xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) : เรื่องการปฏิรูปการเมืองไทย (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

ชี้แจงข้อสงสัยของท่านผู้อ่าน ในเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย

มีผู้อ่านหลายท่านเมื่อได้อ่านบทความเรื่องการปฏิรูปการเมืองไทยของผู้เขียนแล้ว ได้เกิดข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งผู้เขียนก็จะขอชี้แจงรายละเอียดในประเด็นหลักๆ ตามที่มีผู้อ่านสอบถามกันมา ดังนี้

1. ทำไมต้องให้รัฐตั้งพรรคการเมืองขึ้นเอง และทำไมต้องห้ามเอกชนหรือกลุ่มบุคคลตั้งพรรคการเมืองขึ้นในประเทศไทย ก่อนที่จะชี้แจงรายละเอียดในข้อสงสัยนี้ ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านได้ดูรูปที่ 4 ซึ่งได้เปรียบเทียบพรรคการเมืองที่เอกชนหรือกลุ่มบุคคลได้ร่วมกันจัดตั้งอย่างเสรี (รูปที่ 4.1 จากพ.ร.บ..ว่าด้วยพรรคการเมือง) กับพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐตามข้อเสนอของผู้เขียน (รูปที่ 4.2)

รูปที่ 4 การเปรียบเทียบระหว่างพรรคการเมืองที่เอกชนจัดตั้งกับพรรคการเมืองที่รัฐจัดตั้ง

ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ไปจะพบว่า ประเทศไทยของเราได้ลอกเลียนรูปแบบ รวมทั้งวิธีการของระบอบประชาธิปไตย ระบบพรรคการเมือง และระบบการเลือกตั้งมาจากประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา โดยนำหลักการต่างๆ ของระบอบประชาธิปไตยจากประเทศที่กล่าวถึงมาใช้ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลารวม 82 ปี แต่ผลปรากฏว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา ได้กลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเองเพราะได้ก่อให้เกิดความล้มเหลวทางจริยธรรม คุณธรรม และยังได้สร้างความเสียหายในด้านต่างๆ อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น การที่เยาวชนไทยบางส่วนยอมรับว่าการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติธรรมดา (จริยธรรมที่ล้มเหลวของไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเกิดคอร์รัปชัน กลายเป็นค่านิยม ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา..จาก ธีรยุทธ บุญมี ไทยรัฐออนไลน์ 29/6/57) หรือการไร้ความสามารถของผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล (ดูกรณีน้ำท่วม และโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนมากกว่าห้าแสนล้านบาท) หรือการมุ่งช่วยเหลือพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด (จากกรณีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อให้ผู้กระทำผิดที่เป็นพวกเดียวกันไม่ต้องรับโทษ) ได้ทำให้คนไทยแบ่งพวกแบ่งฝ่ายจนเกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรง เป็นต้น

ที่สำคัญคือ ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่เพียงถูกใช้เป็นกุญแจที่เปิดประตูให้นักธุรกิจการเมืองและอันธพาลการเมืองได้เข้ามายึดครองและผูกขาดอำนาจในการบริหารประเทศได้เท่านั้น แต่ยังได้กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มธุรกิจการเมืองและกลุ่มอันธพาลการเมืองได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการยึดครองหรือเป็นหุ้นส่วนในอำนาจรัฐอีกด้วย (ดูรูปที่ 4.1) กลุ่มการเมืองเหล่านี้มักอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง จึงมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจรัฐอย่างไรก็ได้ โดยมักจะมุ่งแสวงหาและปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนเป็นสำคัญ ดังเช่นกรณีการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองเพื่อยึดครองอำนาจรัฐหรือจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก จนทำให้พรรคฝ่ายค้านมีเสียงไม่เพียงพอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ จนอาจเรียกได้ว่า เป็นเผด็จการรัฐสภา หรือกรณีการกระจายหุ้นของบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ไปให้กลุ่มที่เป็นพรรคพวกของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ก็ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคพวกหรือกลุ่มของตน หรือในกรณีที่กลุ่มติดอาวุธนอกกฎหมายใช้อาวุธปืนยิงหรือใช้ระเบิดขวางใส่ศาลหรือบ้านของบุคคลฝ่ายตรงข้ามเพื่อข่มขู่ก็อาจเปรียบได้กับการเป็นอันธพาลการเมือง หรือกรณีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มของตนจนเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านในช่วงปี 2556 - 2557 และได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ได้ก่อให้เกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ในที่สุด

