xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ย้ำหลักการใช้ยาแรงปราบโกง เมินพท.ไม่ร่วมสังฆกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (12ธ.ค.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.ส่งหนังสือเชิญพรรคการเมือง มาร่วมเเสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ ว่า ทราบว่ามีผู้ตอบรับเข้าร่วมเยอะ เพราะมีผลกระทบกับพรรคการเมือง แต่ยังไม่ทราบเเน่ชัดว่ามีพรรคใดบ้าง ส่วนที่พรรคเพื่อไทย ประกาศไม่มาร่วมนั้น ใครไม่ร่วม เราไม่สนใจ เราทำใจเเล้ว ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เเค่คอยต่อว่า เเต่ต้องใช้เหตุผล ตีกันเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องจูงมือไปด้วยกัน หมดยุคทะเลาะเบาะเเว้งเเล้ว ไม่เห็นด้วยกับเรื่องไหน ก็น่าจะเข้ามาบอกเหตุผลการคัดค้าน ว่าจะเกิดผลร้ายต่อประชาธิปไตยอย่างไร
ส่วนกรณีพรรคการเมือง วิจารณ์ เรื่องการกำหนดจัดตั้งสาขาพรรค การจ่ายเงินบำรุงพรรค ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น ตนไม่เข้าใจเหมือนกัน คนมีอุดมการณ์เดียวกัน ต้องส่งเสริมให้มีส่วนร่วม รวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้มิใช่หรือ
" เงิน 100 บาท จะว่ามาก ก็มาก จะว่าน้อยก็น้อย เชื่อว่าพรรคเก่าๆ ไม่มีปัญหา เขากันเงินที่มีอยู่เดิมมาเป็นทุนประเดิมได้ ขนาดเบียร์ 3 ขวดร้อยกว่าบาท ยังซื้อกินได้ จะทำการเมืองเเล้วยังบ่น สละเงินร้อยกว่าบาทไม่ได้ ผมว่าชีวิตอยู่ยากเเล้ว เรากำลังร่วมทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ไม่ต้องการให้ใครกว้านซื้อชื่อคนมารับเงินกองทุนจาก กกต. เหมือนในอดีต หัวใจหลักของกม.พรรคการเมือง คือ โปร่งใส มีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ ไม่ให้ใครทำไม่ดีเหมือนในอดีต "
เมื่อถามว่า นักการเมืองบ่นเรื่องกำหนดยาเเรง เช่น กรรมการบริหารพรรคอาจต้องพ้นตำแหน่ง และถูกเเบน กรณีสมาชิกพรรค หรือผู้มีตำแหน่งในพรรคเกี่ยวข้องกับการโกงเลือกตั้ง นายปกรณ์ กล่าวว่า หลักการกำหนดโทษคือ ใครผิด คนนั้นรับโทษไป ไม่มีขายเหมา ยุบพรรคเหมือนก่อน ถ้าทำผิดเเบบที่เราห้าม เเล้วรู้ว่าผิดโดยฝืนทำ รู้เห็นเป็นใจ ยังควรให้ยุ่งการเมืองอีกหรือ หลักง่ายๆ คือ อย่าทำผิด ถ้าไม่ทำผิด ก็ไม่เห็นต้องกลัว เรากำหนดให้ส่งศาลเป็นผู้วินิจฉัยด้วย เพื่อความยุติธรรม โทษประหาร มาจากการซื้อขายตำแหน่ง ถ้าศาลเห็นว่ารุนเเรง ปล่อยเอาไว้ไม่ได้ ก็โดน ในประมวลกฎหมายอาญาก็มีกำหนดโทษลักษณะนี้ และเอาไว้ใช้กับข้าราชการ ที่ผ่านมาไม่เห็นมีใครบ่น แล้วนักการเมืองมาบ่นทำไม คุณเรียกร้องให้ข้าราชการปฏิรูป โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เห็นต้องเหนียมอาย จะเรียกร้องคนอื่นต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน ว่าด้วยเหตุผล ไม่ใช่โกรธเคือง ถ้าคนบริหารพรรคทำผิด รู้กัน ปล่อยปะละเลย ไม่ระงับยับยั้ง จะมาบ่นเรื่องยาเเรงอีก อยากให้ประชาชนดูจับตาเอาไว้ สิ่งที่นักการเมืองพูด เหมาะสมหรือไม่ ประชาชนชอบให้มีการทุจริตไหม ถ้าชอบ ก็ไม่ต้องเอากติกาเเรงเเบบนี้

