xs
xsm
sm
md
lg

"เต้น"ซัด"เทือก"เชลียร์ประยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เทือก" หนุน "บิ๊กป้อม" ที่ออกมาเตือน "แม้ว" ให้หยุดเคลื่อนไหว ติงพรรคการเมืองอย่าเพิ่งโวย ทั้งที่ยังไม่มี รธน.กฎหมายลูก พร้อมไฟเขียว "อรรถวิชช์" เข้าร่วม สปท. ด้าน "ณัฐวุฒิ" อัดชวนคนหนุน "ประยุทธ์" แสดงตัวเป็นพวกจนเกินเลย ส่วน "นพดล" แขวะใครเป็น กรธ. ก็ต้องเขียน รธน.ตามใบสั่ง

เมื่อเวลา 11.00 น.วานนี้ (27ก.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวว่า ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หยุดการเคลื่อนไหว ว่า ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่พล.อ.ประวิตร พูดนั้นถูกต้อง เพราะว่าทุกฝ่ายควรจะหยุดและรอให้ถึงเวลาก่อนค่อยออกมาแถลง ในวันนี้ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำงานก่อน ซึ่งเวลานี้มีแต่เตะหน้า เตะหลัง พอเขาล้ม เขาก็ทำงานยากยิ่งขึ้น หรือคิดจะเขียนรัฐธรรมนูญ หรือเขียนกฎหมาย ก็ออกก็ออกมาวิจารณ์ พูดไปเรื่อย ทำให้สังคมไขว้เขว และหากนายทักษิณยังมีการเคลื่อนไหว ไปพบคนนั้นคนนี้ ก็จะยิ่งหนัก ดังนั้นการที่พล.อ.ประวิตร ออกมาเตือนก็ถูกต้องแล้ว เวลานี้ต้องอดทนกันหน่อย

"ผมขอพูดในสายตาประชาชน คือ อยากเห็นรัฐบาลทำอะไรที่เร็วกว่าเวลานี้ แต่ก็เข้าใจว่ารัฐบาลเขาก็ต้องว่าไปตามตัวบทกฎหมาย การที่จะเอาน้องสาวไปเข้ากระบวนการทางยุติธรรม หรือการที่จะเอาลูกชายใครไปเข้ากระบวนการยุติธรรม ก็ว่ากันไปตามกระบวนการในกฎหมาย ถ้ากฏหมายบอกต้องทำ ก็ต้องทำ อย่างผมเจอข้อหาร้ายแรง ผมไม่เห็นออกมาโวยวายอะไรเลย สู้คดีกันไป ไม่หนี ไม่เรียกร้องอะไรด้วย" นายสุเทพ กล่าว

** พรรคการเมืองควรรอฟังกติกาก่อนโวย

นายสุเทพ ยังกล่าวถึง กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวถึงกำหนดการ ช่วงระยะเวลากรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองต่างๆ ว่า ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานานั้น เป็นเพราะหลายคนอาจจะฟังมาไม่จบ และจากการที่ตนติดตามข่าว เห็นว่านายวิษณุ พยายามที่จะชี้แจงว่า ที่พูดถึงห้วงระยะเวลา ตามโรดแมป แต่ก็มีบางคนออกมาท้วงว่า เวลาน่าจะสั้นลงได้อีกนั้น ซึ่งนายวิษณุ ก็กล่าวว่า ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดกติกาใหญ่มาแล้วเวลาไปทำกฎหมายลูก ในแต่ละเรื่องมันมีรายละเอียดอย่างไร เช่น ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ และจะต้องไปเขียนกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ และสมมุติว่า แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในวันนี้ อย่างนี้มันก็ต้องให้เวลาพรรคการเมืองทั้งหลายเขาไปเตรียมตัวไปทำตัวเองให้มีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ กำหนดเอาไว้

