xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” เคาะ 1 ธ.ค.ตรวจการบ้าน อนุ กมธ.กรอบจัดทำรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ปธ.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นัดตรวจการบ้าน 10 กรอบ 1 ธ.ค. พร้อมสั่ง กมธ. ยกร่าง กม. ลูกคู่ขนาน ขณะที่ กมธ. วิสามัญรับฟังความเห็นตั้ง 3 วิธีรับฟังความเห็นหวังผลเต็มร้อย มอบ “พลเดช” วางหลักเกณฑ์รูปแบบอนุ กมธ.จว. ด้าน “เทียนฉาย” ออกประกาศกำหนด 5 รอบ สปช. ต้องแสดงตนตามรธน.

วันนี้ (19 พ.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับให้เร่งทำงานโดยเฉพาะการพิจารณากฎหมาย ที่เกี่ยวกับปฏิรูประเทศว่า ยังไม่ได้กำหนด ว่า จะหารือกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดแนวทางหรือปรับแนวทางใดๆ หรือไม่ แต่ในวันที่ 1 ธ.ค. นี้ จะมีการติดตามงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ประเด็น

ด้าน นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ภายหลังจากจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จมีเวลาประมาณ 6 เดือนในการจัดทำกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ใช้เป็นกติกาเพื่อการเลือกตั้ง แต่เพื่อให้การทำงานเสร็จได้ตามเวลา ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้แนวทางไว้ว่า ระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญคณะที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายลูกจะต้องทำงานคู่ขนานกันไปทั้งนำกฎหมายลูกฉบับเก่ามาพิจารณาประกอบ เพื่อแก้ไข หรือยกร่างใหม่ โดยการทำควบคู่ไปจะเกิดผลดี เพราะสามารถนำภาคปฏิบัติมาเขียนกฎหมายที่สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากเดิมที่ต้องรอรัฐธรรมนูญยกร่างเสร็จก่อนแล้วถึงขั้นตอนทำกฎหมายลูก

“สำหรับกฎหมายลูกที่จำเป็น คือกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง ผมมองว่าสามารถนำฉบับเก่ามาพิจารณา และอาจปรับปรุงสาระไม่มากนักเพราะฉบับเดิมนั้นมีบทบัญญัติที่ดีอยู่แล้วแต่ปัญหาสำคัญคือจะนำบทบัญญัติที่มีมาใช้ให้เกิดความเป็นรูปธรรมอย่างไร” นายเจษฎ์ กล่าว

ด้าน นายประชา เตรัตน์ สปช. ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญการรับการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น กล่าวภายหลังการประชุมครั้งที่ 1 ว่า ประเด็นในที่ประชุมวันนี้มีการพูดถึงจะดำเนินการอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการปฏิรูปประเทศและการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด โดยเห็นว่ากระบวนการที่สำคัญ ที่ต้องออกแบบหวังผลให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็น 3 วิธี คือ 1. ใช้กระบวนการทางวิชาการ เลือกกลุ่มตัวแทนจากภาคประชาชน ที่จะมาแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือ 2. ใช้การเติมเต็มข้อมูล คือ โดยก่อนหน้านี้ได้มีข้อมูลการรับฟังความคิดเห็น จากหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนที่เหลือจะเอาข้อมูลจากประชาชนมาเติมเต็มให้สมบูรณ์ 3. การทำให้ประชาชนมีความรู้สึกในการมีส่วนรวมมากที่สุด โดยจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการระดับจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย สมาชิก สปช. จังหวัด ทำหน้าที่เป็นประธานอนุ กมธ. ส่วนที่เหลือจะเลือกจากผู้ที่เคยสมัคร สปช. และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นเลขานุการ รวมถึงหน่วยงานข้าราชการระดับจังหวัด อาทิ กอ.รมน. ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอนุ กมธ. อย่างไรก็ตาม จะมีการนัดประชุมกำหนดแผนงานและรับรองการตั้งอนุกมธ.จังหวัดอีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย. นี้

“กมธ. การมีส่วนร่วมฯ จะทำงานกว้างกว่ากมธ.ยกร่างฯ รัฐธรรมนูญ เพราะต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชนในการปฏิรูป ทั้ง 18 ด้าน หรืออาจมากกว่านั้น การรับฟังนี้จะไม่ใช่เวทีร้องเรียน แต่จะเป็นเวทีที่ให้ทุกคนมองถึงอนาคต ว่าต้องการปฏิรูปประเทศอย่างไรบ้าง” นายประชา กล่าว

ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 เปิดเผยถึงผลการประชุม กมธ. ต่อประเด็นการพิจารณาตั้งคณะอนุกมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมฯ ประจำจังหวัด ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ว่าจะตั้งอนุ กมธ. เป็นรายจังหวัดหรือรายภาค โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ตนไปพิจารณาหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวรวมถึงออกแบบรูปแบบการตั้งอนุ กมธ. ส่วนประจำจังหวัด การใช้งบประมาณ รูปแบบเวทีอีกครั้ง และกลับมานำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ ประธาน สปช. แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า การตั้งอนุ กมธ. ประจำจังหวัดต้องเป็นคณะทำงานชุดเล็กๆ มีสมาชิกไม่เกิน 10 คน ดังนั้น ที่ต้องพิจารณาต่อคือบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่จะประกอบด้วยภาคส่วนใด และคำนึงถึงสถานการณ์พิเศษในพื้นที่ เบื้องต้นแนวทางที่ตนคิดไว้ คือ จะให้ สปช. จังหวัดเป็นประธานอนุ กมธ. และมีหน่วยงานราชการในพื้นที่ สถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคมเข้าร่วมทำงาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด, กอ.รมน. ประจำจังหวัดที่เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น ถ้าใช้โครงสร้างดังกล่าวจะหมดกังวลเรื่องการขัดต่อกฎอัยการศึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ออกประกาศ สปช. เรื่องวันเริ่มต้นและวันสิ้นของแต่ละรอบระยะเวลา 90 วันของการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามข้อบังคับการประชุม สปช. พ.ศ. 2557 ข้อที่ 78 ที่กำหนดให้สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาตามข้อ 65 เกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมด ในรอบระยะเวลา 90วันให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 29 ประกอบมาตรา 9 (5) ของ รัฐธรรมนูญ โดยรอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 57 - 1 ก.พ. 58 รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 58 - 2 พ.ค. 58 รอบที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 58 - 31 ก.ค. 58 รอบที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 58- วันที่ 29 ต.ค. 58 และรอบที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 58-27 ม.ค. 59


กำลังโหลดความคิดเห็น