รองนายกฯ ไม่ทราบ “มีชัย” รับนั่งประธาน กรธ. แนะถาม นสพ.ที่ลงข่าวอยู่ฉบับเดียว ปัดทาบ เผยเจ้าตัวไม่อยากรับแต่จวนตัวคงต้องมีคนไปกล่อม ย้ำ 22 ก.ย.ได้รายชื่อ คนจะเป็นต้องรู้เว้นวรรคการเมือง 2 ปี ย้อน “จาตุรนต์” เสนอร่นโรดแมปลืมต้องทูลเกล้าฯ ถวายร่างฯ ทำพรรคตั้งใหม่หาเสียงไม่ทัน ให้รอ กม.พรรคการเมือง เชื่อพิสดาร เปรย 2 พรรคใหญ่อาจต้องตั้งพรรคใหม่ รอ คกก.สรุปเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวสิ้นเดือน-รับตัวเลขสื่อไม่ตรง
วันนี้ (18 ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบรับเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วว่า เห็นจากที่หนังสือพิมพ์บางฉบับพาดหัวข่าว แต่ตนไม่ทราบข้อเท็จจริง ต้องไปถามหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวว่าเขาไปเอามาจากไหน แล้วทำไมหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ จึงไม่มีข่าวนั้น ยืนยันไม่ทราบจริงๆ และขณะนี้นายมีชัยอยู่ต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐบาลไปประชุมเรื่องอธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับประมงให้สหภาพยุโรป (อียู) นานกว่า 10 วัน แล้ว โดยมีส่วนหนึ่งที่จะเดินทางกลับวันนี้ (18 ก.ย.) และอีกส่วนหนึ่งเดินทางกลับวันที่ 21 ก.ย. ไม่ทราบแน่ชัดว่านายมีชัยเดินทางกลับวันไหน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความจริงได้ทาบทามนายมีชัยมาเป็นประธาน กรธ.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้ และจนถึงวันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้หารือหรือปรึกษาแต่อย่างใด เข้าใจว่าในเวลานี้นายกฯ คงไม่ได้ปรึกษาใคร เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ และตนยังไม่รู้ว่านายมีชัยยอมรับจริงหรือไม่ ไม่ควรไปเดาเอาไว้ ให้ท่านกลับมาแล้วสื่อไปถามท่านเอง
“อย่างไรก็ตาม ตอนที่ทำกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ท่านยังพูดทีเล่นทีจริงเลยว่า จะเขียนคุณสมบัติอย่างไรก็ตาม ขอให้เขียนแล้วตัวท่านขัดต่อคุณสมบัติด้วยเถอะ ผมยังบอกไปเลยว่า อย่างนั้นเขียนลงไปเลยว่าห้ามชื่อมีชัย (หัวเราะ) เป็นการพูดเล่นกันในตอนนั้น เพราะท่านไม่อยากทำ แต่ถ้าสมมติว่าจวนตัวแล้วหาคนยาก แล้วทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจก็อาจจะมีใครรับไปคุยกับท่านก็ได้ แต่ผมไม่พูดในเรื่องนี้ เพราะผมทราบเจตนาของท่านแล้ว ผมจึงไม่ควรเป็นฝ่ายไปพูด แต่คนอื่นจะไปพูดก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเขาไม่เคยรู้เจตนา” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าแสดงว่าจะปล่อยให้นายมีชัยเป็นคนตัดสินใจเอง นายวิษณุกล่าวว่า เอาให้แน่ก่อนว่ามีคนไปชวนนายมีชัย เพราะไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะเหมือนนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ที่ระบุว่ายังไม่มีใครมาเชิญ และหากมาเชิญแล้วจะรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในเมื่อยังไม่มีใครเชิญแล้วจะมาถามข้ามขั้นว่ารับหรือไม่ เดี๋ยวหน้าแตกกันไปหมด อย่างนั้นไม่ได้
เมื่อถามว่าจะได้ชื่อ กรธ.ในวันที่ 22 ก.ย.เหมือนอย่างที่เคยตั้งใจไว้หรือไม่นั้น รองนายกฯกล่าวว่า บอกแล้วว่าก่อนวันที่ 22 ก.ย.จะต้องได้รายชื่อ แต่ไม่จำเป็นต้องประกาศ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ เพราะบางคนจะต้องไปลาออกเพื่อให้ถูกต้องตามคุณสมบัติ เมื่อนายกฯเดินทางไปต่างประเทศในวันที่ 1-2 ต.ค.จะได้กลับมาดู ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร สามารถประกาศในวันเดียวกันนั้นได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้หลายคนกำลังติดเงื่อนไขหนึ่งคือ จะต้องเว้นวรรค 2 ปี ซึ่งการติดต่อทาบทามต้องบอกกันให้ชัดเจนว่าจะต้องรู้ด้วยว่าโดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ต้องการให้รับตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี ซึ่งเมื่อครั้งเชิญ 36 คนมาเป็น กมธ.ยกร่างฯ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไปสมัคร คปก. ทั้งที่ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง แต่พูดกันเสียจนนายบวรศักดิ์ต้องขอถอนตัวและลาออก ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับคนที่จะมาเป็น กรธ.ด้วย เพราะต้องใช้ข้อห้ามอันเดียวกัน
