xs
xsm
sm
md
lg

พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (4)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ทุนอิทธิพลท้องถิ่นที่เคยมีอำนาจนำในการเมืองไทยในช่วง 2531-2540 สูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมการที่เข้าสู่อำนาจโดยการซื้อขายเสียง และการบริหารประเทศด้วยการทุจริตคอรัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่ทุนกลุ่มใหม่ซึ่งประกอบด้วยทุนต่างชาติและทุนชาติด้านการสื่อสารและพลังงานได้ขยายอำนาจการครอบงำการเมืองไทยแทน

กลุ่มทุนใหม่นี้ย่างเท้าเข้าสู่วงการการเมืองโดยใช้การสร้างภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น ภาพของ “การรวยแล้วไม่โกง” และ “การมีประสิทธิภาพในการบริหาร” จึงได้รับการผลิตและผลิตซ้ำ โฆษณาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้คนไทยเชื่อว่ากลุ่มทุนใหม่เป็นเช่นนั้นจริงๆ

การวางรากฐานในการสร้างภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์ของกลุ่มทุนใหม่เริ่มจาการนำตนเองเข้าไปผูกพันกับพรรคพลังธรรม อันเป็นพรรคการเมืองทางเลือกที่ผุดขึ้นมาในช่วงทศวรรษก่อน พรรคพลังธรรมเป็นเสมือนปฏิกิริยาของสังคมในการตอบโต้กับสภาพความเสื่อมทรามของจริยธรรมทางการเมืองของบรรดากลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น และความไร้ประสิทธิภาพของกลุ่มที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง

แต่ทว่าวิถีคิดและการปฏิบัติทางการเมืองของพรรคพลังธรรมที่เน้นความซื่อสัตย์ สมถะ และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงไม่อาจตอบสนองเป้าหมายในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนใหม่ได้ ในที่สุดเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กลุ่มทุนใหม่จึงจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมาและใช้ชื่อว่าพรรคไทยรักไทย

แต่ก่อนที่จะสาธยายบทบาททางการเมืองของกลุ่มทุนใหม่ ขอย้อนกลับไปพิจารณาบทบาทขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองของภาคประชาชนซึ่งมีกลุ่มนำทางความคิดคือนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และนักธุรกิจระดับกลาง และชนชั้นกลางอื่นๆเป็นพันธมิตรร่วมขบวนการก่อน

ความคิดทางการเมืองของภาคประชาชนในช่วงนั้นคือการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมคู่ขนานกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเป็นการขยายสิทธิและช่องทางการใช้อำนาจของประชาชน เช่น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตนเอง การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และถอดถอนนักการเมือง เป็นต้น

ความคิดเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ได้รับการขับเคลื่อนให้เป็นความคิดนำของการปฏิรูปการเมือง โดยมีหลักการสำคัญคือ การรับผิดชอบต่อสาธารณะ ความโปร่งใส การมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมในการบริหาร ซึ่งหลักการนี้ทำให้หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการทำงานผิดพลาดและมีผลกระทบต่อชีวิต สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน

และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการควบคุมการปฏิบัติงานของฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ โดยเฉพาะในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น มีการออกกฎหมายและจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองและข้าราชการประจำจำนวนมาก เช่น คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ศาลปกครอง เป็นต้น

ในส่วนของการเข้าสู่อำนาจหรือระบบการเลือกตั้งก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งหวังในการขจัดการทุจริตเลือกตั้งและการขยายโอกาสของกลุ่มต่างๆในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองให้มากขึ้น เช่น การเพิ่มระบบการเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เข้ามาเสริมระบบการเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่ และในระบบการเลือกแบบเขตพื้นที่เอง ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก เขตเลือกตั้งเดียวเลือก ส.ส.ได้หลายคน เป็นเขตเลือกตั้งเดียวเลือก ส.ส.ได้คนเดียว รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงที่นับคะแนน จากเดิมที่นับในหน่วยเลือกตั้งพร้อมกันทั้งเขต เป็นนับคะแนนรวมในที่เดียวกัน

พร้อมกันนั้นก็มีความคิดที่ต้องการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย เพราะเชื่อกันว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ จึงมีการกำหนดให้พรรคการเมืองมีอำนาจในการควบคุมสมาชิกมากขึ้น และฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบรัฐบาลได้ยากขึ้น

แต่ทว่าความคิด ระบบ และกฎหมายต่างๆที่ภาคประชาชนได้ผลักดันเพื่อหวังให้เกิดการเมืองที่ดี กลับมิได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง สิ่งที่ปรากฏเชิงประจักษ์เมื่อกาลเวลาผ่านไปคือ การเมืองไทยในระบอบรัฐสภาและการบริหาราชการแผ่นดินกลับตกอยู่ในสภาพเลวร้ายยิ่งขึ้น และสังคมก็เกิดความแตกแยกเป็นกลุ่มขั้วอย่างรุนแรง

