 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญ บรรยายหัวข้อ “กระบวนการตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ” ว่า สนช.ต้องดำเนินการตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อสังเกตให้สมาชิก สนช.เตรียมความพร้อมต่อเวลา 60 วันของ สนช.อันเป็นข้อจำกัด 3 ข้อ คือ 1. จำนวนคณะ กมธ.วิสามัญต้องมี 10 คณะ สำหรับกฎหมายลูก 10 ฉบับ 2. องค์ประกอบของ กมธ.เบื้องต้นจะกำหนดให้แต่ละคณะมีจำนวน 30-35 คน โดยมาจาก สนช. แบ่งเป็นสมาชิกที่แสดงเจตจำนง โดย กมธ.รวบความเห็นฯ จะให้สมาชิกเลือกว่ามีส่วนร่วมกับ กมธ.กฎหมายลูกฉบับไหนในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ตัวแทนจาก กมธ.รวบรวมความเห็นฯ และตัวแทนจากวิป สนช. ส่วน ครม., สปท., กรธ. ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นจะให้มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวน กมธ.วิสามัญ หรือ 6-7 คน แต่ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนจากการแก้ไขข้อบังคับการประชุม สนช.ฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติอีกครั้ง

นายสุรชัยกล่าวว่า 3. การทำงานที่มีเวลาจำกัด กมธ.วิสามัญแต่ละคณะจะมีการกำหนดการทำหน้าที่ให้เหมือนกันคือจะให้การแปรญัตติและการเชิญผู้มาชี้แจง ทำในระหว่างการลงพื้นที่เก็บตัวของ กมธ.แต่ละคณะ เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง ส่วนสถานที่และเวลาจะแจ้งให้ทราบต่อไป นอกจากนี้ กระบวนการพิจารกฎหมายลูกจะแตกต่างจากกฎหมายทั่วไป คือ มติที่จะใช้เห็นชอบวาระ 3 ต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ ไม่ใช่สมาชิกที่อยู่ในการประชุม คือ จำนวน 126 เสียง จาก 250 เสียง หากสมาชิกคนใดขาดหรือลาในการพิจารณาในวันนั้นก็เสมือนกับการไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่ สนช.พิจารณา แต่ทั้งนี้หาก กรธ. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเห็นว่า สนช.ปรับแก้ขัดเจตนารมณ์ของ กรธ.ก็ต้องตั้ง กมธ.ร่วมระหว่าง สนช., กรธ. และประธานองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอความเห็นว่ากฎหมายลูกฉบับนั้นควรเป็นอย่างไร โดยหาก สนช.จะตีตกความเห็น กมธ.ร่วมก็จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 167 เสียงขึ้นไป แต่หลังจากนั้นจะให้ใช้กลับไปใช้กฎหมายตามที่ สนช.เห็นชอบวาระ 3 หรือไม่ กรธ.ไม่ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล แต่ตนเห็นว่า เมื่อ สนช.ตีตกความเห็น กมธ.ร่วมก็ต้องกลับไปขอมติของกฎหมายตัวที่ผ่านการพิจารณาวาระ 2 ชั้น กมธ.อีกครั้ง





กำลังโหลดความคิดเห็น