xs
xsm
sm
md
lg

พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่างทหาร นายทุน และประชาชนมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การจับขั้วเป็นพันธมิตรมีลักษณะเชิงซ้อนโยงใยกันหลากหลายมิติ สมการของอำนาจ ทั้งการได้มาการใช้ และการสิ้นสุดลงของอำนาจมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวพันปะปนหลายชั้น

ทันทีที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์วางมือจากการเมือง กลุ่มทุนอิทธิพลทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นก็กลายมาเป็นกลุ่มที่มีอำนาจนำในสังคมไทย พวกเขารวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี

ด้านหนึ่งรัฐบาลชาติชายพยายามแสดงความก้าวหน้าทางนโยบายและบริหาร โดยนำนักวิชาการภายใต้การประสานของนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณมาเป็นที่ปรึกษานโยบาย รู้จักกันในนาม ทีมงานบ้านพิษณุโลก ทีมงานที่ปรึกษาชุดนี้มีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลชาติชายหลายนโยบาย ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า จากเดิมที่ไทยเคยมีท่าทีเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลประเทศกัมพูชา ก็หันไปผูกมิตรสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าขึ้นมาแทน

แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลชาติชาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ มีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบและดำเนินการทุจริตกันอย่างขนานใหญ่ นักการเมืองหลายคนเริ่มคิดและทำโครงการขนาดใหญ่ซึ่งทำให้ได้รับค่าหัวคิวจากโครงการเป็นจำนวนมหาศาล การทุจริตของนักการเมืองในยุคนี้กระทำกันอย่างเสรีโดยปราศจากการควบคุมจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งแตกต่างจากยุครัฐบาลพลเอกเปรม ที่มีการควบคุมการทุจริตของบรรดารัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด

การบริหารประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างแพร่หลายได้กัดกร่อนความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลชาติชายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีรัฐมนตรีบางคนที่มีอุปนิสัยส่วนตัวก้าวร้าวและชอบระรานผู้อื่น จึงทำให้รัฐบาลชาติชายกลายเป็นปรปักษ์กับทั้งฝ่ายประชาชนและทหาร ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับทหารที่ จปร. พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นแกนนำ มีระดับความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พยายามจะแต่งตั้ง พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. เป็นรัฐมนตรีกลาโหม เพื่อเข้าไปดำเนินการโยกย้ายและจัดระเบียบทหาร แต่การทำเช่นนั้นของพลเอกชาติชาย นำไปสู่จุดจบของรัฐบาลในที่สุด

ประเด็นที่รัฐบาลชาติชายถูกกระหน่ำมีสองด้านหลัก คือ ถูกประชาชนวิพากษ์และโจมตีในเรื่อง การ ทุจริตคอรัปชั่น และ ถูกทหารกระด้างกระเดื่องต่อการพยายามเข้าไปแทรกแซงและจัดระเบียบในกองทัพ

ในช่วงสองปีเศษที่ครองอำนาจ รัฐบาลชาติชาย ได้เริ่มสร้างแบบแผนการบริหารที่เป็นการหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ของความแตกแยกทางสังคมและความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญและมีผลสืบเนื่องต่อสังคมไทยในทศวรรษต่อมาสามประการคือ

1) การกำหนดนโยบายบางอย่าง โดยมีทิศทางและเข็มมุ่งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ชัดเจน และมีการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่อถึงข้อดีของนโยบายเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ เน้นการสร้างภาพลักษณ์จนเกินจริง และละเลยไม่ใส่ใจกับผลกระทบเชิงลบของนโยบายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและประชาชน ต่อมานโยบายในลักษณะนี้ได้รับการต่อยอดจากนักการเมืองรุ่นหลัง โดยแตกลูกหลานออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก กลายเป็นนโยบายก่อสร้างหรือลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ส่วนประเภทที่สองกลายเป็นนโยบายประชานิยม

2) การใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งเพื่อทุจริตคอรัปชั่นแพร่หลายขยายออกไปอย่างกว้างขวาง กล่าวในเชิงเศรษฐกิจ นักการเมืองกลายเป็นอาชีพที่ลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เพราะเป็นการลงทุนเรื่องการได้มาของอำนาจ และเมื่อได้แล้วก็สามารถใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

3) การแทรกแซงระบบราชการ การควบคุมและทำให้ข้าราชการบางส่วนยอมจำนนต่ออำนาจและรับใช้นักการเมือง การจำนนและยอมรับใช้นักการเมืองอย่างไร้สำนึกผิดชอบของข้าราชการบางคนเหตุผลหลักเกิดจากความคาดหวังที่จะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง แต่สิ่งที่ตามคือการทำให้จริยธรรมของข้าราชการถูกบั่นทอน และเสื่อมสลายอย่างต่อเนื่อง ความเป็นวิชาชีพและการทำเพื่อประชาชน เริ่มกลายเป็นความลื่นไหลเพื่อความก้าวหน้าของตนเองแทน

