xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” รับนายกฯ เร่งออก กม. ช้าโทษใครไม่ได้ เมินเลิกอัยการศึก ส่อปรับองค์กรอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
“รองนายกฯ วิษณุ” เผยผลถก 5 ฝ่ายวานนี้ นายกฯ สั่งเร่งออก กม.300 ฉบับ ชี้อยู่ที่เจ้ากระทรวงต้องเร่งชง ครม.เห็นชอบ ดักไม่ทันช้าเองโทษใครไม่ได้ ย้ำ สปช.ปฏิรูปอะไรต้องออก กม. อย่าเพ้อไปเรื่อย และทำไปไม่ต้องรอรัฐ อย่าช้าซ้ำรอยปี 50 เผย กมธ.ยกร่างฯ แจง ปชช.ทุกสัปดาห์ ลั่นให้เลิกอัยการศึกทำไม่ได้ เหตุไม่ได้เป็นอุปสรรค ไร้ปัญหาหากจะให้ทำประชามติ ชี้คงไม่ร่าง รธน.ไปเจอปัญหาเก่า รับส่อปรับปรุงองค์กรอิสระ

วันนี้ (19 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการหารือของ 5 ฝ่ายที่บ้านเกษะโกมลเมื่อวานนี้ ที่นายกฯให้เร่งรัดการออกกฎหมาย 300 ฉบับว่า นายกฯ ให้ดูกฎหมายที่ขณะนี้ยังค้างอยู่ที่ต้นทางคือที่กระทรวงทั้ง 20 กระทรวงกำลังทำอยู่ขณะนี้ประมาณ 130 ฉบับ จะเสร็จและส่งมาเมื่อไหร่ไม่รู้ และอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาที่กำลังตรวจอยู่อีกประมาณ 30 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีที่ปลายทาง คือ ส่งเข้าสภานิติบัญญัติไปแล้วประมาณ 70 ฉบับ ซึ่งก็มีทั้งที่พิจารณาไปแล้ว ออกไปแล้วบ้าง และยังพิจารณาไม่เสร็จก็มี ดังนั้นรวมทั้งหมดแล้วก็ประมาณ 300 ฉบับ ทั้งหมดนี้จะได้ตามฝันหรือไม่ยังไม่ทราบ ซึ่งอยู่ที่เจ้ากระทรวงของกฎหมายนั้นๆ ต้องเร่งส่งมาให้ ครม.เห็นชอบ และสุดท้ายต้องส่งไปที่คณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจ ซึ่งถ้าตรวจแล้วใช้เวลานานจนสภาไม่อยู่แล้วมันก็ไม่ทันก็มี ก็คงโทษใครไม่ได้ เพราะเราทำช้าเอง

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า นายกฯ กำชับการออกกฎหมายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วยว่าเวลาจะปฏิรูปอะไรก็ต้องมีการออกกฎหมาย ไม่ใช่เพ้อไปเรื่อยแล้วไม่มีกฎหมายอะไร ทั้งนี้ได้แจ้งกันไปแล้วว่าถ้า สปช.ทำอะไรได้ก็ทำ ไม่ต้องมารอรัฐบาลเพราะเดี๋ยวทำแล้วไม่ตรงกันก็จะยุ่ง ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปก็คงจะมาหลายสิบฉบับเช่นกัน และเมื่อมารวมกับที่รัฐบาลทำก็เป็นร้อยฉบับอย่างที่บอกไป ส่วนกฎหมายลูก เป็นเรื่องที่ทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทำ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเขาเขียนว่าอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. บอกว่าไม่ต้องรีบเขียนเดี๋ยวจะเสียของนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ความหมายของนายมีชัยหมายถึงรัฐธรรมนูญจะยกร่างเสร็จประมาณเดือนสิงหาคมหรือกันยายน และอีกประมาณ 3 เดือนถึงจะมีการเลือกตั้งเพราะต้องทำกฎหมายลูกให้เสร็จ นายมีชัยจึงบอกว่าถ้าตั้งใจแบบนี้ก็ได้ แต่อย่าไปผูกมัดอะไร เพราะคำว่ากฎหมายลูก 3 เดือนเสร็จนั้นหมายถึงกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมาย กกต. แต่กฎหมายลูกอื่นๆ ยังมีอีกเยอะ ซึ่งประสบการณ์เมื่อปี 50 บอกเราแล้วว่ามีกฎหมายลูกที่จะต้องออกประมาณ 20-30 ฉบับ และกำหนดไว้เลยว่าจะต้องเสร็จภายใน 1 ปี หรือ 2 ปี แต่สุดท้ายได้ออกแค่ 3 ฉบับ ผ่านไป 7 ปีจนถึงวันที่ยึดอำนาจวันสุดท้าย กฎหมายลูกอีก 20 ฉบับไม่ได้ออกมาเลย เพราะฉะนั้นกฎหมายลูกถ้าคิดว่าอะไรสำคัญก็ทำให้เสร็จก่อนที่จะไปเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นอย่าหวังว่ารัฐบาลที่เขาเลือกตั้งเข้ามาจะมาทำต่อ