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ เสนอให้ร่นระยะเวลาโรดแมป 6-4 - 6-4 เหลือเป็นสูตร 3-3 - 3-2 หรือ 3-3 - 3-3 ว่า ไม่ว่าอะไร เพราะตนเองพูดไปในเชิงคาดหมายในซีกของรัฐบาล บอกไปชัดว่าเป็นการพูดให้ยาวไว้ก่อน ต่อจากนั้นจะเจรจาลดกันลงมาอย่างไรก็จะทำ ทั้งนี้ ตามสูตรของตนนั้น 6 แรกอยู่ในอำนาจของ กรธ.หากจะลดก็ต้องเจรจากับ กรธ. 4 ต่อมาเป็นอำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องประชามติต้องเจรจากับ กกต. ส่วน 6 ถัดมาเป็นเรื่องการทำกฎหมายลูก ก็ต้องพูดกับ สนช. และ 4 สุดท้ายเป็นเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้คงพูดกับใครไม่ได้ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดให้หาเสียงเลือกตั้ง 3 เดือน ก็ต้อง 3 เดือน แต่ที่เป็น 4 เพราะต้องมี 1 เดือนกำหนดเวลาทูลเกล้าฯ ถวายกฎหมายลูก 6 ฉบับ เมื่อกฎหมายลูกลงมาจึงไปปล่อยให้หาเสียงได้อีก 3 เดือน ดังนั้น 1 เดือนดังกล่าว คงไปเจรจากับใครไม่ได้ จะช้าหรือเร็ว เป็นพระมหากรุณาธิคุณ
“ดังนั้น 1+3 = 4 เอาเป็นว่าแค่ช่วงสุดท้ายรัฐมนตรีจาตุรนต์ จาก 4 ให้ลดเหลือ 2 ก็เป็นตัวตั้งได้ แต่ 2 นั้น แปลว่า รัฐมนตรีจาตุรนต์ได้รวมเวลาทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงราชกิจจานุเบกษาด้วยแล้วหรือยัง แล้วสมมติว่าคงกะว่าถวายวันนี้แล้วลงพระปรมาภิไธยพรุ่งนี้อย่างนั้นหรือ หากเป็นอย่างนั้นได้ การหาเสียงเลือกตั้งก็คงคิดว่า 2 เดือนเพียงพอ แต่ 2 เดือนนั้นพอสำหรับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่เขาตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับคนที่จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ เขาตั้งไม่ทัน บางคนอาจบอกว่าทำไมถึงไม่ทัน ถ้าตั้งเสียแต่วันนี้ ถามว่าแล้ววันนี้ตั้งได้เสียที่ไหน เพราะมีประกาศคสช. ห้ามตั้งพรรคการเมือง ดังนั้น ถ้าถามว่าเมื่อไหร่จะตั้งได้ ก็เมื่อตอนที่กฎหมายพรรคการเมืองที่จะออกมาคราวหน้า แล้วกฎหมายฉบับใหม่นั้น ไม่ใช่ปัจจุบัน ซึ่งเรายังไม่รู้ว่ามีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ที่พิสดารไปกว่าปัจจุบันนี้หรือไม่ และผมเชื่อว่าพิศดารด้วย” นายวิษณุกล่าว
รองนายกฯ กล่าวว่า ดังนั้นเมื่อพิสดาร พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ก็เผลอๆ จะต้องไปจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ กว่าจะตั้งพรรคเสร็จ กว่าจะหาสมาชิก กว่าจะลงหาเสียง จัดพิมพ์โปสเตอร์ 2 เดือนแค่นั้นก็ไม่ทัน ถึงได้ให้ไว้ 3 เดือน เท่านี้คือ ตัวอย่างว่าจะลดได้ไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องมาต่อปากต่อคำต่อล้อต่อเถียงซึ่งตนไม่เถียงด้วย เพราะคุณจะลดเป็น 1-1 - 1-1 ตนก็ไม่ว่า ขอให้จัดการให้ได้เท่านั้น หรือบางคนบอกว่าจะเป็น 4-1 - 4-1 ก็ไม่ว่า รวมแล้ว 11 เดือน เพียงแต่ขอให้จัดการได้เท่านั้น ขออนุโมทนาสาธุด้วย ไม่ว่าอะไร แต่ในฐานะที่รู้อยู่ว่า ทุกอย่างมีขั้นตอนและไม่ใช่ง่าย แต่จะพยายามเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าขอให้ท่านไปพิจารณาปรับลดเอง แล้วตนจะได้ประกาศระยะเวลาโรดแมปใหม่ให้ แต่ครั้งนี้กำหนดไปก่อนเพื่อไม่ให้ใครมาชิงพูดว่า 24 เดือน หรือยาวกว่า 20 เดือน แต่เมื่อกำหนดอย่างนี้แล้วค่อยลดลง มันกำไรทั้งนั้น เหมือนขายของ บอกราคาไป 200 บาท ดูว่าคุณจะหยุดซื้อหรือคุณจะเดินเลยไป หรือจะเจรจาต่อกันให้เหลือ 160 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ต่อข้อถามว่า ที่ระบุจะเกิดความพิศดารแล้วทำให้พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์อาจจะต้องจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่นั้นแปลว่าอะไร รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่บอก แต่พูดเผื่อไว้เพราะกฎหมายพรรคการเมืองจะต้องเขียนตามรัฐธรรมนูญ เรายังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไร อย่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เราก็เห็นหน้าตากันหมด ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้ใช้บังคับ กฎหมายพรรคการเมืองก็ต้องออกใหม่ เป็นคนละเรื่องกับกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบัน ดังนั้น ไปอ่านดูแล้วกันว่าถ้าฉบับของนายบวรศักดิ์ที่ออกมา พรรคที่มีอยู่แล้วจะต้องไปตั้งพรรคขึ้นใหม่อย่างไรหรือไม่ แล้วพวกคุณคิดว่าฉบับที่ออกมาใหม่นั้นจะไม่กำหนดหรือ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะออกมาต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกพรรค ในการกำหนดใดๆ บางอย่าง