** ชี้พรรคทางเลือกเกิดยาก

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ท้วงติงเนื้อหาบางส่วนของ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นการท้วงติงเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง และทำเพื่อตัวเองว่า การวิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ทำเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์แต่อย่างใด เราอยากเห็นกฎหมายพรรคการเมืองมีส่วนทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ถูกครอบงำ หรือชี้นำโดยบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองและนายทุนพรรค จึงอยากฝากให้ กรธ. คำนึงแนวทางในการร่างกฎหมายพรรคการเมือง 4 ประการ คือ
1.คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ 2. ระมัดระวังการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาแทนปัญหาเก่า 3. ระมัดระวังเรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 4. ส่งเสริมการสร้างพรรคมวลชนเชิงอุดมการณ์
นายองอาจ ยังกล่าวถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีข้อจำกัดมากขึ้น และมีเงื่อนไขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นว่า อาจมีส่วนทำให้คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยากตั้งพรรคทางเลือก เช่น พรรคกรีน พรรคสิ่งแวดล้อม พรรคคุ้มครองผู้บริโภค มีโอกาสตั้งพรรคยากขึ้น เพราะต้องใช้คนเริ่มต้นตั้งพรรค 500 คน ต้องหาสมาชิกให้ได้ 500 คนภายใน 1 ปี และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน ภายใน 4 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้ากฎหมายออกมาจริง เราน่าจะปฏิบัติได้ แต่พรรคทางเลือกคงเกิดยาก จึงอยากฝากให้กรธ.คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย

**"ไพบูลย์" ชม กม.ลูกดีมาก

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และเห็นว่าเป็น พ.ร.ป.ที่ดีมาก เพราะและจะทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันระดับชาติ ทำให้สมาชิกพรรคการเมือง มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพรรคการเมือง ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า พรรคประชาชนปฏิรูป จะสามารถปฏิบัติตามที่ พ.ร.ป.ฉบับนี้กำหนดได้ โดยเฉพาะในหลักการที่กำหนดว่า ภายใน 1 ปี พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกขั้นต่ำ 5,000 คน และภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกขั้นต่ำ 20,000 คน พร้อมทั้งจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองขั้นต่ำรายปี ปีละ 100 บาท ถ้าต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันระดับชาติ ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักการขั้นพื้นฐานเหล่านี้ให้ได้
อย่างไรก็ตาม ตนคงไม่ไปร่วมเวทีเพื่อรับฟังความเห็น ซึ่งจัดโดยกรธ.ในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ แต่ตนเห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือ งก็มีสิ่งที่ตนยังอยากจะทักท้วง คือ เรื่องของทุนประเดิมก่อตั้งพรรค ซึ่งจากเดิม พ.ร.ป.กำหนดว่า สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคแต่ละคนต้องต้องจ่ายเงินประเดิมก่อตั้งพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ตนอยากจะให้ลดลงเป็นไม่ต่ำกว่าคนละ 1,000 บาท และจำนวนเงินทุนประเดิมพรรคขั้นสูงสุดที่ระบุว่า ไม่ควรเกิน 500,000 บาทต่อคนนั้น ตนอยากจะให้ลดลงเหลือไม่ต่ำกว่าคนละ 200,000 บาท เพราะตนเห็นว่าการบริจาคเงินประเดิมพรรค จำนวน 500,000 บาทนั้น ดูจะให้ความสำคัญกับนายทุนพรรคการเมืองมากเกินไป และการลดจำนวนเงินขั้นต่ำเหลือ 1,000 บาท ตนเห็นว่า น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า เพราะจะไม่ทำให้ดูเป็นการเห็นแก่เงินมากเกินไป ในการก่อตั้งพรรคการ เมือง ส่วนหลักการอื่นๆ ตนเห็นด้วย