ทั้งนี้ หากว่าจะต้องมีกฎเกณฑ์กติกาที่ว่า ให้พรรคการเมืองในอนาคตต้องเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค โดยกฎหมายพรรคการเมือง ก็ต้องไปกำหนดว่า จำนวนประชาชนเท่าไร จึงจะสามารถรวมตัวกันเป็นเจ้าของพรรคได้ และถ้าจำนวนเจ้าของพรรคการเมืองเขียนไว้ หากสมมุติ ว่าจะต้องมี 8 แสน ถึง 1 ล้านคน พรรคการเมืองก็ต้องใช้เวลาในการไปรวบรวม กว่าจะได้ครบตามจำนวน ซึ่งทำไม่ได้ภายใน1-2 เดือน แน่ โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่ กับพรรคเก่าๆ อาจจะมีเครือข่ายและง่ายต่อการทำ ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม จุดนี้เอง นายวิษณุ ถึงได้บอกว่ามันจำเป็นต้องใช้เวลา แต่หลายคนไปเข้าใจว่านายวิษณุ เสนอยุบพรรคการเมือง ดังนั้นหากมีกฎหมายพรรคการเมืองออกมาใหม่ และมีการกำหนดกติกาว่าพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนอย่างไร ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องไปทำ

เมื่อถามว่า มีบางพรรคออกมากล่าวถึงสิ่งที่ นายวิษณุ ออกมากล่าว จะทำให้มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือพรรคเฉพาะกิจเกิดขึ้นมากมาย ส่วนพรรคที่มีอายุยาวนาน ก็อาจจะเสียความเป็นพรรคเก่าแก่ โดยนายสุเทพ กล่าวว่าทำไมต้องไปวิจารณ์ก่อน เพราะกฎหมายพรรคการเมืองก็ยังไม่ออกมาเลย รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้ร่าง ในเวลานี้หลายคนกลัวอะไรไปล่วงหน้าทุกอย่าง

เมื่อถามต่อว่า แต่ก็มีเสียงสะท้อนถามไปยังนายวิษณุว่า ทำไม นายวิษณุไม่รอให้รัฐธรรมนูญออกมาก่อนแล้วจึงมาพูด นายสุเทพ กล่าวว่านายวิษณุ จำเป็นต้องอธิบายไปก่อนว่ารัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาเท่าไร และเมื่อทำรัฐธรรมนูญเสร็จ เราจะต้องมาทำกฎหมายลูกอีกกี่ฉบับต้องใช้เวลาอีกเท่าไร เขามีหน้าที่ที่จะต้องอธิบายก็ต้องพูด นักการเมืองจะพูดฝ่ายเดียวเหรอ เห็นพูดกันทุกวันพวกนักการเมือง

เมื่อถามว่า การที่นายวิษณุ ออกมาพูดในเรื่องต่างๆ ดูจะเป็นธงในการร่างรัฐธรรมนูญตามที่คสช. หรือรัฐบาลต้องการ โดยเฉพาะกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ก่อนทำงานควรไปถามความต้องการของรัฐบาลหรือ คสช.ก่อนไหม นายสุเทพ กล่าวว่า พวกนักการเมืองไม่อยากให้คนอื่นร่างรัฐธรรมนูญใช่ไหม เขาเชิญไปช่วยร่าง ก็ไม่ไป ตัวเองร่างมาก็ไม่ได้เรื่อง พอเกิดปัญหา กีดกันเขาไปหมด คนที่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญเขาไม่ได้ร่างเพื่อนักการเมือง แต่เขาเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อประเทศและประชาชนคนไทย โดยสาเหตุที่พวกตนออกมาเรียกร้อง ให้มีการปฎิรูป ก็เพราะที่ผ่านมามีพรรคการเมืองนักการเมืองอย่างที่เห็นๆ เราถึงได้กังวลใจว่า ประเทศจะลำบาก มุมมองนี้จะต้องทีความแตกต่างกันๆไม่เหมือนกัน ระหว่างพรรคการเมืองนักการเมือง ประชาชนธรรมดาหรือ กับคสช. เป็นเรื่องปกติ ที่ออกมาพูดไม่ได้หมายความว่าไม่ปรองดองหรือมีความคิดแตกแยก