“เพราะฉะนั้น การที่จะบอกว่าพอประกาศใช้กฎหมายลูกแล้วอีก 7 วันเลือกตั้งกันเลย อย่างที่มีคนพูด นั่นก็คือการเอื้อให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วได้เปรียบ หมายถึงพรรคที่มีการบริหารอยู่แล้ว มีทุน มีสมาชิก มีหัวคะแนนอยู่แล้วจะได้เปรียบ ในทางการเมืองจะยอมอย่างนั้นไม่ได้ เพราะต้องเปิดโอกาสให้แก่ทุกคนทุกพรรค และการที่นายจาตุรนต์ระบุว่าให้เลือกตั้งภายใน 45 วันนั้น คงหมายถึงเท่าที่พรรคการเมืองปัจจุบันบริหารงานกันอยู่ แต่การเลือกตั้งคราวต่อไป หลังจากที่ประเทศว่างเว้นการเลือกตั้งมาหลายปี และพรรคการเมืองหยุดทำกิจกรรมมานานหลายปี การจะฟื้นกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้ง ก็ต้องอย่าลืมว่านี่คือ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร การตั้งรัฐบาล ดังนั้น ต้องให้โอกาสคนใหม่ที่เขายังไม่เคยได้เข้ามามีโอกาสด้วย ตรงนี้ก็ต้องให้เวลาเพราะมันต้องใช้เวลาทั้งนั้น” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามย้ำว่า หากจะเกิดความพิสดารอย่างนั้นแสดงว่าทุกคนจะต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่หมดเลยใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า คงไม่ เพราะบางพรรคมีทุนเดิมอยู่ก็ใช้ได้ มีสมาชิกพรรคอยู่ก็เอามาได้ แต่สำหรับพรรคใหม่ไม่มีสมาชิกเลยแม้แต่คนเดียว ต้องมาหาสมาชิก เพียงแค่กรอกแบบฟอร์มก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ดังนั้น 2 พรรคใหญ่จะได้เปรียบ จะเอาเปรียบทั้งหมดไม่ได้ ต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นเขาบ้าง เพราะคุณมีต้นทุนอยู่บ้างแล้ว ต้องเผื่อคนที่ไม่มีต้นทุนด้วย แต่จะเอาต้นทุนทั้งหมดมาใช้ 100% คงไม่ได้ ต้องมีอะไรบางอย่างที่ต้องทำเพิ่มเติม
นายวิษณุกล่าวต่อถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวว่า ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ทุกอย่างจะต้องจบภายในชั้นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจำนวน 2 ชุด ที่มีกระทรวงพาณิชย์ กับกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบ เสร็จแล้วจะส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อ่าน ต่อจากนั้นส่งไปให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาว่าต้องเรียกค่าเสียหายเท่าไหร่ และสั่งออกมา ซึ่งการใช้วิธีนี้ปกติผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ยอมและไปฟ้องกลับรัฐบาลต่อศาลปกครองใน 30 วัน เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น แทนที่รัฐจะเป็นโจทก์จะกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาเป็นโจทก์เอง แต่ถ้าเขาไม่ฟ้องกลับเราก็ยึดทรัพย์ตามจำนวนที่คณะกรรมการฯ สรุปมา ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าวเคยใช้มาแล้วสมัยนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีก่อให้เกิดความเสียหายจากการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ในการปกป้องค่าเงินบาทในช่วงระหว่างปี 2539-2540 และคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.
ส่วนที่มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการฯ สรุปตัวเลขว่าจะเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 5 แสนล้านบาท และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก 1 หมื่นล้านบาทนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตัวเลขเสร็จแล้ว แต่ไม่ขอตอบว่าจำนวนเท่าไหร่ เอาเป็นว่าข่าวที่ออกมาตัวเลขไม่ตรง