xs
xsm
sm
md
lg

ยี่สิบสองปีพฤษภาทมิฬ ฤาประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า พฤษภาทมิฬ 2535 มีจุดเริ่มต้นมาจากการรัฐประหารวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 โดยกองทัพในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ซึ่งมีพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกในคณะนั้น เป็นผู้นำ ร่วมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ แลนายทหารระดับสองของสามเหล่าทัพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 5 ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยให้เหตุผลหลักว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล และรัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร โดยหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช.ได้เลือกนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 โดยพรรคที่ได้ผู้แทนมากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม จำนวน 79 คน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีการรวมตัวกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ คือ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร และเตรียมเสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์นั้นเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ทำให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในระหว่างที่มีการทักท้วงโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง จนพลเอกสุจินดาต้องประกาศว่า ตนและคณะ รสช. จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อกลับคำพูด จึงเกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวาง

พรรคการเมืองในขณะนั้น แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง สื่อมวลชนขนานนามว่าพรรคเทพ คือพรรคที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ส่วนพรรคมาร คือพรรคที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา ประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และทั้ง 5 พรรคนี้ต่างเคยตอบรับมาก่อน แต่ในที่สุดกลับหันมาสนับสนุนพลเอกสุจินดา ซึ่งฝ่ายผู้ต่อต้านเห็นว่าเป็นการพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช.

การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านของประชาชนและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย รวมถึงการอดอาหารของร้อยตรีฉลาด วรฉัตร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

การชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อเข้าเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร และเริ่มมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

คืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนประชาชนจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจและทหารได้สกัดการเคลื่อนขบวนของประชาชน จนเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุด และมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จากนั้นเมื่อเข้าสู่วันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ แต่ได้นำไปสู่การปะทะกันกับประชาชน มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมในบริเวณถนนราชดำเนินจากนั้นจึงเข้าสลายการชุมนุมในเข้ามืดวันเดียวกันนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน

เวลา 15.30 นาฬิกา ของวันที่ 18 พฤษภาคม ทหารได้ควบคุมตัวพลตรีจำลอง ศรีเมือง จากบริเวณที่ชุมนุมกลางถนนราชดำเนินกลาง และรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับ และรายงานข่าวทางโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกช่องยืนยันว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด เริ่มมีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีการตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนนสายต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลได้ออกประกาศจับแกนนำเพิ่มอีกหลายคน

วันที่ 19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางได้ และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกทหารไปควบคุมไว้ พลเอกสุจินดาแถลงการณ์ย้ำว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบและไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอีก แต่ยังปรากฏการรวมตัวของประชาชนใหม่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนวันเดียวกัน และมีการเริ่มก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มจักรยานยนต์หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เช่นการทุบทำลายป้อมจราจรและสัญญาณไฟจราจร

การชุมนุมในครั้งนี้ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ในอดีต ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในครั้งนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อนึงว่า "ม็อบมือถือ"

เวลาประมาณ 21:30 นาฬิกา ของวันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสให้ทั้งสองคนหันหน้าเข้าหากัน หารือถึงการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียมากไปกว่านี้ ซึ่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยนำเทปบันทึกภาพการเข้าเฝ้าและกระแสพระราชดำรัส ออกอากาศทั่วประเทศ เมื่อเวลา 24:00 นาฬิกาของคืนเดียวกัน หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ พลเอกสุจินดาจึงกราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนเป็นการชั่วคราว

วันที่ 10 มิถุนายน นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการโปรดเกล้าฯ ในคืนวันเดียวกันนั้นเอง นายอานันท์ ได้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ และได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกมากที่สุด และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรค เป็นนากรัฐมนตรี




กำลังโหลดความคิดเห็น