"เรื่องรัฐธรรมนูญ กับคสช.เอง เขาก็น่ารักนะ เขายึดอำนาจมา เขามีอำนาจคนเดียวในประเทศไทย ความจริงเขาจะนั่งเขียนรธน.คนเดียวก็ได้ เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีคณะปฏิวัติเขียนแล้วซ่อนไว้ใต้ตุ่ม แต่เวลานี้ เขาเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทุกคนมานั่งร่วมเขียนด้วยกัน ทุกคนก็ต้องมาช่วยกัน" นายสุเทพ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากทุกพรรคการเมืองต้องมาจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ พรรคการเมืองพรรคใหญ่ จะต้องทำอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า หากตนพูดไปก็อาจจะถูกตำหนิ เพราะกฎหมายพรรคการเมืองยังไม่ออกมา แต่ก็ขอสมมุติ เมื่อเขากำหนดกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา มาอย่างไร พรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์กติกา ซึ่งอาจจะเท่ากับเป็นการนับหนึ่งใหม่ พรรคการเมืองอาจจะไม่มีใครชอบ อาจจะพอใจกับสภาพความเป็นอยู่อยู่แล้ว แต่ประชาชนเองยังคงกังวลใจ

เมื่อถามต่อว่า หากพรรคการเมืองหลายพรรคไม่ให้ความร่วมมือ ก็เท่ากับไม่ต้องการที่จะปฏิรูปการเมือง นายสุเทพ กล่าวว่า ส่วนนั้นไม่ใช่ปัญหา ขอให้รัฐธรรมนูญเขียนมาว่าให้เป็นการปฏิรูปพรรคการเมืองก็ต้องทำ หากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ประกาศว่า ไม่เอา ไม่ทำ ก็จะมีพรรคอื่นทำ ที่ผ่านมาในอดีตเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ก็จะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทำให้ประชาชนมีทางเลือกส่วนพรรคต่างๆ จะต้องปฏิรูปพรรคการเมืองก่อนมีกฎหมายพรรคการเมืองออกมาหรือไม่ ตนไม่ขอออกมาความเห็น

** ไฟเขียว "อรรถวิชช์" เข้าร่วม สปท.

นายสุเทพ ยังกล่าวถึงกรณี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเป็นตัวแทนของกปปส. ไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ว่า ทางมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ เปิดกว้างในเรื่องดังกล่าว เพราะเรามีสมาชิกมากมาย มีทุกระดับตั้งแต่ศาสตราจารย์ นายพล พลเอก พลโท จนถึงระดับชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา โดยเราบอกเพียงว่า กปปส. สนับสนุนแนวความคิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เปิดกว้างให้ทุกคนไปช่วยประเทศชาติ โดยเราจะไม่ทำเหมือนคนอื่นที่ห้ามไม่ให้ไป ส่วนใครอยากสมัครใจไป หรือหรือ คสช. จะดึงใครใน กปปส.ไป สามารถมาเอาไปเลย แต่สำหรับตนแล้ว คงไม่สะดวกที่จะไป เพราะมีงานอื่นที่ต้องทำ ไม่ได้รังเกียจแต่อย่างใด

เมื่อถามว่ามีข่าวว่า นายอรรถวิชช์ จะไปร่วมงานกับ สปท. ในนาม กปปส. นายสุเทพ กล่าวว่า ก็ได้ทั้งนั้น และคงไม่เกี่ยวกับกรณีมีนายอรรถวิชช์ เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าไม่น่าเป็นปัญหา เป็นเรื่องภายในของเขา ส่วนใครจะไปแล้วอ้างไปในนาม กปปส. ก็สามารถทำได้ทุกคน