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แจ้งแล้วว่าจะมีการรายงานความคืบหน้าการยกร่างต่อสาธารณชนทุกสัปดาห์ เพราะฉะนั้นสาธารณชนจะรับทราบได้ ทาง คสช.เองก็จะได้รับทุกสัปดาห์จะได้มาคุยกันว่าจะเสนอแนะอะไรเข้าไปอีกบ้างหรือไม่ ส่วนข้อเสนออื่นๆ ที่เสนอมาก็ทำได้เพียงแต่ขอให้คำนึงถึงขอบเขตอันจำกัดที่มีอยู่ก็แล้วกัน แต่บางข้อเสนอที่ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น มันคนละเรื่องและคงไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ แต่ถ้าติดขัดอย่างไรก็โอเค ในอนาคตยังมีเวลาที่จะคุยกัน เมื่อถามว่าส่วนใหญ่จะห่วงการที่มารวมตัวกัน ชุมนุมกันและอาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ นายวิษณุกล่าวว่า ก็มีสิทธิ์ห่วงได้ ซึ่งก็สามารถใช้วิธีอื่นปกติทำได้ และก็เรียบร้อยดี แล้วทำไมจะต้องมาเลือกช่องทางที่เสี่ยงต่อความไม่เรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวถามถึงการทำประชามติ หลายฝ่ายเห็นด้วยอยากให้ทำ นายวิษณุกล่าวว่า ความจริงเรื่องนี้ไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วย และในรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำประชามติ แต่ถ้าจำเป็นต้องทำก็ไม่มีอะไรขัดข้องเพราะในรัฐธรรมนูญได้มีการเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การทำประชามติหรือทำอย่างอื่นก็ได้ด้วยซ้ำไป ดังนั้นเมื่อร่างไปถึงจุดหนึ่ง และคิดว่ามีความจำเป็น สังคมเรียกร้องต้องการและคิดว่ามีประโยชน์ก็ทำได้ ที่เขาไม่ได้เขียนใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญเพราะอาจจะมีคนมองได้ว่าต้องการยืดเวลาของรัฐบาลใช่หรือไม่ เพราะการทำประชามติต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน และทำกฎหมายลูกอีก 3 เดือน รวมแล้วต้องเลยไปอีก 6 เดือนกว่าจะมีการเลือกตั้ง จึงไม่เขียนเอาไว้เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็นการเมือง และยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณอีกประมาณ 3 พันล้านบาท ถ้าคุ้มก็ไม่น่าเสียดาย แต่ก็อาจมีคนหยิบไปเป็นประเด็นอีกว่าทำให้เสียเวลาและเสียงบประมาณ หรือถ้าล้มไปก็ทำให้เสียของอีก อย่างไรก็ตาม การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทุกคนรู้ปัญหาเก่าดีกว่าที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้าง ดังนั้นก็คงไม่ร่างแบบกลับไปปัญหาเก่าอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง หากไม่ยกเลิกจะมีการปรับปรุงรูปแบบของอำนาจหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็มีความคิด ซึ่งตนไม่ควรพูดอะไร แต่คนร่างรัฐธรรมนูญเขาก็คงมีความคิดอยู่ เพราะเราได้กำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าให้เขาทบทวนความจำเป็นของการมีองค์กรต่างๆ ก็เป็นการฝากให้กรรมาธิการยกร่างฯ ได้คิดตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเคยมีแล้วจะต้องมีต่อไป มีต่อก็ได้แต่อาจจะต้องเปลี่ยนองค์ประกอบ เปลี่ยนอำนาจ เปลี่ยนหน้าที่ หรืออย่างกรณี กกต.ซึ่งตนเคยพูดว่า กกต.ก็จำเป็นต้องมี แต่จะมีแบบที่เคยมีหรือไม่ จะเป็นลักษณะออกระเบียบ หรือลักษณะจัดการเลือกตั้ง หรือลักษณะคนตัดสินคือแจกใบเหลืองใบแดงด้วย องค์กรเดียวควรจะมีอำนาจทั้งสามอย่างหรือไม่ หรือจะแบ่งอำนาจเป็นแต่ละหน่วยๆไป สิ่งเหล่านี้กรรมาธิการฯ ยกร่างก็ต้องเอาไปคิดด้วย

“องค์กรอิสระที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าเขาจะเหลิงอำนาจกัน แต่เราไปให้อำนาจเขาเอง พอให้อำนาจเขาก็ต้องใช้ เพราะถ้าไม่ใช้ก็จะมีคนบอกว่าเสียของอีก เพราะฉะนั้นถ้าไม่คิดว่าจะต้องทำอย่างนั้นก็ไม่ควรจะไปให้อำนาจเขาตั้งแต่แรก” รองนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในวงหารือ 5 ฝ่ายหารือเรื่องกฎอัยการศึกอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า มีการพูดกันนิดหน่อยว่าเป็นอุปสรรคหรือไม่ ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคเลย ทุกอย่างก็ยังคงดำเนินไปได้ปกติ และทาง คสช.ก็รับจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น