** พท.จวก กม.ลูกไม่สอดคล้องรธน.

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตส.ส.ร. ปี 40 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างรธน. และกฎหมายประกอบรธน. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลักการและสาระสำคัญของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรธน. มาตรา 45 ที่บัญญัติให้การร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นเสรีภาพของประชาชน เพราะแค่ที่บัญญัติให้ต้องมีการขออนุญาตต่อนายทะเบียน คือ เลขาธิการ กกต. เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง ซ้ำยังมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ มากมาย
" ทั้งบทกำหนดโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตนั้น ขัดต่อเจตนารมณ์ของรธน. แล้วยังลดฐานะของสมาชิกพรรคการเมืองลงให้เป็นเสมือนพลเมืองชั้นสองด้วยนั้น เพราะทันทีที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากจะต้องเสียค่าบำรุงพรรคทุกปี และถ้าเป็นผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละ 2,000 - 500,000 บาท แล้วยังเสียสิทธิทางการเมืองหลายอย่างด้วย เช่น จะสมัคร หรือไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกส.ว.ก็ไม่ได้ ยุ่งเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งหนทางการเมือง ก็ไม่ได้ สมัครเป็นองค์กรอิสระ หรือศาลรธน. ก็ไม่ได้ พูดง่ายๆว่า นี่ก็ห้ามนั่นก็ห้าม ไม่ห้ามอยู่อย่างเดียวคือ เลือกตั้ง ส.ส. และสมัครส.ส. มิหนำซ้ำเกิดไปเผลอทำอะไรผิดเข้าหน่อย เจอโทษหนัก จำคุกตั้งแต่หนึ่งปี ถึงยี่สิบปี โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.นี้ เท่ากับเอาขาข้าง หนึ่งไปอยู่ในตะรางเสียแล้วโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว" นายคณิน กล่าว
นอกจากนี้ การบังคับให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบำรุงพรรค และถ้าผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุงพรรคเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ต้องสิ้นสมาชิกภาพ ข้อนี้ถือว่าขัดต่อหลักเสรีภาพของประชาชน และเท่ากับเป็นการกีดกันคนยากคนจน และคนที่มีรายได้น้อย ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สำหรับคนมีฐานะ ถ้าเขารู้ว่าเป็นสมาชิกพรรคแล้วต้องลำบาก และเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางถึงขนาดนี้ คงไม่มีใครอยากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแน่ ตกลง กรธ.คิดจะสร้างพรรคการเมือง หรือทำลายพรรคการเมืองไม่ให้ได้ผุดได้เกิดกันแน่
กรณี บทเฉพาะกาล มาตรา 112(4) บังคับให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว จัดให้สมาชิกที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ต้องชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ป.มีผลใช้บังคับ มิฉะนั้นจะพ้นสภาพสมาชิก และถ้าสมาชิกพรรคมีเหลือไม่ถึง 5,000 คน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพ นี่ก็เท่ากับไล่สมาชิกออกจากพรรค จนเหลือไม่ถึง 5,000 คน พรรคนั้นจะได้ สิ้นสภาพ และหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนั้นการที่ มาตรา 45 ไม่ให้พรรค ผู้ดำรงตำแหน่ง ในพรรค หรือสมาชิกพรรค เรียกรับสินบนจากผู้ใด เพื่อแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะแต่งตั้งให้ผู้นั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมกับกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรง คือจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตนั้น น่าสงสัยเหลือเกินว่า กรธ.เห็นว่าสมาชิกพรรคการเมือง เป็นอาชญากรหรืออย่างไร กรธ.ลืมไปแล้วหรือว่า กรธ.นั่นแหละที่เขียนรธน. ให้มีการเลือกตั้งส.ส. ซ้ำยังบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง แต่ครั้นใครจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง กลับถูกมองว่าเป็นอาชญากร ถ้าอย่างนั้นจะให้มีการเลือกตั้งไปทำไม แต่งตั้งมันทุกตำแหน่งที่มีอยู่ ในประเทศไทย ไม่ดีกว่าหรือ" นายคณิน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น