แนวทางการบริหารการเมืองที่รัฐบาลชาติชายได้วางเอาไว้ได้ถูกนักการเมืองในยุคหลังพัฒนาจนมีความซับซ้อน อันนำไปสู่การสร้างความเสียหายต่อสังคมไทยอย่างเหลือคณานับ

นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งได้ออกมาเปิดโปงและรณรงค์ต่อการทุจริตของรัฐบาลชาติชายอย่างต่อเนื่อง ชนชั้นกลางก็เกิดความเบื่อหน่ายและรังเกียจต่อพฤติกรรมการทุจริตของคณะรัฐมนตรี และทหารก็เริ่มเห็นว่ารัฐบาลชาติชายเข้าไปแทรกแซงมากเกินไป โดยพยายามจะปลดนายพลบางคนออกจากตำแหน่งคุมกำลัง

ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ความขัดแย้งหลักที่นำไปสู่การรัฐประหารในครั้งนั้นคือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นที่ยึดกุมอำนาจบริหารประเทศ กับ กลุ่มทหารที่คุมอำนาจการใช้อาวุธและความรุนแรง เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของคณะบุคคลมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะว่าภายหลังคณะรัฐประหารชุดนี้ได้อาศัยกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นที่ตนเองโค่นล้มนั่นแหละเป็นฐานในการสืบทอดอำนาจให้ตนเอง จนทำให้ประชาชนออกมาต่อต้านและนำไปสู่การปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างประชาชนกับทหารในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535

การที่ประชาชนมีปฏิกิริยาทางลบต่อการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 มากกว่าทางบวกมีเหตุผลที่สำคัญสามประการคือ ประการแรก ในเวลานั้น แม้ว่าประชาชนจะรังเกียจพฤติกรรมของนักการเมืองกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น แต่ประชาชนก็ยังมีความหวังอยู่ว่าจะสามารถจัดการกับนักการเมืองเหล่านั้นได้ผ่านกลไกการเลือกตั้งและการใช้กลยุทธทางการเมืองอื่นๆ

ประการที่สอง ประชาชนเพิ่งจะลิ้มรสต่อสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะก่อนหน้านั้นในยุครัฐบาลพลเอกเปรม เป็นยุคที่ได้รับการเรียกขานว่า เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เมื่อประชาธิปไตยที่ดูเสมือนเต็มใบถูกทำลายลงไป ประชาชนจำนวนมากก็รู้สึกคับข้องใจขึ้นมาทันที และนั่นเป็นความรู้สึกที่เป็นปรปักษ์ต่อ รสช.

ประการที่สาม เพียงหนึ่งปีให้หลังของการรัฐประหาร ประชาชนประจักษ์ต่อตนเองเองว่า รสช. ดำเนินการสร้างกลไกในการสืบทอดอำนาจต่อไป โดยอาศัยนักการเมืองทุนอิทธิพลท้องถิ่นเป็นฐาน เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ประชาชนจึงเกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกลวง เพราะในการโค่นล้มรัฐบาลชาติชาย กลุ่มทหาร ในนาม รสช. อ้างว่านักการเมืองทุนอิทธิพลท้องถิ่นเหล่านั้นมีการทุจริตประพฤติมิชอบ จึงต้องทำการรัฐประหาร แต่ในที่สุดกลายเป็นว่า รสช.กลับถ่มน้ำลายรดฟ้า เอาคนที่ตนเองโค่นล้มมาเป็นบันไดเพื่อไต่สู่อำนาจ ตกลงการอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติจึงกกลายเป็นเรื่องโกหกครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ร่มสมัยของสังคมไทย

ประชาชนจึงลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลสุจินดา อันเป็นรัฐบาลของกลุ่ม รสช. ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น สมุนของ รสช. ได้ทำการปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชนจำนวนมาก จนในที่สุดความขัดแย้งก็ยุติลง ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งไป

บทเรียนที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลชาติชาย และคณะรัฐประหาร เมื่อ พ.ศ. 2534 `ก็คือ เมื่อไรก็ตามที่ผู้ปกครองไม่รักษาสัญญา แต่กลับหลอกลวงประชาชน เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนเห็นและสัมผัสได้ว่าผู้ปกครองมิได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่กลับทุจริตฉ้อฉลเพื่อตนเองและพวกพ้อง เมื่อนั้นประชาชนก็จะลุกขึ้นต่อสู้และความขัดแย้งรุนแรงก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยังมีต่อ)


กำลังโหลดความคิดเห็น