นอกจากนี้ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยของไทยส่วนหนึ่งยังมาจากการเปิดเสรีให้เอกชนหรือกลุ่มบุคคลใดๆ สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้เอง (ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550) ซึ่งจะทำให้เอกชนหรือกลุ่มบุคคลผู้ร่วมก่อตั้งพรรคและเป็นผู้บริหารพรรคเกิดความรู้สึกเสมือนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของพรรคการเมืองดังกล่าวซึ่งอาจเปรียบได้กับการเป็นเจ้าของบริษัทเอกชนที่ดำเนินการทางธุรกิจนั่นเอง ตัวอย่างเช่น พรรคชาติไทยพัฒนาจะมีลักษณะเป็นพรรคครอบครัวผสมกับอิทธิพลเฉพาะพื้นที่ พรรคจะอยู่ภายใต้การนำของครอบครัวศิลปอาชาซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี หรือพรรคพลังชลก็เป็นพรรคครอบครัวผสมกับอิทธิพลทางการเมืองในพื้นที่บางแสน และจังหวัดชลบุรี ภายใต้การนำของครอบครัวคุณปลื้ม และพรรคเพื่อไทย ก็เป็นพรรคครอบครัวผสมกับอิทธิพลทางการเงินของบุคคลที่เป็นแกนนำของพรรค ซึ่งจะอยู่ภายใต้การชี้นำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัว เป็นต้น

ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยของเราไม่ได้มีเพียงพรรคการเมืองในรูปแบบพรรคครอบครัวเท่านั้น ยังมีพรรคการเมืองในรูปแบบต่างๆ อีกหลายรูปแบบ บางพรรคถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคสำรองของพรรคแม่หรือพรรคหลัก (ในกรณีถูกยุบพรรค) บางพรรคถูกตั้งขึ้นมาเพื่อยังชีพหรือเพื่อหากินจากเงินสนับสนุนพรรคการเมือง บางพรรคก็ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาตัวหัวหน้าพรรคเท่านั้น มีบางพรรคถูกตั้งขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์กับผู้ที่อยากลงสมัครรับเลือกตั้ง (เรียกร้องเอาเงินจากผู้สมัคร) และอาจมีบางพรรคถูกตั้งขึ้นมาแล้วกลับกลายเป็นช่องทางหรือเป็นนายหน้าให้คนต่างด้าวได้มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศไทยของเราได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นต้น

สรุปแล้วพรรคการเมืองส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้มุ่งที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและปัญหาของประชาชนเป็นหลัก แต่กลับมุ่งที่จะลงเลือกตั้งเพื่อเข้ามายึดครองอำนาจรัฐให้ได้เพียงเพราะต้องการนำอำนาจรัฐไปใช้ในแนวทางที่ตนหรือกลุ่มของตนต้องการเท่านั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เราจึงพบว่า ระบบการเมืองและพรรคการเมืองที่ไทยได้ลอกเลียนแบบและนำมาใช้นานร่วม 82 ปีไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและจารีตประเพณีของคนไทย และยังไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมไทยแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมีส่วนในการสร้างปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า เราคนไทยควรสร้างระบบการเมืองของเราเอง โดยไม่ต้องไปเดินตามก้นอังกฤษและอเมริกาในทุกๆ เรื่อง ที่สำคัญคือ รัฐจะต้องจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเอง และไม่ควรอนุญาตให้เอกชนหรือกลุ่มบุคคลใดๆ จัดตั้งพรรคการเมืองกันอย่างเสรีอีกต่อไป