ความสิ้นหวังต่อนักการเมืองและระบอบการเมืองเดิม ได้สร้างทางเลือกที่จำกัดแก่ประชาชนขึ้นมา อะไรที่ดูเหมือนจะดีกว่าเดิมก็คว้าเอาไว้ก่อน โดยไม่ได้ไตร่ตรองและประเมินการตัดสินอย่างรอบคอบ สิ่งนี้นับว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมืองอย่างที่เกิดขึ้นในระยะนั้น

ในช่วงสี่ปีแรกหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากกระแสความโลภอยากรวยที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลชาติชายช่วง 2531 เป็นต้นมา อันนำไปสู่การเก็งกำไรและเกิดเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ขึ้นอย่างกว้างขวาง และไม่มีรัฐบาลใดในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสามารถในการแก้ปัญหาเหล่าได้ อันที่จริงรัฐบาลกลายเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น

เมื่อรัฐบาลชวนเข้ามาบริหารประเทศ ช่วง พ.ย.2540 - ก.พ.2544 ก็ไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น มิหนำซ้ำกลับทำให้เกิดความล่มสลายของกลุ่มทุนขนาดเล็กและกลางจำนวนมาก ในทางกลับกันก็เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากวิกฤติเศรษฐกิจของไทยได้อย่างเสรี

ความล้มเหลวของรัฐบาลชวนในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ชนชั้นกลางจำนวนมากสิ้นหวังต่อกลุ่มคนที่มีอาชีพเป็นนักการเมืองซึ่งมีภาพลักษณ์ดูเหมือนซื่อสัตย์สุจริต แต่ความสามารถในการบริหารสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศมีจำกัด อีกทั้งความสามารถแก้ปัญหาความยากจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมก็ไม่ปรากฏให้เห็น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนั้นจึงถูกมองว่าไม่เป็นมิตรและไม่ช่วยเหลือคนจน

จึงกล่าวได้ว่า กลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นเป็นตัวแทนของความฉ้อฉลทางการเมือง ส่วนกลุ่มอาชีพนักการเมืองก็เป็นตัวแทนของความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารประเทศ และไม่เป็นมิตรกับคนจน

เมื่อเป็นเช่นนั้นกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมากและคนจนจึงแสวงหาทางเลือกใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกที่พวกเขาคาดว่าจะมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อการเลือกตั้ง 2544 เกิดขึ้น พรรคไทยรักไทย ได้เสนอภาพลักษณ์ผู้บริหารพรรคที่ดูเหมือนมีความซื่อสัตย์และเปี่ยมไปด้วยความสามารถในการบริหารออกสู่สังคม จึงทำให้เกิดภาวการณ์สะกดจิตหมู่แก่คนค่อนประเทศ โดยหลงเชื่อไปกับภาพลักษณ์เหล่านั้น

อีกทั้งยังได้นำนวัตกรรมทางนโยบาย คือการนำนโยบายประชานิยมเข้ามาในการหาเสียงเลือกตั้ง นโยบายประชานิยมเป็นการเสนอการแลกเปลี่ยนระหว่างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม สามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น ในช่วงนี้นักวิชาการบางคนได้ส่งเสียงสรรเสริญนโยบายประเภทนี้กันยกใหญ่ โดยสร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยกินได้” ขึ้นมา

ปรากฏการณ์ในช่วงการเลือกตั้งตั้ง 2544 เป็นปรากฏการณ์ชาวบ้านทั่วไปละทิ้งทั้งกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นที่เคยมีสายสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ดั้งเดิมกับพวกเขา และหันไปเลือกพรรคของกลุ่มทุนใหม่ด้วยแรงจูงใจจากนโนยายประชานิยมผสานกับเงินที่กลุ่มนี้ใช้ในการซื้อเสียง เรียกว่าชาวบ้านได้ทั้งเงินในช่วงซื้อเสียงและยังมีโอกาสได้ประโยชน์หลังการเลือกตั้งต่อเนื่องอีกด้วย ผลประโยชน์สองชั้นเช่นนี้ย่อมมากกว่าผลประโยชน์ชั้นเดียวที่พวกเขาได้รับจากกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นแบบเดิม

สำหรับชนชั้นกลางจำนวนมากก็ได้ทอดทิ้งกลุ่มอาชีพนักการเมือง หันไปเลือกกลุ่มทุนชาติเพราะพวกเขาหลงเชื่อในภาพลักษณ์ของความเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์รวมอยู่กันอยู่ อันเป็นคุณสมบัติที่ชนชั้นกลางคาดหวังจะให้นักการเมืองเป็น

ทางเลือกที่จำกัดจึงทำให้ทั้งชาวบ้านและชนชั้นกลางจึงเลือกกลุ่มทุนชาติซึ่งนักฉวยโอกาสทางการเมือง และต่อมากลายสภาพเป็นกลุ่มทุนสามานย์ แทนกลุ่มนักการเมืองอาชีพที่พวกเขาเคยเลือก โดยขณะนั้นพวกเขายังไม่ทราบว่าอนาคตข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นคืออะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น