**อัด "เทือก" หนุน "บิ๊กตู่" ออกนอกหน้า

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะต้องแสดงตัวเป็นพวกเดียวกับคสช. เพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันอำนาจ โดยนายสุเทพ พยายามส่งสัญญาณมาตลอดหลังรัฐประหาร แต่การอธิบายแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบผิดๆ และเชิญชวนคนไทยให้มีหน้าที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ถือว่าเกินเลยไปมาก เพราะโดยหลักการ ประชาชนมีหน้าที่ปกป้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่สนับสนุนรัฐประหาร

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนการสรุปท่าทีของต่างชาติว่า ให้ความสำคัญแค่รูปแบบ ไม่สนใจความจริงในประเทศไทยนั้น ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะเท่าที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักการทูตหลายประเทศ พบว่าเขาเข้าใจสถานการณ์อย่างลึกซึ้งโดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายไหน สังคมที่มีการรณรงค์สนับสนุนรัฐประหาร จึงหมายถึงการสารภาพต่อโลกว่า กำลังมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติเลวร้ายลงไปอีก การเรียกร้องประชาธิปไตยต่างหาก คือการยืนยันว่าอนาคตของประเทศจะสอดคล้องกับกระแสหลักของสังคมโลก

"แม้ประชาธิปไตยควรพร้อมทั้งรูปแบบ และเนื้อหา แต่พื้นฐานที่ต้องยอมรับคือถ้ารูปแบบไม่ใช่ สาระย่อมเข้มแข็งไม่ได้ ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยรูปแบบที่เป็นเผด็จการนั้น ย่อมไม่เกิดเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย" นายณัฐวุฒิ กล่าว

**เชื่อ กรธ.ก็ต้องเขียน รธน.ตามพิมพ์เขียว

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจับตา และสนใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯมากกว่าตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธาน และคณะกรรมการร่างฯ เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ร่าง ก็คงต้องร่างตามแนวทางที่มีอยู่ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าผู้ร่างจะทำหน้าที่เหมือนสถาปนิกที่จะมาออกแบบบ้าน หรือจะทำหน้าที่เป็นเพียงวิศวกรที่สร้างบ้านตามแบบที่สถาปนิกได้ออกแบบไว้แล้ว

ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายติดตามเนื้อหาสาระและกระบวนการร่างกติกาสูงสุดของประเทศ โดยเนื้อหานั้นไม่ควรมีความเป็นประชาธิปไตยด้อยไปกว่ารัฐธรรมนูญในอดีตหลายฉบับเช่น ฉบับปี 40 และควรมีมาตรฐานเป็นสากล ส่วนกระบวนการนั้น รัฐบาลและผู้ร่างควรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสให้ถกเถียงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด เนื่องจากการรับฟังความเห็นของประชาชนให้มากขึ้นจะสามารถเยียวยาและแก้ไขข้อจำกัดของกระบวนการร่างที่มีอยู่ได้ในระดับหนึ่ง

"ไทยได้พัฒนากฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายธุรกิจก้าวหน้าไปมาก และได้สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติว่า เรามีกฎหมายที่ทันสมัย ส่วนรัฐธรรมนูญเป็นหัวใจ และเป็นสัญญาประชาคมที่จะใช้บังคับกับทุกฝ่ายทุกคนทั้งประเทศ ดังนั้น ยิ่งต้องก้าวหน้าและทันสมัยมากกว่ากฎหมายลำดับรองอื่นๆ ส่วนตัวชี้วัดมาตรฐานของรัฐธรรมนูญก็มีอยู่แล้ว และเมื่อร่างเสร็จประชาชนจะรู้ได้ไม่ยากว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ ถ้าร่างออกมาดีโอกาสที่จะผ่านประชามติก็จะมีมากขึ้นและประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปได้" นายนพดล กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น