2. อยากทราบเหตุผลของผู้เขียนว่า ทำไมต้องกำหนดคุณสมบัติของนักการเมืองและบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ละเอียดมากจนเกินไป เนื่องจากได้มีผู้ถามคำถามนี้มาบ่อยครั้ง ซึ่งผู้เขียนก็จะขอชี้แจงท่านผู้อ่านดังนี้ การกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าตำแหน่งใดก็ตาม ก็เพราะมีความประสงค์ที่จะให้คุณสมบัติดังกล่าวเป็นตัวกลั่นกรอง (Filter) ในขั้นต้นคือ ทำหน้าที่ในการคัดกรองสิ่ง (บุคคล) ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่เป็นที่ต้องการให้พ้นไปจากองค์กรหรือสังคมที่เราต้องการเก็บรักษาไว้นั่นเอง ดูรูปที่ 5

รูปที่ 5 ขั้นตอนการกลั่นกรองและตรวจสอบบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จากรูปที่ 5 ผู้เขียนขอเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานทะเบียนนักการเมือง เพื่อให้ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองและป้องกันบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ (เช่น ผู้มีอิทธิพลหรือนักเลงอันธพาลในพื้นที่ เจ้าของบ่อนหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีงามต่างๆ บุคคลที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท-เอกแต่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริงเพราะได้ปริญญามาโดยการคัดลอกหรือจ้างบุคคลอื่นให้จัดทำให้ และรวมทั้งบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวที่มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว เป็นต้น) ที่จะเข้ามาในระบบการเมืองหรือระบบบริหารราชการแผ่นดินของเรา และรวมทั้งป้องกันมิให้บุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการบริหารงานในองค์กรของรัฐในทุกๆ ระดับอีกด้วย

สำหรับการตรวจสอบบุคคลที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ผู้เขียนขอเสนอให้จัดแบ่งกลุ่มตามลำดับความสำคัญเป็น 4 ระยะดังที่แสดงในรูปที่ 5 ซึ่งอาจมีผลทำให้ระบบการกลั่นกรองและตรวจสอบบุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน และผู้เขียนเชื่อว่า ถ้านำระบบการกลั่นกรองและตรวจสอบดังกล่าวมาใช้ เราคนไทยก็คงไม่ได้เห็นการแสดงพฤติกรรมการถอดรองเท้า แล้วเอามาทุบโต๊ะ(ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า พฤติกรรมสุดถ่อย) ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างที่ได้เห็นกันในโทรทัศน์ หรือการดันทุรังเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องให้พ้นจากความผิดในคดีก่อการจลาจล คดีอาชญากรรม และรวมทั้งคดีคอร์รัปชันจนนำไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลและการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ในที่สุด

บทสรุป

ด้วยอายุที่ยาวนานร่วม 82 ปีของระบอบประชาธิปไตยไทย ได้ชี้ให้เห็นว่า การนำแนวความคิดหรือหลักการต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศอื่นมาใช้กับประเทศไทย ควรได้รับการพิจารณาและกลั่นกรองอย่างรอบคอบเพราะหลักการบางอย่างอาจใช้ได้ในประเทศของเขา แต่อาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยของเรา เช่น รูปแบบสมาชิกสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมีสถานะเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ และนอกจากนี้พรรคการเมืองของประเทศไทยส่วนใหญ่ยังมีลักษณะและรูปแบบเป็นพรรคส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือของกลุ่มคนไม่กี่คน หรือเป็นพรรคของครอบครัวมากกว่าที่จะมีลักษณะเป็นพรรคของมหาชน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวทางในการปฏิรูปการเมืองของไทยโดยสังเขป ดังรายละเอียดในบทความเรื่องแผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) : การปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปการเมือง (ต่อ) เพื่อให้ คสช. สภาปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สถาบันการศึกษา รวมทั้งประชาชนผู้สนใจได้นำไปศึกษาค้นคว้าและพิจารณาหาแนวทางการปฏิรูประบบการเมืองของไทยให้สามารถนำไปใช้ได้จริง และมีความเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

หมายเหตุ :* ขอขอบคุณทุกท่านที่สนใจและมีคำถาม ถ้าท่านต้องการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น กรุณาส่ง E-mail มาที่ udomdee@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น